โหมสร้างงาน-วัดมาตรการพิเศษฟื้นเศรษฐกิจ รัฐเร่งผันเงินถึงมือชาวบ้าน-ทุ่มแจกเอสเอ็มแอล 2เท่า

โหมสร้างงาน-วัดมาตรการพิเศษฟื้นเศรษฐกิจ รัฐเร่งผันเงินถึงมือชาวบ้าน-ทุ่มแจกเอสเอ็มแอล 2เท่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมครม.ว่า ครม.ได้พิจารณาแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับงบประมาณกลางปี 52 ซึ่งในวันที่ 7 ม.ค. การประชุมครม.เศรษฐกิจ จะกำหนดกรอบว่าแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจจะต้องมีมาตรการในการช่วยเหลือประชาชนในกลุ่มใดบ้าง เช่น กลุ่มเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน ผู้มีเงินเดือนประจำ ภาคท่องเที่ยว ภาคอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้มาตรการที่รัฐบาลนำมาใช้อยู่ในขั้นสุดท้ายแล้ว โดยการใช้งบประมาณกลางปีวงเงิน 1 แสนล้านบาท จะเป็นการลดภาระให้ประชาชน แก้ปัญหาคนว่างงาน และกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะเน้นการแก้ปัญหาการว่างงาน ควบคู่กับมาตรการพิเศษกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะต้องเร่งรัดการผันเงินงบประมาณสู่ภาคประชาชน คาดว่าจะสามารถรองรับคนว่างงานได้ประมาณ 5 แสนคน

ด้านนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหาการว่างงาน ด้วยการทำให้เกิดกำลังซื้อโดยเร็วที่สุดและดีที่สุด โดยการคืนเงินภาษีให้กับประชาชน เพื่อให้เงินกลับคืนอยู่ในมือประชาชนอย่างแท้จริง เน้นความโปร่งใสไม่ให้เงินสูญหายไปไหน และคาดว่ารัฐบาลจะสามารถรองรับคนตกงานในเดือนมี.ค.ได้จำนวน 2 หมื่นคน เดือนเม.ย.รองรับได้ 3 หมื่นคน และเดือนพ.ค.รองรับได้ 4 หมื่นคน พร้อมทั้งในเดือนมี.ค.นี้ จะเริ่มจัดให้แรงงานมาลงทะเบียนร่วมโครงการฝึกอบรมฝีมือการทำงานเพื่อส่งแรงงานกลับไปพัฒนาพื้นที่ภูมิลำเนาของตัวเอง คาดว่าทั้งปีจะรองรับปัญหาการว่างงานได้ 5 แสนคน

นอกจากนี้ จะส่งเสริมการดำเนินงานของกองทุนเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับหมู่บ้านและชุมชนต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดก่อนผ่านโครงการเอสเอ็มแอลเพื่อให้เกิดประโยชน์ โดยจะพิจารณางบประมาณให้หมู่บ้านที่ยังไม่เคยได้รับการจัดสรรงบประมาณเป็น 2 เท่าจากหมู่บ้านปกติที่เคยได้รับงบประมาณแล้ว และสำหรับหมู่บ้านที่เคยได้รับงบประมาณแล้วจะได้รับเพิ่มอีก 1 เท่า เพื่อทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ สอดคล้องกับมาตรการรองรับปัญหาการว่างงานได้ 5 แสนคน

ขณะเดียวกัน มีมาตรการให้เงินช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปอย่างทั่วถึงเป็นภารกิจเร่งด่วน รวมถึงการสร้างโอกาส และสร้างงานเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับอาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กว่า 8 แสนคนทั่วประเทศ ควบคู่กับการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองด้านค่าเล่าเรียนของบุตรหลานในโครงการเรียนฟรี 15 ปี โดยในการเปิดภาคเรียนที่ 2 ประจำปี 52 จะต้องไม่เกิดปัญหากู้หนี้ยืมสินเพื่อใช้ซื้ออุปกรณ์การเรียนของนักเรียน เช่น แนวคิดการยืมตำราเรียนจากห้องสมุดกลางของแต่ละโรงเรียน เป็นต้น

นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า ยังมีมาตรการลดค่าครองชีพแก่ประชาชน โดยการดำเนินนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือนฝ่าวิกฤตชาติ ต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดก่อน ภายใต้เงื่อนไขต้องสร้างวินัยการประหยัดให้กับประชาชนด้วย รวมถึงการดูแลผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยว การส่งออก ให้ได้รับมาตรการลดหย่อนภาษีจากกระทรวงการคลัง โดยเฉพาะการดูแลภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีภาคการจ้างงานเกี่ยวเนื่องจำนวนมาก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาคอนโดมิเนียมมีมากกว่าความต้องการ ทำให้ผู้ประกอบการขายอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้และเกิดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในระบบสถาบันการเงินตามมา

นายบัณฑูร สุภัควณิช ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า ภายในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.นี้ สำนักงบประมาณ (สงป.) กระทรวงการคลัง จะมีการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อประชุมจัดทำกรอบเพื่อจัดทำงบประมาณประจำปี 53 ทั้งนี้ ยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะทำงบประมาณขาดดุล 3.5 แสนล้านบาท เพราะในปีงบประมาณประจำปี 52 รัฐบาลตั้งงบประมาณรายจ่ายประมาณ 1.835 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณขาดดุล 2 แสนกว่าล้านบาท จากเพดานขาดดุลที่สามารถทำได้ถึง 4 แสนล้านบาท จึงเชื่อว่ายังมีพื้นที่เหลือให้จัดทำงบประมาณขาดดุลได้ โดยเฉพาะหลายฝ่ายคาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้จะโต 0% นั้น คงต้องจัดทำงบประมาณขาดดุลเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายอย่างรุนแรง

เบื้องต้นรัฐบาลยังมีแนวคิดช่วยเหลือคนตกงาน โดยจะมีการเสนอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดอบรมฝีมือและจัดจ้างแรงงานประมาณ 5 แสนคน ให้ไปช่วยงานในองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็นเวลาประมาณ 6 เดือน คิดค่าตอบแทนเดือนละประมาณ 5,000 บาท แต่ยังไม่มีข้อสรุป ขึ้นอยู่กับกรมแรงงานและสวัสดิการสังคม กระทรวงแรงงานจะพิจารณาแนวทางช่วยเหลือที่ชัดเจนต่อไป นายบัณฑูร กล่าว

ส่วนงบประมาณค้างท่อในส่วนของอปท. ประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาทนั้น ได้รายงานให้นายกฯ รับทราบแล้วว่าเม็ดเงินไม่สามารถลงไปสู่ท้องถิ่นได้ เพราะไม่มีการประชุมคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณา ซึ่งนายกฯ จะเร่งรัดการเบิกจ่ายให้เงินค้างท่อดังกล่าวออกมาอย่างรวดเร็วภายในเดือนม.ค.นี้

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.เห็นชอบแผนและปฏิทินการจัดทำงบกลางปีเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ ปี 52 ทั้งนี้ วันที่ 7 ม.ค.นี้ ครม.เศรษฐกิจจะมีการหารือแนวทางการจัดสรรงบประมาณกลางปีที่เพิ่มเติม 100,000 ล้านบาท จากนั้นวันที่ 13 ม.ค. ครม.จะพิจารณาแผนการใช้งบประมาณของหน่วยงานต่างๆ และวันที่ 20 ม.ค. ครม.จะสรุปรายละเอียดการใช้งบกลางปีทั้งหมด เพื่อเสนอรัฐสภา โดยจะประชุมวาระแรกวันที่ 28 ม.ค. วันที่ 11 ก.พ. พิจารณาวาระ 2 และ 3 จากนั้นวันที่ 20 ก.พ. จะเสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภา วันที่ 24 ก.พ. น่าจะสามารถนำทูลเกล้าฯ ถวายลงพระปรมาภิไธย เพื่อให้งบกลางปีเริ่มออกสู่ระบบในช่วงเดือนมี.ค. สำหรับการจัดทำงบประมาณประจำปีงบประมาณ ปี 53 จะเดินหน้าวางกรอบควบคู่จัดทำงบกลางปี 100,000 ล้านบาท เพื่อให้ทันวันที่ 1 ต.ค. 52

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook