10 เหตุการณ์เด่น 2551

10 เหตุการณ์เด่น 2551

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
1. เลือกตั้งสหรัฐ 2008

พลาดไม่ได้สำหรับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของชาวอเมริกัน ตลอดจนชาวโลกที่ร่วมเป็นทั้งสักขีพยาน และผู้ช่วยลุ้นให้ บารัก โอบามา สุภาพบุรุษผิวดำลูกครึ่งอเมริกัน-เคนยา ก้าวขึ้นครองตำแหน่งผู้นำสหรัฐ กลายเป็นผู้นำแอฟริกัน-อเมริกันคนแรกของประเทศที่ปัญหาเหยียดสีผิวหยั่งรากลึกมานาน การต่อสู้กันอย่างดุเดือดตั้งแต่การแข่งขันกันอย่างสูสีกับ ฮิลลารี คลินตัน ในการเลือกตัวแทนพรรคเดโมแครตไปจนถึงการเลือกตั้งสนามใหญ่กับ จอห์น แมคเคน ฮีโร่สงครามเวียดนามเหมือนภาพยนตร์มหากาพย์เรื่องยาวข้ามปีที่จบลงอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง เมื่อโอบามาเอาชนะอุปสรรคทั้งมวล คว้าทำเนียบขาวมากอดได้เป็นผลสำเร็จ

// //

2. เศรษฐกิจโลกดำดิ่ง - วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์

ออกอาการเป๋ ฟองสบู่ใกล้แตกมาตั้งแต่ปีที่แล้ว สำหรับพญาอินทรี เจ้าของเศรษฐกิจทุนนิยมยักษ์ใหญ่ที่สุดในโลกที่เจอวิกฤติซัพไพรม์ ตลาดสินเชื่อบ้านตึงตัว บริษัทวาณิชธนกิจหลายแห่งล้มละลาย กลายเป็นวิกฤติ แฮมเบอร์เกอร์ ดีซีส ข้ามฝั่งแอตแลนติกมาติดยุโรป สร้างความปั่นป่วนในตลาดหุ้นทั่วโลก จนรัฐบาลสหรัฐต้องเร่งเข็นแผนฉุกเฉินกู้เศรษฐกิจมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 24 ล้านล้านบาท) ออกมาเพื่อพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ล้มครืน

กระนั้น ใช่ว่าออกอนุมัติไปแล้วจะทำให้นักลงทุนทั่วโลกหายประหวั่นพรั่นพรึง เพราะต่างฝ่ายต่างรู้ดีว่า วิกฤติครั้งนี้เลวร้ายกว่า วิกฤติต้มยำกุ้ง หลายเท่า

ได้แต่หวังเพียงว่า ผู้นำสหรัฐคนใหม่กับสโลแกน ถึงเวลาเปลี่ยน จะคลี่คลายวิกฤตินี้ให้ผ่านไปได้

3. นมเปื้อนพิษ - วางยาสินค้าส่งออกจีน

กลายเป็นฝันร้ายที่ลุกลามไปทั่วโลกเมื่อมีการเปิดโปงว่านมผงที่ผลิตจากจีนปนเปื้อนสารเมลามีน สารอุตสาหกรรมอันตรายที่หากเด็กบริโภคเข้าไปอาจไปตกตะกอนเป็นนิ่วในไต และทำให้เสียชีวิต ซึ่งหลังจากที่เขย่าขวัญสั่นประสาทพ่อแม่ในจีนที่มีเด็กล้มป่วยกว่า 6 หมื่นคน เสียชีวิตอีกอย่างน้อย 6 คน ทั่วโลกก็ต้องตื่นตระหนกอีกระลอก เมื่อทราบว่านมมรณะนี้ถูกส่งออกขายไปทั่วทุกมุมโลก มีตั้งแต่ผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มไปจนถึงอาหารแปรรูปชนิดต่างๆ โดยเฉพาะขนม และช็อกโกแลตชนิดต่างๆ อันเป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ

เมื่อวิกฤติขยายวงกว้าง บรรดาบริษัทห้างร้าน ตลอดจนรัฐบาลในหลายประเทศต่างเร่งตรวจสอบสินค้าภายในประเทศตัวเองว่ามีการปนเปื้อนหรือนำเข้าสินค้าปนเปื้อนมาหรือไม่ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยที่มีการตรวจสอบและพบสารเมลามีนในสินค้าบางชนิด

ที่น่าเศร้าใจกว่านั้นคือ บริษัท ซานลู่ ซึ่งเป็นต้นตอของวิกฤตินมปนเปื้อนครั้งนี้ทราบมานานแล้วว่ามีการปนเปื้อน แต่เพิกเฉยปล่อยให้เหตุการณ์ผ่านไปจนส่งผลกระทบในวงกว้าง

4. ปิดเมืองถล่มมุมไบ

ค่ำคืนวันที่ 26 พฤศจิกายน ชาวเมืองมุมไบ ประเทศอินเดียต้องตกอยู่ภายใต้ฝันร้าย เมื่อกลุ่มก่อการร้ายซึ่งประกอบด้วยชายหนุ่มเพียง 10 คน พร้อมอาวุธหนักครบมือก่อเหตุโจมตีพร้อมกัน 10 แห่ง ยึดเมืองมุมไบเป็นตัวประกัน กราดยิงผู้คนในสถานีรถไฟหนาแน่นที่สุดของเมือง ผู้คนล้มตายดุจใบไม้ร่วม และยึดโรงแรมหรู 2 แห่งได้แก่ โอเบรอย ไทรเดนท์ และ ทัชมาฮาล ซึ่งเป็นโรงแรมที่ชาวต่างชาติมักมาใช้บริการ ทั้งยังโจมตี ลีโอโพลด์ คาเฟ่ ภัตตาคารชื่อดังของเมือง และโบสถ์ยิว สังหารผู้คนในศูนย์ตายทั้งหมด

เหตุการณ์ยืดเยื้อรุนแรงจนทางการต้องใช้เวลาอีกเกือบ 3 วันกว่าจะสามารถสังหารคนร้าย และกลับมาควบคุมเมืองได้อีก รวมสังเวยชีวิตไปกับเหตุการณ์นี้อย่างน้อย 173 คน รวมคนไทยด้วย บาดเจ็บอีกเกือบ 500 คน ขณะที่ทางการสามารถจับกุมตัวผู้ก่อการร้ายที่ก่อเหตุได้ 1 คน และนำไปสู่การสอบสวนที่สาวไปถึงต้นตอในปากีสถาน ทำให้ความสัมพันธ์ที่ระหองระแหงของทั้งสองประเทศยิ่งเลวร้ายลงไปอีก

ถึงกับหวั่นว่าทั้งสองฝ่ายจะเปิดศึกสงครามห้ำหั่นกันอีกรอบ

5. จลาจลทิเบตนองเลือด มลทินโอลิมปิก

ต้นเดือนมีนาคม ความคับแค้นใจของชาวทิเบตที่ถูกจีนกดขี่มานานได้เกิดปะทุกลายเป็นเหตุจลาจลรุนแรงนานนับสัปดาห์ ชาวจีนถูกทำร้ายเสียชีวิตกว่าสิบคน จีนตอบโต้ด้วยการส่งทหารจำนวนมากพร้อมรถถังไปประจำเมือง พร้อมกวาดจับผู้ก่อเหตุ รวมทั้งลามะหลายรูปที่เชื่อว่าเป็นผู้ปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย ซึ่งจีนกล่าวหาว่าเป็นฝีมือการบ่อนทำลายของ ทะไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณทิเบต

การปราบปรามการประท้วงอย่างรุนแรงของจีนได้นำไปสู่การประท้วงในหลายหัวเมืองใหญ่ทั่วโลก ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีการวิ่งไฟคบเพลิงโอลิมปิกจีนตามเมืองต่างๆ ซึ่งถูกผู้ประท้วงสนับสนุนทิเบตเข้าขัดขวางจนไม่สามารถวิ่งไฟคบเพลิงได้อย่างสมเกียรติภูมิกีฬาแห่งมนุษยชาติ

6. สงคราม 4 วัน จอร์เจีย-รัสเซีย

ต้นเดือนสิงหาคม มหาอำนาจหมีขาวอย่างรัสเซียยกกองทัพเข้าไปยังรัฐเซาท์ ออสเซเทีย และรัฐอับคาเซียของจอร์เจีย เพื่อตอบโต้ที่ทางการจอร์เจียใช้กำลังทหารเข้าบดขยี้กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ ซึ่งการต่อสู้ได้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้แก่บ้านเรือนและประชาชนในพื้นที่ สาเหตุที่ทั้งสองฝ่ายฮึ่มใส่กันก็เป็นเพราะมหาอำนาจรัสเซียไม่พอใจที่จอร์เจียอยากสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ประจำกองกำลังนาโตในจอร์เจีย ที่มีสภาพแทบจะเป็นสวนหลังบ้านของรัสเซียอยู่แล้ว ประจวบเหมาะกับการที่จอร์เจียส่งกองกำลังกวาดล้างกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในเซาท์ ออสเซเทีย และอับคาเซีย สงครามจอร์เจียและรัสเซียจึงอุบัติขึ้น และจบลงภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน

7. โจรสลัดโซมาเลีย - จอมโจรแห่งอ่าวเอเดน

ก้าวขึ้นมาผงาดทำเนียบเหตุการณ์โลกในปีนี้จากการก่อเหตุอาละวาดจี้เรืออย่างหนัก แถมยังเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกเมื่อสามารถยึดเรือซิริอุส สตาร์ เรือขนน้ำมันขนาดยักษ์ของซาอุดีอาระเบียที่บรรทุกน้ำมันดิบมูลค่ากว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (กว่า 3,500 ล้านบาท) ไว้ได้ ทั้งยังยึดเรือประมงไทยไว้จนถูกกองทัพอินเดียเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเรือโจรสลัดลำแม่ และยิงถล่มจนไฟลุกไหม้อัปปางลงพร้อมลูกเรือกว่าสิบชีวิต

ปีนี้โจรสลัดโซมาเลียในอ่าวเอเดนได้เข้าโจมตีเรือ 110 ลำ ยึดเรือไปสำเร็จ 42 ลำส่วนใหญ่ได้รับการปล่อยออกมาหลังมีการจ่ายเงินค่าไถ่ แต่ยังมีเรืออีก 14 ลำถูกควบคุมไว้พร้อมกับลูกเรืออีกกว่า 240 คน คาดกันว่าโจรสลัดได้เงินจากค่าไถ่เรือไปรวม 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เกือบ 1 พันล้านบาท) ขณะที่นานาชาติพยายามจะร่วมมือกันกวาดล้าง

8. โค่นระบอบกษัตริย์เนปาล

เป็นราชวงศ์สมมติเทพปกครองเนปาลมานานกว่า 239 ปี ในที่สุดราชวงศ์ชาห์แห่งเนปาลก็ต้องล่มสลายลง กษัตริย์คยาเนนทราทรงได้รับการจารึกไว้ว่าเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งเนปาลก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุขมาเป็นระบอบสาธารณรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุขแล้ว โดยมีนายประจันทรา ผู้นำอดีตกบฏเหมาอิสต์ที่ดำเนินการใต้ดินมาร่วม 25 ปี กลายมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศ

โดยอดีตกษัตริย์เสด็จออกจากพระราชวังไปประทับยังพระราชวังฤดูร้อนนาคาจัง บริเวณเชิงเขาทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองหลวงที่รัฐบาลจัดให้เป็นที่ประทับชั่วคราว

9. วิกฤติอาหาร - น้ำมันแพง

ปี 2551 เป็นปีที่ชาวโลกตระหนักถึงความสำคัญของอู่ข้าวอู่น้ำของโลกหลังจากที่ได้ลิ้มรสวิกฤติอาหารแพงอันเป็นผลจากความแปรปรวนของสภาวะอากาศ ทำให้เก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรได้น้อยลง ไปจนถึงการที่บริษัทต่างๆ เก็งกำไรสินค้าด้านอาหาร ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมันที่แพงขึ้น ความต้องการอาหารที่มีมากขึ้นในจีนและอินเดีย รวมทั้งการนำอาหารไปผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ในขณะที่อาหารมีอยู่อย่างจำกัด ทำให้เกิดการจลาจลแก่งแย่งอาหารในหลายประเทศ

จนถึงกับกล่าวว่าหมดยุคอาหารถูกแล้ว

10. พ่อขังลูกข่มขืนใต้ดิน 24 ปี

กลายเป็นข่าวช็อกโลกในชั่วข้ามคืนเมื่อตำรวจออสเตรียจับกุมนายโจเซฟ ฟริตเซิล พ่อใจเหี้ยมที่ขังลูกสาวตัวเองไว้ในห้องใต้ดินของบ้านนานถึง 24 ปี ข่มขืนเธอจนมีลูกถึง 7 คน ตายไป 1 คน โดยเรื่องมาแดงขึ้นเมื่อลูกสาวคนโตเกิดป่วยหนักจนต้องนำตัวออกมารักษาที่โรงพยาบาลข้างนอก ทำให้แพทย์สงสัยและอยากพบกับแม่เด็ก เรื่องราวจึงถูกเปิดโปงในที่สุด

ตะลุยข่าว - 388 ศพสึนามิ...ยังไม่ได้กลับบ้าน

แม้พิบัติภัยสึนามิจะผ่านพ้นไปแล้ว 4 ปี ทว่าภาพความเสียหาย การล้มตาย และสูญหายไปของคนอันเป็นที่รัก ยังคงติดตรึงอยู่ในใจเหมือนภาพฝันร้ายในคืนที่แสนยุ่งเหยิง หลายครอบครัวยังทำใจไม่ได้กับมหันตภัยที่เกิดขึ้นกับตนเอง ครอบครัว และธุรกิจ เสียงหวีดร้องโหยหวนและร่ำไห้เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ยังคงก้องอยู่ในมโนสำนึก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook