ซีพี-เมจิเป้า4พันล. ส่งสินค้า 3 ตัวชิงผู้นำพาสเจอไรซ์

ซีพี-เมจิเป้า4พันล. ส่งสินค้า 3 ตัวชิงผู้นำพาสเจอไรซ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ซีพี-เมจิ ทุ่มงบ 280 ล้าน เดินเครื่องจักรใหม่และทำตลาดปี 52 หวังยอดทะลุ 4,000 ล้าน เตรียมลอนช์สินค้าใหม่ 3 รายการ รักษาความเป็นผู้นำกลุ่มนมพาสเจอไรซ์ครองแชร์ 53% พร้อมปรับลดไซซ์สินค้าลงอีก 1 รายการปีนี้หนีการขึ้นราคาไม่ได้ เหตุต้นทุนน้ำนมดิบไม่ลดราคา

นายไพศาล จงบัญญัติเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายนมพร้อมดื่มแบรนด์ซีพี -เมจิ เปิดเผยถึงทิศทางการทำตลาดในปี 2552 ว่า บริษัทเตรียมเปิดตัวสินค้าใหม่ในไตรมาสแรก เป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มโยเกิร์ต 1 รายการ เป็นสินค้าดริงกิ้งโยเกิร์ต 2 รสชาติ ได้แก่ รสธรรมชาติ และรสน้ำผึ้ง ส่วนในไตรมาสที่ 2 และ 3 จะมีการเปิดตัวสินค้าใหม่

ในกลุ่มนมพาสเจอไรซ์ อีก 2 รายการ ซึ่งบริษัทมีการลงทุนเพิ่ม 180 ล้านบาท ในการซื้อเครื่องจักรใหม่ การปรับปรุงไลน์การผลิต และซื้อเครื่องเอกซเรย์ในการตรวจสอบวัตถุปนเปื้อน ส่วนงประมาณการทำตลาดในปีนี้จะใช้เท่ากับปีที่ผ่านมาคือ 100 ล้านบาท

บริษัทต้องการตอกย้ำความเป็นผู้นำตลาดในกลุ่มนมพาสเจอไรซ์ ซึ่งจะออกสินค้าใหม่โดยเป็นนมพรีเมียมที่มีการเพิ่มคุณประโยชน์และคุณค่าของสารอาหารมากกว่านมพาสเจอไรซ์ปกติ จับกลุ่มคนทำงานและผู้ใหญ่ ซึ่งจะมีการออกแบบบรรจุภัณฑ์ด้วยสีทอง เพื่อแสดงความเป็นพรีเมียมและจะมีราคาสูงกว่าปกติ 1 บาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุมัติจากกรมการค้าภายใน และอีกชนิดจะเป็นนมพาสเจอไรซ์ซึ่งมีสารอาหารมากขึ้น โดยจะจับกลุ่มเป้าหมายเด็กและวัยรุ่น นายไพศาล กล่าวและว่า

ภาพรวมตลาดนมพาสเจอไรซ์ ในปีที่ผ่านมามีมูลค่า 3,500 ล้านบาท มีการเติบโตในอัตรา 12% แต่แบรนด์ซีพี-เมจิ เติบโต15% ซึ่งยังคงรักษาผู้นำตลาดอันดับ 1 ไว้ได้ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 50% ในปัจจุบัน และในปีนี้วางเป้าหมายที่จะเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดขึ้นเป็น 53% ซึ่งเครื่องจักรใหม่ที่มีการติดตั้งแล้วนั้นจะช่วยทำให้สามารถคงความสดของนมได้นาน 21 วัน จากปกติที่สามารถเก็บได้เพียง 14 วัน

นายไพศาล กล่าวอีกว่า ในรอบปีที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์นมของซีพี-เมจิ มีการเติบโตที่มากกว่าการเติบโตของตลาดรวม ซึ่งเชื่อว่าในปีนี้จะสามารถผลักดันยอดขายได้ 4,000 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมามีรายได้ 3,500 ล้านบาท เติบโตจากปี 2550 ในอัตรา 10% แบ่งเป็นรายได้จากกลุ่มนมพาสเจอไรซ์ 2,500 ล้านบาท เคาเจอร์โยเกิร์ตหรือนมเปรี้ยวพร้อมดื่ม 500 ล้านบาท ดริงกิ้งโยเกิร์ตหรือนมเปรี้ยวพร้อมดื่มผสมน้ำผลไม้ 100 ล้านบาท ซอฟต์โยเกิร์ตหรือโยเกิร์ตถ้วย 400 ล้านบาท และกาแฟ 30-40 ล้านบาท มีกำไรจากการดำเนินงาน 60-70 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาตลาดซอฟต์โยเกิร์ต มูลค่าตลาด 2,500 ล้านบาท มีการเติบโต 15% แต่ซีพี-เมจิเติบโต 17% มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 10% เป็นอันดับ 3 เป้าหมายขึ้นเป็นอันดับ 2 ในปีนี้ ซึ่งอันดับ 1 เป็น

แบรนด์ดัชมิลล์ที่ครองส่วนแบ่งกว่า 60% ตลาดดริงกิ้งโยเกิร์ต มูลค่า 1,000 ล้านบาท ตลาดไม่มีการเติบโตแต่ซีพี-เมจิ เติบโต 27% ปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 7-8% เป้าหมายในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 10% ส่วนตลาดเคาเจอร์โยเกิร์ต มูลค่า 4,500 ล้านบาท มีการเติบโต 20% แต่ซีพี-เมจิเติบโตถึง 27%

นายไพศาล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับทิศทางตลาด ในปีนี้ผู้บริโภคเริ่มเห็นความสำคัญของการบริโภคนม เพราะนมไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งปีนี้ตลาดรวมน่าจะมีการเติบโต 10-11% ส่งผลให้การบริโภคนมของคนไทย เป็น 13 ลิตรต่อคนต่อปี จากปีที่ผ่านมา 11 ลิตรต่อคนต่อปี ส่วนปัญหาราคานมที่กรมการค้าภายในต้องการให้ผู้ประกอบการลดราคาลงนั้น ขณะนี้ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากราคาต้นทุนน้ำนมดิบจากเกษตรกรยังไม่ได้มีการปรับลดลงแต่อย่างใด ขณะเดียวกันบริษัทได้มีการปรับลดขนาดของผลิตภัณฑ์นมใหม่ในสินค้าเคาเจอร์โยเกิร์ต จากขนาด 120 ซีซี ลดลงเหลือ 100 ซีซี เพื่อให้สามารถขายได้ในราคาเดิม ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และมีแผนปรับขนาดของ

ดริงกิ้งโยเกิร์ตขนาด 450 ซีซี ลดลงเหลือ 400 ซีซีในปีนี้ด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook