เปิดโลกกว้าง-การศึกษาคุณภาพต่ำ เรื่องชอกช้ำนักศึกษาแดนเขมร

เปิดโลกกว้าง-การศึกษาคุณภาพต่ำ เรื่องชอกช้ำนักศึกษาแดนเขมร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
การศึกษาคุณภาพต่ำ เรื่องชอกช้ำนักศึกษาแดนเขมร อีกกว่า 2 ปี กว่าที่ ชุม สาวอน จะจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย แต่ตอนนี้เธอเริ่มรู้สึกถึงความหวาดกลัวในอนาคตของชีวิตแล้ว

// //

นักศึกษาวัย 21 ปีที่เลือกเรียนสาขาการเงินด้วยความหวังว่าจะนำความสามารถนี้มาช่วยพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของโลก กลับเริ่มมีความคิดตาลปัตร เธอคิดว่าการศึกษาของเธอแทบจะไม่มีค่าอะไรเลย ห้องเรียนที่เต็มไปด้วยความไม่แยแส มีทั้งนักศึกษาที่โกงข้อสอบ และศาสตราจารย์ที่ไร้คุณสมบัติ

การศึกษาคุณภาพต่ำของฉันหมายถึงการที่ฉันไม่สามารถช่วยประเทศได้ และฉันอาจจะต้องลำบากในการหางานทำเพื่อหาเงินมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องครอบครัว ชุมกล่าวด้วยความกลุ้มใจ

จำนวนคนหนุ่มสาวชาวเขมรที่เริ่มพบว่าตัวเองตกเป็นเหยื่อของระบบการศึกษาระดับสูงของประเทศเริ่มมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยคนเหล่านี้ต้องทนทุกข์กับการจัดการ และการสอนอันไร้ประสิทธิภาพของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่พุ่งเป้าไปยังกำไรมากกว่าการสอน

และด้วยความไร้ประสิทธิภาพนี้แห่งที่ทำให้ 1 ใน 10 ของผู้สำเร็จการศึกษา ยังคงเตะฝุ่นหางานทำ และได้แต่กังวลว่าจะทำอย่างไรกับชีวิตในประเทศที่เพิ่งฟื้นฟูตัวเองจากสงครามกลางเมืองเมื่อไม่กี่สิบปีก่อน

ในช่วงที่เขมรแดงเรืองอำนาจยุคทศวรรษที่ 2513 รัฐบาลโหดเหี้ยมนี้เป็นผู้ทำลายสถานศึกษาของกัมพูชาจำนวนมาก และสังหารผู้คนไปมากกว่า 2 ล้านคน ในจำนวนนี้รวมถึงผู้คนชั้นหัวกะทิส่วนใหญ่ของประเทศ อันเป็นความพยายามกวาดล้างแผ่นดินเพื่อเตรียมพร้อมไปสู่สังคมอุดมการณ์คอมมิวนิสต์

แต่หลังจากที่เขมรแดงล่มสลาย กัมพูชาก็เริ่มฟื้นฟูตัวเองขึ้นมาพร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศเต็มไปด้วยสถาบันการศึกษาที่เร่เสนอการศึกษาคุณภาพต่ำให้แก่อนาคตของชาติ

ในปี 2543 มีสถาบันการศึกษาระดับปริญญาตรีในกัมพูชาเพียง 10 แห่ง แต่ทุกวันนี้มีมหาวิทยาลัยเอกชนมากถึง 70 แห่ง แต่เมื่อมองเข้าไปในหลักสูตรการสอนส่วนใหญ่แล้ว ดูจะน่าสิ้นหวัง

เราไม่พอใจกับคุณภาพการศึกษาของเราในทุกวันนี้เลย ผมคิดว่า การมีสถาบันการศึกษาระดับสูงเพิ่มขึ้นเป็นเรื่องที่ดี แต่เรากำลังมีภารกิจหนักที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้นด้วย มาก งอย รองผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาระดับสูง กระทรวงศึกษาธิการ เยาวชน และกีฬาของกัมพูชา กล่าวยอมรับ

ขณะที่บรรดาศาสตราจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายต่างร้องเรียนเป็นเสียงเดียวกันว่ามีนักศึกษาหลายคนไม่ยอมทำการบ้าน และการโกงข้อสอบก็แพร่ระบาดอย่างรุนแรง

ลาภ ชีพ อาบ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรอยัลในกรุงพนมเปญ สถาบันอุดมศึกษาเก่าแก่และใหญ่ที่สุดของรัฐกล่าวว่า มีนักศึกษาจำนวนมากที่พอใจจะจ่ายเงินเพื่อซื้อปริญญา และไม่เคยตระหนักถึงประโยชน์ของการศึกษา

นักศึกษาบางคนกลัวที่จะเรียนหนัก และคิดว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการก็คือปริญญาอะไรก็ได้ ไม่ใช่คุณภาพ และผลสุดท้ายพวกเขาก็จะไม่มีงานทำ ลาภชี้ให้เห็นถึงปัญหา

มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ในกัมพูชาเป็นสถาบันขนาดเล็ก และมักจะกระจุกตัวอยู่ในเมืองหลวง มีอาคารเรียนขนาดเล็ก และระเบียบข้อบังคับเพียงเล็กน้อย โดยที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้สั่งปิดสถาบัน 4 แห่งที่เรียกตัวเองว่า มหาวิทยาลัย แต่กลับให้ความรู้เท่าหางอึ่งแก่นักศึกษา

เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เคยมีความพยายามที่จะปรับปรุงสถาบันการศึกษาระดับสูงของกัมพูชา โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการมหาวิทยาลัยแห่งชาติขึ้น ซึ่งคณะกรรมการได้ตั้งข้อบังคับให้สถาบันต่างๆ ทำตามข้อกำหนดทางการศึกษาอย่างเคร่งครัด แต่สุดท้ายธนาคารโลกกลับยกเลิกการให้เงินทุนสนับสนุน เพียงเพราะคณะกรรมการชุดนี้ไม่ได้เป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐบาล และด้วยการควบคุมดูแลที่หละหลวมของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ยิ่งทำให้คุณภาพของมหาวิทยาลัยต่างๆ ยิ่งตกต่ำเลวร้ายลงไปอีกในช่วงที่นับวันมีแต่ผู้ต้องการการศึกษาระดับสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ถึงแม้วันนี้จะมีหนุ่มสาวชาวกัมพูชากว่า 1.35 แสนคนที่กำลังศึกษาระดับอุดมศึกษา มากกว่าจำนวน 2.5 หมื่นคนเมื่อ 8 ปีที่แล้วหลายเท่าตัว แต่สถาบันเศรษฐศาสตร์แห่งกัมพูชาเผยว่า มีผู้จบการศึกษาเพียง 1 ใน 10 คนเท่านั้นที่หางานทำได้ในช่วงที่ประเทศยังคงติดหล่มความยากจน ทั้งๆ ที่ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจพุ่งเกิน 10 มาตลอด

มา โสภาพ เจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) กล่าวว่า กัมพูชาจะมีปัญหาในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ หากไม่เร่งผลิตนักศึกษาคุณภาพกว่านี้

หากยังมีการศึกษาคุณภาพต่ำต่อไป ก็จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาแน่นอน และไม่มีทางที่จะลดภาวะความยากจนไปได้เลย มา โสภาพกล่าวทิ้งท้าย

ที่มา เอเอฟพี

เรียบเรียง มลฤดี จันทร์สุทธิพันธุ์

เสียงเล็กๆ นวันเด็กขอนายกฯช่วยคนไทยรักกัน

วันเด็กแห่งชาติปีนี้...ผู้ปกครองต่างพาบุตรหลานไปเที่ยวชมตามสถานที่ต่างๆ ที่เปิดเป็นพื้นที่ต้อนรับเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะ ทำเนียบรัฐบาล ที่เคยโอ่อ่ากว้างใหญ่ กลับแคบลงไปถนัดตา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook