เช่าซื้อรถหันขยายไลน์ธุรกิจ สร้างรายได้ค่าฟีชดเชยสินเชื่อหด จับมือพันธมิตรทำแฟกตอริง-ขายกรมธรรม์ประก

เช่าซื้อรถหันขยายไลน์ธุรกิจ สร้างรายได้ค่าฟีชดเชยสินเชื่อหด จับมือพันธมิตรทำแฟกตอริง-ขายกรมธรรม์ประก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ตลาดเช่าซื้อรถยนต์ปรับตัวอุตลุด หันสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมธุรกิจอื่นอุดรายได้หลังประเมินสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์''ปีฉลู''วูบตามยอดขายรถยนต์ที่หดตัวลง 20% โตโยต้าลีสซิ่งจับมือดีลเลอร์ทำแฟกตอริงอุ้มลูกค้า ขณะที่นวลีสซิ่งชะลอธุรกิจรับจำนำรถยนต์ จับมือกรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิตออก 3 กรมธรรม์เจาะกลุ่มอาชีพอิสระ ด้านราชธานียอมรับปีนี้เดินแผนธุรกิจยากต้องดูเป็นรายไตรมาส ส่วนแบงก์ธนชาตหดเป้าสินเชื่อลง 10-15%

นายประยุทธ์ จิตรวัชรโกมล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย)ฯในฐานะประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย เปิดเผย ฐานเศรษฐกิจถึงแนวโน้มตลาดธุรกิจเช่าซื้อในปี 2552 ว่า โดยรวมทั้งปีตลาดเช่าซื้อรถยนต์น่าจะมีอัตราการเติบโตลดลงประมาณ 20% ตามอุตสาหกรรมรถยนต์ที่คาดว่ายอดขายรถยนต์จะลดลงเหลือ 500,000-520,000 คัน จากปีก่อนหน้ายอดขายรถยนต์อยู่ที่ 610,000 คันโดยจะมีผลให้ยอดสินเชื่อรวมลดลงประมาณ 20%จากยอดสินเชื่อรวมปีก่อนเกือบ 300,000ล้านบาท(เฉพาะรถใหม่)

แนวทางการทำธุรกิจปีนี้นอกจากต้องพยายามลดค่าใช้จ่ายภายใน และลดการทำงานล่วงเวลาลงแล้ว พบว่าผู้ประกอบการหลายแห่งปรับตัวด้วยการเพิ่มรายได้จากการเพิ่มโปรดักต์ที่ถนัด รวมทั้งขยายไลน์ลูกค้านิติบุคคลเพิ่มรายได้ในรูปแบบแฟกตอริง เช่น ทำกับบริษัทประกันหรือดีลเลอร์ และลูกค้าเช่าซื้อทั้งประเภทรถยนต์ หรือเครื่องจักร ที่มีลูกค้าส่งสินค้าขายให้กับห้างร้านต่างๆ สามารถนำใบอินวอยซ์ หรือทะเบียนรถยนต์ (ทะเบียนเครื่องจักร) มาทำแฟกตอริงกับผู้ประกอบการเช่าซื้อ เพราะธุรกิจและลูกค้าต้องการเงินหมุนเวียนระยะสั้น 3 เดือน หรือ 6 เดือน

หากบริษัทประกันหรือดีลเลอร์หรือลูกค้าเช่าซื้อเหล่านี้มีลูกหนี้ชั้นดีอยู่ในพอร์ตก็จะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมแฟกตอริง และอัตราดอกเบี้ยที่คิดกับลูกค้าตั้งแต่ MOR และ MORบวก 1-1.5%

ในส่วนของบริษัทโตโยต้า ลีสซิ่งประเทศไทยอยู่ระหว่างศึกษาพอร์ตลูกค้าที่ตัวเองมีอยู่ในมือ หากดีลเลอร์มีพอร์ตลูกค้าดียิ่งเพิ่มโอกาสในการเพิ่มธุรกิจได้ เพราะดีลเลอร์บางรายต้องการใช้เงินหมุนเวียนระยะสั้น นอกจากช่วยลูกค้าในการหมุนรอบของเงินแล้วยังเป็นการช่วยเศรษฐกิจในระบบด้วยนายประยุทธ์กล่าว

ประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย ยังได้กล่าวถึง ปัจจัยท้าทายในปีนี้ ผู้ประกอบการเน้นรักษาคุณภาพสินทรัพย์ไม่ให้ด้อยคุณภาพหรือกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จากสิ้นปี 2551 ทั้งระบบมีเอ็นพีแอลประมาณ 3%ของพอร์ตสินเชื่อรวม 300,000 ล้านบาท

นายโกวิท รุ่งวัฒนโสภณ กรรมการผู้จัดการ บริษัทราชธานี จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า การทำแฟกตอริงของธุรกิจเช่าซื้อนั้น เป็นอีกโปรดักต์ไลน์ของการหารายได้เพิ่มโดยการรับแลกเช็ค เป็นการนำใบอินวอยซ์(ทะเบียนรถยนต์)มากู้ยืมเงิน ส่วนใหญ่เป็นการทำกันระหว่างบริษัทใหญ่ที่มีความน่าเชื่อถือหรือจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น บริษัทอิตาเลียนไทย จำกัด(มหาชน) หรือ ค่ายรถยนต์ใหญ่ที่ทำกับดีลเลอร์ของตัวเอง แม้กระทั่งบริษัทโตโยต้าฯก็มีการทำแฟกตอริงกับดีลเลอร์ กรณีที่ดีลเลอร์มีวงเงินจำกัดในการซื้อรถแต่ละล็อต โดยดีลเลอร์สามารถนำอินวอยซ์กู้เงินจากโตโยต้าได้

การทำแฟกตอริงในธุรกิจเช่าซื้อนั้น แม้ว่าจะเป็นช่องทางเพิ่มรายได้จากค่าธรรมเนียมทำแฟกตอริง และรายได้จากอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างดี แต่ในส่วนของราชธานียังไม่ได้ทำแฟกตอริง เพราะมองว่าควบคุมยาก ประกอบกับเราเป็นบริษัทขนาดกลางและลูกค้าในพอร์ตเป็นรถยนต์มือสอง อย่างไรก็ตาม การขยายไลน์ดังกล่าวจะเป็นปรากฎการณ์ใหม่ปีนี้ ขณะที่ตลาดรถยนต์ใหม่มีแนวโน้มชะลอตัว ทำให้บริษัทราชธานีฯเอง ต้องดำเนินนโยบายเป็นรายไตรมาสในการกำหนดแผนธุรกิจ

นายรัตนชัย นันทปราโมทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นวลิสซิ่ง จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า การทำแฟกตอริงนั้น เป็นอีกแนวทางที่แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบธุรกิจเช่าซื้อไม่ทอดทิ้งลูกค้า เช่นเดียวกันกับค่ายโตโยต้าที่เข้าไปอุ้มลูกค้าในภาวะที่ลูกค้าต้องการเงินหมุนเวียน ขณะเดียวกันบริษัทก็จะมีรายได้ด้วย ซึ่งในภาวะปัจจุบันเป็นปกติของธุรกิจที่จะต้องมองหาจุดแข็งเพื่อประคองให้ธุรกิจอยู่รอดได้

สำหรับบริษัทนวลิสซิ่งฯจะร่วมกับบริษัทกรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิต จำกัด ออกกรมธรรม์ใหม่ 3โปรดักต์ ในปลายเดือนมกราคม เพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายที่มีอาชีพอิสระ เพราะคาดว่าจะมีแรงงานเคลื่อนตัวออกนอกระบบจำนวนมากที่ต้องการความคุ้มครองในลักษณะคล้ายประกันสังคม เช่น กรมธรรม์ดูแลสุขภาพหรือสะสมทรัพย์ที่กำหนดผ่อนชำระค่าเบี้ยเพียง 12 ปี แต่ให้ความคุ้มครอง 80 ปี

ปีนี้เราชะลอธุรกิจรับจำนำรถยนต์โดยหันมาเป็นตัวแทนประกันร่วมกับทางกรุงไทยแอกซ่าฯ ซึ่งจะใช้ นวเอ็กซ์เพรสที่มีอยู่ 400 ศูนย์ทั่วประเทศทดลองทำตลาด เบื้องต้นคาดว่าจะมีปริมาณธุรกิจ 100 ล้านบาท โดยปีหน้าจะจดทะเบียนบริษัทลูก(นวประกันภัย)ขึ้นมาทำธุรกิจเต็มตัว ซึ่งการขยายไลน์ธุรกิจนอกจากหารายได้เพิ่มมาเพื่อจ่ายปันผลผู้ถือหุ้นรายย่อยแล้ว ยังเป็นโอกาสสร้างฐานลูกค้าใหม่และรักษาฐานลูกค้าเก่าที่มีอยู่ 10,000 คัน มูลค่า 2,500 ล้านบาทนายรัตนชัยกล่าว

นายอนุชาติ ดีประเสริฐ ผู้อำนวยการพัฒนาธุรกิจเช่าซื้อรถใหม่ ธนาคารธนชาต จำกัด(มหาชน) กล่าวยอมรับว่า ปีนี้ผู้ประกอบการธุรกิจเช่าซื้อกำหนดแผนธุรกิจยาก โดยเบื้องต้นธนาคารคาดว่าสินเชื่อจะขยายตัวลดลง 10-15% จากปีก่อน โดยสิ้นปีที่ผ่านมาธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อรวม จำนวน 94,000 ล้านบาท ยังคงรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับ 20% ขณะเดียวกันธนาคารเน้นการควบคุมหนี้เอ็นพีแอลไม่ให้เกินจากระดับปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ระดับ 2%

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook