หั่นจัดเก็บรายได้รัฐปีนี้ 1.3 แสนล. ''กรณ์'' ชี้ทั้งปีขาดดุล4.8แสนล./ยอมรับกระทบงบ 2553

หั่นจัดเก็บรายได้รัฐปีนี้ 1.3 แสนล. ''กรณ์'' ชี้ทั้งปีขาดดุล4.8แสนล./ยอมรับกระทบงบ 2553

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
รมว.คลัง ''กรณ์'' เจองานหิน จัดเก็บรายได้รัฐปีงบประมาณ 2552 ไม่ได้ตามเป้าหมาย หั่นตัวเลขลง 1.2-1.3 แสนล้านบาท เผยขาดดุลงบทั้งปีอยู่ที่ 4.7-4.8 แสนล้านบาท ยอมรับกระทบต่อการจัดทำงบขาดดุลปี 2553 มีข้อจำกัดเพิ่มขึ้น ด้านสศค.ชี้ยอดจัดเก็บรายได้รัฐสุทธิไตรมาสแรก 272,837 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 16.1 % เหตุ 3 กรมภาษีจัดเก็บต่ำกว่าเป้าหมาย และรสก.นำส่งรายได้ลดลง

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า คลังได้ปรับลดเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2552 (ตุลาคม 2551-กันยายน 2552) ลงประมาณ 10% หรือคิดเป็นวงเงิน 120,000-130,000 ล้านบาท เนื่องจาก 3 กรมภาษี คือ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร จัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย ประกอบกับการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจที่คาดว่าจะลดลงจากผลการดำเนินงานที่ออกมาไม่ดีนัก

คาดว่าปีงบประมาณ 2552 รัฐบาลจะขาดดุลรวมทั้งสิ้น 470,000-480,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการจัดทำงบประมาณขาดดุลรวมการจัดทำงบกลางปีเพิ่มเติมอีก 100,000 ล้านบาท และ การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่ต่ำกว่าเป้าหมาย ซึ่งต้องยอมรับว่าฐานะการคลังที่ขาดดุลเพิ่มขึ้น อาจกระทบความสามารถในการจัดทำงบประมาณปี 2553 มีข้อจำกัดมากขึ้น แต่เชื่อว่ายังอยู่ในขอบเขตที่รัฐบาลจะบริหารจัดการได้

ต้องยอมรับว่าปัญหาเรื่องของการจัดเก็บรายได้เป็นปัญหาที่ท้าทายรัฐบาลและประเทศ

อย่างไรก็ตามได้ย้ำกับทางกรมสรรพากรว่าการจัดเก็บควรเป็นไปตามครรลองปกติ โดยไม่มีนโยบายเร่งรัดรีดภาษีจากประชาชน ดังนั้นรัฐบาลต้องปรับแนวคิดนโยบายออกจากกรอบเดิม และไม่นำไปสู่การไล่เก็บภาษีในระดับที่สร้างปัญหาหรือสร้างความไม่ยุติธรรมต่อประชาชน รมว.คลังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขขาดดุลการคลังที่รวมตัวเลขขาดดุลกลางปีด้วยจะขาดดุลประมาณ 350,000 ล้านบาท ส่วนตัวเลขจัดเก็บรายได้ที่ต่ำกว่าเป้าหมายนั้นไม่ได้ถูกนำมานับเป็นขาดดุล แต่จะมีผลต่อความจำเป็นที่ต้องตั้งงบชดเชยในอนาคต และกระทบต่อความสามารถในการจัดตั้งงบประมาณปี 2553 ในระดับที่คาดไว้ (จากที่ตั้งเป้าหมายขาดดุลปี 2553 ไว้ที่ 350,000 ล้านบาท)แต่ยังเชื่อว่ายังยืดหยุ่นเพียงพอรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งรัดพิจารณาในรายละเอียดแหล่งเงินอื่นที่จะนำมาใช้หากจำเป็น เนื่องจากในขณะนี้ปัญหาเฉพาะหน้าอยู่ในขั้นวิกฤติ

ทางด้าน ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยถึง ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาล ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2552 (ตุลาคม -ธันวาคม 2551) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 272,837 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 52,334 ล้านบาท หรือ 16.1 % (ต่ำกว่าช่วง เดียวกันของปีก่อน 16.1% ) โดยมีสาเหตุหลักมาจากการจัดเก็บภาษีน้ำมัน ภาษีมูลค่าเพิ่ม และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจที่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ นอกจากนี้ การคืนภาษีของกรมสรรพากรที่สูงกว่าประมาณการอีกด้วย โดยสูงกว่าประมาณการถึง 16,961 ล้านบาท (หรือ 36.4% ) โดยมีสาเหตุสำคัญจากการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าประมาณการ 14,184 ล้านบาท หรือ 33.8 %

สำหรับผลการจัดเก็บรายได้ ในส่วนของกรมสรรพากร จัดเก็บได้รวม 226,928 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสาร งบประมาณ 7,155 ล้านบาท คิดเป็น 3.1% ภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่า ประมาณการที่สำคัญได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 8,505 และ 2,374 ล้านบาท หรือ 6.8 % และ 5.3 % กรมสรรพสามิตจัดเก็บได้รวม 55,400 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 17,567 ล้านบาท หรือ 24.1 % สาเหตุสำคัญมาจากการจัดเก็บภาษีน้ำมันที่ต่ำกว่าประมาณการถึง 13,861 ล้านบาท

เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและแก๊สโซฮอล์ และภาษีรถยนต์ที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 2,753 ล้านบาท ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ กรมศุลกากร จัดเก็บได้รวม 24,177 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 1,723 ล้านบาท คิดเป็น 6.7 % เนื่องจากอากรขาเข้าจัดเก็บได้ต่ำ กว่าประมาณการ 1,717 ล้านบาท หรือ 6.8 % เป็นผลจากการชะลอตัวของมูลค่าการนำเข้าสินค้าเป็นสำคัญ

ทางด้านการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ ไตรมาสแรกปีงบ 52 นำส่งรายได้ 11,924 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 10,506 ล้านบาท หรือ 46.8 % (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว59.9 % ) เนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ขอเลื่อนนำส่งรายได้ออกไป รวมทั้ง บมจ. ทีโอที ยังไม่สามารถนำส่งรายได้ค่าธรรมเนียมการสื่อสารตามเป้าหมาย ขณะที่หน่วยงานอื่น นำส่งรายได้รวม 22,835 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 1,240 ล้านบาท หรือ5.7 % (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 32.8 % )

ผอ.สศค. ยังได้กล่าวว่า จากผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลไตรมาสแรกที่ต่ำกว่าประมาณการ 52,334 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในการลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและแก๊สโซฮอล์ (6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทยทุกคน) ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัว ซึ่งคาดจัดเก็บรายได้รัฐบาลปีนี้ จะต่ำกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ (1.585 ล้านล้านบาท) ในระดับที่ไม่กระทบต่อความยั่งยืนทางการคลัง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook