''กรณ์'' ชงสภาฯคลอดก.ม.บัตรเครดิตอุ้มลูกหนี้/ทวงหนี้ไม่เป็นธรรม

''กรณ์'' ชงสภาฯคลอดก.ม.บัตรเครดิตอุ้มลูกหนี้/ทวงหนี้ไม่เป็นธรรม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
รมว.คลังเล็งเร่งคลอดร่างกฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจบัตรเครดิต และกฎหมายเกี่ยวกับการทวงถามหนี้ หวังช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบและลูกหนี้ถูกทวงหนี้ไม่เป็นธรรม ชี้เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญ เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค ด้านผจก.เครดิตบูโรเสนอให้เน้นกฎหมายในส่วนของการฟื้นฟูลูกหนี้

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลอยู่ระหว่างพิจารณาเกี่ยวกับการนำร่างกฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจบัตรเครดิต และร่างกฎหมายเกี่ยวกับการทวงถามหนี้ ซึ่งกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ เคยนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเร่งนำร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ ขึ้นมาปรับปรุงและพิจารณาโดยด่วน เนื่องจากถือว่าเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญ และที่ผ่านมาปัญหาเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ และการทวงหนี้ที่อยู่นอกระบบอย่างไม่เป็นธรรมมีอยู่มากมาย

ทั้งนี้ สำหรับร่างกฎหมายเกี่ยวกับบัตรเครดิตนั้น จะเร่งพิจารณาเพื่อให้การทำบัตรเครดิตมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจุบันอำนาจในการกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการทำบัตรเครดิตไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร โดยเฉพาะการทำบัตรเครดิตของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ หรือนอนแบงก์ รวมไปถึงการกำหนดอัตราดอกเบี้ย และการให้บริการต่างๆ เกี่ยวกับบัตรเครดิต ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องเร่งดำเนินการออกกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้มีความชัดเจน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค

จะเร่งปรับปรุงร่างกฎหมายบัตรเครดิต และร่างกฎหมายการทวงถามหนี้ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญ เพื่อให้มีความชัดเจน เช่น การทำบัตรเครดิตควรทำได้คนละไม่เกินกี่ใบ รวมไปถึงทำให้เกิดความเป็นธรรมเกี่ยวกับการทวงหนี้นอกระบบด้วย ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในสภาแล้วและจะเร่งพิจารณาให้เร็วที่สุด

ทางด้านนายนิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร ในฐานะหนึ่งในกรรมการยกร่างพ.ร.บ.การติดตามทวงถามหนี้ที่ไม่เป็นธรรม (ฉบับปลายปี 2549) ให้ความเห็นว่า ร่างเดิมของกฎหมายนี้ผ่านขั้นตอนที่ 1 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) แต่เนื่องจากสนช.หมดสมัยทำให้ค้างมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านมาแม้ว่าร่างดังกล่าวได้มีการเสนอรายละเอียดประกอบด้วยกว่า 30 มาตรา แต่หากรัฐบาลนี้มีดำริแก้ไข โดยส่วนตัวอยากให้เน้นในส่วนของการฟื้นฟูลูกหนี้ โดยเฉพาะลูกค้าที่มีกำลังพอจะชำระหนี้แต่มีความสามารถชำระหนี้ที่จำกัด ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกหนี้สามารถนำรายได้จากเงินเดือนมาชำระหนี้ให้หมดภายในระยะเวลาอันสั้น

ทั้งนี้ กฎหมายน่าจะมีการกำหนดรายละเอียดให้เจ้าหนี้แต่ละรายมีส่วนในการช่วยฟื้นฟูลูกหนี้ เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากอัตรา 28% ให้สอดคล้องกับกำลังความสามารถของลูกหนี้ หรือให้มีองค์กรกลางเข้ามาทำหน้าที่หาข้อสรุปแทนการจ้างบริษัทภายนอกมาทวงหนี้ หากรัฐบาลเปิดโอกาสเชื่อว่าการแก้ไขหนี้สินรายบุคคลหรือภาคประชาชนน่าจะทำได้เร็วขึ้น

ตรงข้ามหากกฎหมายยังคงดอกเบี้ยที่อัตรา 28% การแก้ไขหนี้ก็อาจล่าช้าและไม่สามารถแก้ไขหนี้ได้ตามเจตนารมณ์ ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยให้ลูกค้าที่ตั้งใจชำระหนี้ฟื้นฟูตัวเองได้ แต่กรณีลูกหนี้ในรายที่ไม่สามารถชำระหนี้นั้นขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้จะฟ้องล้มละลายหรือไม่ ทั้งนี้ทั้งนั้นร่างกฎหมายดังกล่าวต้องเน้นให้ความเป็นธรรมในการฟื้นฟูลูกหนี้แต่ไม่ใช่ส่งเสริมลูกหนี้ให้ปฏิเสธการชำระหนี้

อีกประเด็นที่อยากให้มีการแก้ไขไปพร้อมกันคือ การพิจารณาหาหน่วยงานที่เหมาะสมหรือ ตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาเพื่อเป็นองค์กรกำกับ จากร่างเดิมนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.การเงินโดยงานกำกับในการติดตามทวงหนี้ได้เขียนให้อยู่ที่สำนักปลัดการคลัง นอกจากนี้อาจจะต้องมีการพิจารณารายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆควบคู่กันเพื่อให้ร่างออกมาสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างครอบคลุม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook