ส่องธุรกิจฟาสต์ฟูด ปีฉลู ผ่าน 2 ยักษ์ ''แมคโดนัลด์ VS ซีอาร์จี''

ส่องธุรกิจฟาสต์ฟูด ปีฉลู ผ่าน 2 ยักษ์ ''แมคโดนัลด์ VS ซีอาร์จี''

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เปิดศักราชปี 2552 ไปพร้อมกับการเริ่มต้นการทำงานของรัฐบาลชุด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของประเทศ ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยในปีนี้ยิ่งต้องลุ้นหนัก สำหรับกำลังซื้อผู้บริโภคว่าจะพุ่งขึ้นหรือทรงตัวเท่ากับปีที่ผ่านมาหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดอาหารที่ก่อนหน้ามีหลายฝ่ายคาดว่าจะเป็นตลาดที่กระทบน้อยที่สุด เนื่องด้วยเป็น1ในปัจจัย 4 ของมนุษย์ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

อย่างไรก็ตามในกลุ่มของธุรกิจร้านอาหารโดยเฉพาะหมวดฟาสต์ฟูด อาหารบริการด่วน หรือที่เรียกว่า คิวเอสอาร์(Quick Service Restuarant)ในปัจจุบัน โดยมีผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดอย่าง แมคโดนัลด์ และกลุ่มซีอาร์จี ผู้ให้บริการธุรกิจร้านอาหารในเครือประมาณ 6 แบรนด์ ได้แก่แบรนด์เคเอฟซี, อานตี้ แอนส์, มิสเตอร์ โดนัท และเปปเปอร์ ลันซ์ เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่กำลังก่อตัวขึ้น

สำหรับภาพรวมตลาดฟาสต์ฟูดในปีนี้จะเป็นเช่นไรนั้น ฐานเศรษฐกิจ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ 2 ผู้บริหารระดับสูง คือ เฮสเตอร์ ชิว ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมคไทย จำกัด และ ธีรเดช จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ ซีอาร์จี ที่ร่วมสะท้อนมุมมองตลาดฟาสต์ฟูดพร้อมบอกล่าวถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจร้านอาหารเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้

++ทิศทางของแมคโดนัลด์ปี 2552

นายเฮสเตอร์ ชิว กล่าวถึงทิศทางของแมคโดนัลด์ในปี 2552 นี้ บริษัท จะโฟกัสกลุ่มลูกค้า ในเรื่องของความคุ้มค่าในสินค้า และอาหารรวมไปถึงการสร้างความแปลกใหม่ของร้านแมคโดนัลด์ เพื่อดึงลูกค้า เข้ามาใช้บริการที่ร้านแมคโดนัลด์มากขึ้น นอกจากนี้ แมคโดนัลด์ ยังเตรียมกลยุทธ์การทำตลาดที่หลากหลาย เพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้มีความถี่ในการเข้าใช้บริการมากขึ้น เช่น กิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าผ่านโปรโมชันต่างๆ การเปิดร้านให้บริการ 24 ชั่วโมง รวมถึงแบรนด์ แมคคาเฟ่ ที่ปัจจุบันมีลูกค้ารู้จักมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่าน และในปี 2552 นี้บริษัทจะโฟกัสตัวบริการแบรนด์แมคคาเฟ่เพิ่มขึ้น ด้วยการขยายสาขาเพิ่มอีกประมาณ 15-20 สาขาจากเดิมมีอยู่ประมาณ 39 สาขา

++ตอกย้ำดิลิเวอรี 24 ชม.

สำหรับธุรกิจบริการส่งสินค้าถึงบ้าน หรือ ดีลิเวอรีของแมคโดนัลด์ ถือว่ามีการเติบโตต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา เห็นได้จากลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงมหกรรมฟุตบอลยูโร 2008 และกีฬาโอลิมปิกส์ ที่ประเทศจีน ทำให้ตลาดดีลิเวอรีทั่วประเทศ มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 20% ขณะที่แมคโดนัลด์ เป็นรายเดียวที่เปิดให้บริการ ดีลิเวอรี 24 ชม. ซึ่งตรงจุดนี้เองทำให้แมคโดนัลด์ เป็นแบรนด์ที่ลูกค้าใช้บริการมากที่สุด โดยปัจจุบันมีสาขาแมคดีลิเวอรี่ ประมาณ 69 สาขา แต่มีสาขาที่เปิดบริการ 24 ชม. ประมาณ 36 สาขา ส่วนยอดขายแต่ละสาขาของแมคดีลิเวอรี่ มีไม่เท่ากัน บางสาขามียอดขายประมาณ 5% หรือบางสาขาที่ใกล้ตัวเมืองจะมียอดขาย 25% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทำเล และสาขาของแมคดีลิเวอรี่ในการเจาะกลุ่มตามชุมชน และกลางเมืองของกรุงเทพฯ แต่ทางแมคดีลิเวอรี่ ก็ยังมียอดขายในภาพรวมทั้งหมดของแต่ละสาขาดีลิเวอรี ประมาณ 10%

++แผน 3 ปีข้างหน้า แมคไทย

นายเฮสเตอร์ กล่าวถึงทิศทางทางของร้านแมคโดนัลด์ ในประเทศไทยอีก 3 ปีข้างหน้า จะเพิ่มสาขาเล็ก และสาขาใหญ่เป็นเท่าตัว เพื่อให้ทุกปี มีอัตราการเติบโตประมาณ 20 - 25% และมีสาขาทั้งแมคโดนัลด์ แมคคาเฟ่ รวมทั้งหมด 260 - 270 สาขาทั่วประเทศไทย

++ทิศทาง CRG ปี 2552

ด้านนายธีระเดช จิราธิวัฒน์ กล่าวว่า ในปี 2552 ทางบริษัทตั้งเป้ามีสาขาครบ 555 สาขา รวมไปถึงใช้งบการตลาดประมาณ 300 ล้านบาทในเครือซีอาร์จีทั้งหมด พร้อมให้ในกลุ่มของซีอาร์จี มีการเติบโตทุกแบรนด์ จากปัจจุบันซีอาร์จี มีร้านอาหารให้บริการทั้งหมด 6 แบรนด์ คือ มิสเตอร์โดนัท อานตี้ แอนส์ เคเอฟซี พิซว่า ฮัท บาสกิ้น ร้อบบิ้นส์ และแบรนด์เปปเปอร์ ลันซ์ พร้อมตั้งเป้าการเติบโตรวมทุกแบรนด์ของซีอาร์จี เติบโตมากกว่า 10%

++ปั้นธุรกิจอาหารแบรนด์ใหม่

พร้อมกันนี้บริษัท ยังมีแผนจะเปิดตัวแบรนด์ธุรกิจอาหารแบรนด์ใหม่ อีก 1 แบรนด์ โดยคาดว่าจะเปิดตัวได้ในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีนี้ ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างขั้นตอนพัฒนาแผนธุรกิจทางการตลาด ขณะที่เทรนด์ตลาดอาหารที่มาแรงคาดยังจะเป็นอาหารญี่ปุ่น ซึ่งทางซีอาร์จี ยังไม่ได้ระบุว่าจะเปิดตัวอาหารญี่ปุ่นแต่อย่างใด เนื่องจากมีแบรนด์อาหารญี่ปุ่นอยู่แล้ว คือ เปปเปอร์ ลันซ์

++เพิ่มสาขามิสเตอร์โดนัทต่อเนื่อง

นายธีรเดช กล่าวถึงแบรนด์ มิสเตอร์โดนัท ว่าหลังจากเปิดสาขาลำดับที่ 200 ของมิสเตอร์โดนัทไปเมื่อปลายปี 2551 ที่ผ่านมาในศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา สาขาแจ้งวัฒนะ ซึ่งได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบจากเดิม ด้วยการเน้นเมนูที่หลากหลาย และมีการปรับเปลี่ยนการให้บริการภายในร้าน จากเดิมที่เป็นการบริการตนเอง (Self Selection) มาเป็นบริการแบบ Fast Casual คือเมื่อลูกค้าสั่งอาหาร และชำระเงินที่เคาน์เตอร์ จะได้รับหมายเลข และเลือกโต๊ะที่นั่ง จากนั้นพนักงานจะนำอาหารมาเสิร์ฟให้ที่โต๊ะ นอกจากนี้ยังได้ปรับรูปลักษณ์ของร้านให้ดูอบอุ่น แต่ยังคงความสดใส เพื่อเป็นการดึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยรุ่น และคนทำงานให้เข้าร้านมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ มิสเตอร์ โดนัท สาขาที่ 200 เป็นการปรับโฉมรูปแบบร้านใหม่หมด โดยนำต้นแบบการปรับเปลี่ยน และตกแต่งร้านมาจากมิสเตอร์โดนัท ประเทศญี่ปุ่น เน้นการตกแต่งทั้งภายในและภายนอกด้วยโทนสีอบอุ่น หรือ Earth Tone ซึ่งต้นแบบดังกล่าวประเทศญี่ปุ่นได้มีการทำวิจัย และพบว่า เป็นแบบที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกผ่อนคลาย และสนุกสนาน และเมื่อนั่งรับประทานในร้าน จะรู้สึกเหมือนอยู่บ้านกับครอบครัว ภายใต้ Concept Casual and Relaxing At Home

สำหรับการเปิดสาขาเพิ่มขึ้นในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 30 สาขา ใช้งบลงทุน 80 ล้านบาท พร้อมกับการเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ของมิสเตอร์โดนัท แต่จะเน้นสาขาที่มีขนาดเล็กไม่ใหญ่มากนัก คาดว่าจะทำให้ มิสเตอร์ โดนัท มียอดจำหน่ายในปีนี้เติบโตขึ้นประมาณ 10%

ปัจจุบันตลาดอาหารฟาสต์ฟูดทั้งหมดในประเทศไทยในปี 2552 คาดว่าโดยรวมจะเติบโตอยู่ที่ 15 - 20% โดยข้อมูลของตลาดอาหารฟาสฟูดในปี 2008 มีมูลค่าโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 14,000-15,000 ล้านบาท แบ่งเป็นตลาดไก่ทอด 80% และเบอร์เกอร์ 20% ซึ่งในส่วนของตลาดไก่ทอดปัจจุบันมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 16-17% มีเคเอฟซีเป็นผู้นำตลาด ด้วยส่วนแบ่งการตลาดที่ 50% และตลาดแฮมเบอร์เกอร์ มีการเติบโตประมาณ 10 - 15% มีผู้นำตลาดเป็นแมคโดนัลด์ มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 50 - 60% สำหรับตลาดของพิซซ่าในประเทศไทยเดอะพิซซ่า คอมปะนี มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 70%

จากแนวโน้มดังกล่าวเห็นได้ว่า ในปีนี้เจ้าของสินค้าส่วนใหญ่เชื่อว่าจะต้องวางกลยุทธ์ของธุรกิจของตัวเองให้มีเป้าหมายที่ชัดเจน พร้อมทำการตลาดที่กระตุ้นกำลังซื้อจากผู้บริโภคให้กลับมาเหมือนเดิม ขณะที่ทั้งสองค่ายร้านอาหารต่างมุ่งหันมานำเสนอนวัตกรรมด้านอาหารแปลกใหม่ให้กับผู้บริโภคมากขึ้น เพื่อให้การใช้จ่ายอย่างมีคุณค่ามากที่สุด ไปพร้อมกับการตอกย้ำแบรนด์ให้อยู่ในใจผู้บริโภคได้มากที่สุดเช่นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook