ประกันภัยยี้! ผับปัดรับเสี่ยง > หวั่นซ้ำรอย ''ซานติก้า'' เพิ่มเกณฑ์เข้ม 5 ข้อสำรวจภัย/เล็งขึ้นเบี้ยส

ประกันภัยยี้! ผับปัดรับเสี่ยง > หวั่นซ้ำรอย ''ซานติก้า'' เพิ่มเกณฑ์เข้ม 5 ข้อสำรวจภัย/เล็งขึ้นเบี้ยส

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ประกันภัยแหยงรับทำประกันให้สถานบันเทิง เข้าเกณฑ์ความเสี่ยงสูง เล็งขยับคิดเบี้ยที่ระดับสูงสุด 1% หรือจากหลักหมื่นบาทเพิ่มเป็นหลักแสนบาท สมาคมประกันวินาศภัยเผยบ.ประกันภัยเพิ่มเกณฑ์ 5 ข้อสำรวจภัยใหม่กลุ่มสถานบันเทิงทั้งกรณีลูกค้าต่ออายุและรายใหม่ ด้านวิริยะ-แอกซ่า- ธนชาต ชี้ไม่ได้มาตรฐานไม่รับหวั่นเสี่ยง

จากกรณีเหตุเพลิงไหม้สถานบันเทิง ซานติก้า ผับ ย่านเอกมัย ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 64 ราย และมูลค่าความเสียหายของทรัพย์สินประมาณ 50 ล้านบาท และยังพบว่าสถานบันเทิงดังกล่าวไม่ได้ต่อสัญญาการประกันอัคคีภัยทรัพย์สินที่เคยทำไว้กับ บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งกรมธรรม์หมดความคุ้มครองไปแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2551 ต่อกรณีที่เกิดขึ้นทำให้บริษัทประกันภัยมีแนวโน้มที่จะปฏิเสธรับประกันภัยสถานบันเทิง หรือบางรายยังรับแต่คิดเบี้ยสูงสุด

แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมการประกันภัยทรัพย์สิน สมาคมประกันวินาศภัย เปิดเผย ฐานเศรษฐกิจ ว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นทำให้บริษัทประกันภัยต้องเพิ่มเกณฑ์การสำรวจภัยใหม่ กลุ่มธุรกิจสถานบันเทิงเสี่ยงสูงประมาณ 5 ข้อ เพื่อทบทวนพิจารณารับประกันทั้งกรณีต่ออายุและรายใหม่ ได้แก่ 1. ไม่มีทางหนีไฟที่เพียงพอหรือป้ายแสดงไม่ชัดเจน 2.ใช้วัสดุฝ้าเพดานที่เป็นฉนวนกันเสียงสะท้อนซึ่งติดไฟง่าย 3.การออกแบบฝ้าเพดานเตี้ยหรือต่ำเกินไปหรือมีทางเดินและทางขึ้นบันไดแคบเกินไป 4. ไม่มีแผนฉุกเฉินกรณีเกิดไฟไหม้ หรือไม่มีการจำกัดจำนวนลูกค้าเข้าร้านที่เหมาะสมกับขนาดของร้าน และ 5.พฤติกรรมช่วงการเฉลิมฉลอง ที่จัดบ่อยครั้งและยังมีกิจกรรมเสี่ยงต่อการเกิดภัยร้ายแรง เช่น จุดพลุไฟ

หากเข้าเกณฑ์เหล่านี้จะมีผลต่อการปฏิเสธรับประกัน และปรับเพิ่มเบี้ยประกันภัยที่ระดับอัตราเบี้ยประกันภัยสูงสุด 1% ของมูลค่าทรัพย์สินที่ทำประกันไว้หรือจ่ายเบี้ยเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่าจากอัตราคำนวณเบี้ยประกันอัคคีภัยและทรัพย์สินเฉลี่ยที่ระดับ 0.31-1% รวมถึงอาจจะไม่มีการให้ส่วนลดพิเศษ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทประกันภัยแต่ละรายจะรับความเสี่ยงภัยได้มากน้อยแค่ไหน

ที่ผ่านมาบริษัทประกันภัยไม่มีนโยบายรับประกันกลุ่มสถานบันเทิงเป็นตลาดหลัก เพราะถือเป็นกลุ่มเสี่ยงกลางถึงสูง มีสถิติเกิดความเสียหายและธุรกิจเปลี่ยนมือบ่อยครั้ง ทุนประกันขั้นต่ำ แบ่งตามขนาดของสถานประกอบการขนาดเล็ก 5-10 ล้านบาท ขนาดกลาง 10- 100 ล้านบาท และขนาดใหญ่ 100 ล้านบาทขึ้นไป คิดเป็นมูลค่าเบี้ยประกันประมาณ 15,000- 100,000 บาทต่อปีขึ้นไป ซึ่งเจ้าของสถานบันเทิงมีกำลังทรัพย์จ่ายเบี้ยได้ แต่ส่วนใหญ่ไม่สนใจเพราะไม่ต้องการมีภาระเพิ่ม

นายอานนท์ โอภาสพิมลธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด และในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประกันภัยทรัพย์สิน สมาคมประกันวินาศภัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ทางสมาคม ยังไม่มีการปรับเกณฑ์อัตราคำนวณเบี้ยประกันภัยอัคคีภัยและทรัพย์สินที่บริษัทประกันใช้ร่วมกัน โดยหากประเมินมูลค่าความเสียหายจากเหตุไฟไหม้ตั้งแต่ต้นปีนี้ (5 วัน) ประมาณ 4-5 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถานบันเทิงที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตจำนวนมาก คิดเป็นมูลค่าความเสียหายต่อธุรกิจประกันภัย ไม่เกิน 100 ล้านบาท ถือว่ามีอัตราความสูญเสียน้อยมากหรือประมาณ 0.5% หากเทียบกับเบี้ยรับรวมประกันอัคคีภัยและทรัพย์ในแต่ละปี ซึ่งปีที่ผ่านมามีเบี้ยรับรวมประมาณ 20,000 ล้านบาท ในส่วนของบริษัท จะให้ความใส่ใจกับเหตุความเสียหายมากขึ้นโดยเฉพาะในแง่ของพฤติกรรมช่วงการเฉลิมฉลอง เช่น ถ้าลูกค้าจุดพลุไฟมีสิทธิถูกปฏิเสธการรับประกันภัย

นายนพดล เรืองจินดา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด กล่าวว่า บริษัทจะถือโอกาสช่วงนี้ ขอความร่วมมือกับธุรกิจสถานบันเทิงให้บริษัทเข้าไปสำรวจภัยจากสถานที่จริงก่อน โดยเฉพาะทางหนีไฟและผังการออกแบบที่ชัดเจน เพื่อประเมินรับประกันรวมถึงคิดเบี้ยประกันอัคคีภัยและทรัพย์สินทั้งรายใหม่และต่ออายุ หากลูกค้าไม่ให้ระยะเวลาในการสำรวจภัย บริษัทจะปฏิเสธการรับประกัน หรือถ้าไม่ยอมปรับปรุงความเสี่ยงภัยตามแผนที่บริษัทแนะนำก่อนการรับประกันภัย บริษัทคงต้องคิดเบี้ยเพิ่ม

ปัจจุบันบริษัทรับประกันอัคคีภัย ธุรกิจสถานบันเทิงขนาดกลางเพียง 2 แห่งเท่านั้น ซึ่งเป็นธุรกิจเครือข่ายของลูกค้าเดิมที่ทำประกันธุรกิจหลักไว้อยู่แล้ว คุ้นเคยกันและมีการขอให้ทำประกันธุรกิจนี้เพิ่มเติม ในแง่การขยายตลาดบริษัทจะเน้นรับประกันในรูปแบบนี้มากกว่า เพราะความเสี่ยงภัยต่ำและไม่ค่อยมีปัญหา ขณะที่ลูกค้าธุรกิจสถานบันเทิงทั่วไปที่ผ่านมาส่วนใหญ่มักอ้างเหตุไม่ค่อยมีเวลา เพราะไม่ต้องการให้บริษัทประกันเข้าไปสำรวจภัย

นายกี่เดช อนันต์ศิริประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอกซ่าประกันภัย จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทไม่มีนโยบายรับประกันภัยธุรกิจสถานบันเทิงและยังคงนโยบายนี้ เพราะธุรกิจสถานบันเทิงมีความเสี่ยงสูง อายุประกอบการสั้น 1-2 ปี ผู้ประกอบการไม่สม่ำเสมอเปลี่ยนเจ้าของบ่อย

ขณะที่นางจันทรา บูรณกฤษ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า บริษัทประกันสามารถปฏิเสธการรับประกันภัยได้ หากสถานบันเทิงไม่ได้มาตรฐาน แต่อยากให้มองถึงความรับผิดต่อบุคคลภายนอกด้วยการซื้อกรมธรรม์ความรับผิดต่อบุคคลภายนอก (Liability) ซึ่งคปภ. จะขอความร่วมมือผ่านทางกรมโยธาธิการฯ ในฐานะผู้ออกกฎหมายให้อาคารต้องจัดทำประกันภัยคุ้มครองบุคคลภายนอก และขอความร่วมมือกับทางกรุงเทพมหานครในฐานะผู้ดูแลพื้นที่ต่อไป เพื่อให้เจ้าของธุรกิจแสดงความรับผิดชอบต่อลูกค้า กรณีบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

ทั้งนี้ ธุรกิจสถานบันเทิงอาจทำประกันในลักษณะการตั้งพูลหรือกลุ่มขึ้นมาร่วมกันรับประกันและเมื่อเกิดเหตุก็สามารถนำเงินกองกลางไปจ่ายสินไหมได้ เช่นเดียวกับการประกันรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ขณะเดียวกันยังถือเป็นการช่วยบริษัทประกันในแง่บริหารความเสี่ยงภัยในอนาคต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook