อุตฯเซ่นพิษเศรษฐกิจ โละคนงาน-ดิ้นหนีตาย

อุตฯเซ่นพิษเศรษฐกิจ โละคนงาน-ดิ้นหนีตาย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เมื่อมีการฟันธงกันว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะถึงขั้นเผาจริง

สัญญาณเตือนภัยอย่างหนึ่งคือ ปรากฏการณ์เลิกจ้าง ปิดโรงงานทิ้ง ที่กลายเป็นข่าวหนาหูขึ้นเรื่อยๆ

การเลิกจ้างงานเริ่มเกิดขึ้นอย่างผิดปกติในช่วงไตรมาส 3 ของปี51 เริ่มแรกเกิดกับพนักงานของธนาคารและบริษัททางการเงินในสหรัฐและยุโรปที่ประกาศล้มละลาย

ต่อมาในช่วงไตรมาส 4 ปี51 บริษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ของโลก ทยอยประกาศลดพนักงาน อาทิ บริษัท เจเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ส

ส่วนบริษัทอุตสาหกรรมในญี่ปุ่นไม่น้อยหน้า โซนี่ คอร์ป ประกาศลดพนักงานทั่วโลก ชะลอแผนการลงทุน รวมทั้งถอนตัวจากธุรกิจที่ไม่ทำกำไร ค่ายรถยนต์โตโยต้า ประกาศลดพนักงาน ส่วนบริษัทกล้อง นิคอน ไม่น้อยหน้าประกาศลดพนักงานเช่นกัน

ข่าวปลดคนงานที่เกิดขึ้นในปี51 คงเป็นแค่น้ำจิ้ม เพราะการปลดหรือลดพนักงานคงจะตามมาอีกเรื่อยๆ ในปี52 เพราะมีการประเมินแล้วว่าเศรษฐกิจโลกในปี52 คงอยู่ในภาวะที่ไม่ดีนัก เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีสินค้าขายไม่ออก อุตสาหกรรมต้องลดการผลิต เพื่อลดภาระ

แผนหนึ่งในการลดภาระคือการลดพนักงาน กระทบต่อเนื่องกันไปเป็นลูกโซ่

-ปี52เตะฝุ่น2ล้านคน

นายโอฬาร ไชยประวัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ระบุชัดว่าเศรษฐกิจไทยนับจากนี้ไปคงไม่เติบโต หรือดีสุดอยู่แค่ 0% มีแนวโน้มว่าในปี52 จะมีคนตกงานถึง 2 ล้านคน แบ่งเป็นคนงานในภาคการผลิต-อุตสาหกรรม 1 ล้านคน และคนงานในภาคท่องเที่ยวที่หดหายไปจากเหตุปิดสนามบินอีก 1 ล้านคน

ความเห็นของนายโอฬาร เกิดขึ้นหลังจากที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่าในปี52 จะมีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมตกงานอย่างน้อย 1 ล้านคน และมากสุดอาจถึง 2 ล้านคน

ส.อ.ท.ส่งสัญญาณเตือนในเรื่องการตกงานมายังภาครัฐตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 3 ปี51 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีปัญหามาจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ กำลังซื้อลดลงส่งผลกระทบต่อยอดขายในสินค้าอุตสาหกรรม มีอุตสาหกรรมบางกลุ่มที่คำสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) เริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัดประมาณ 15-30%

โดยอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มจะปลดคนงานจากออร์เดอร์ลด อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เซรามิก ของเล่นเด็ก และสินค้าฟุ่มเฟือย

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานส.อ.ท. กล่าวว่า ปัญหาการว่างงาน 1 ล้านคนนั้นไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินจริง จึงไม่อยากให้ภาครัฐนิ่งนอนใจ เพราะเมื่อสินค้าขายไม่ได้ก็ต้องลดคนงานลง และที่ผ่านมาบริษัทใหญ่ก็ประกาศแผนลดคนงานออกมาหลายแห่งแล้ว โดยตลาดหลักในการส่งออกของไทย อาทิ สหรัฐและญี่ปุ่น เริ่มมีภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย

-ตัวเลขรัฐชี้ตกงานยังน้อย

ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานระบุว่า ไทยมีแรงงานในระบบประมาณ 38 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานในภาคเกษตร 29 ล้านคน แรงงานในภาคอุตสาหกรรม 9 ล้านคน

ปกติภาวะว่างงานจะอยู่ที่ 1.4% หรือประมาณ 4-6 แสนคน วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับไทยเมื่อปี40 เกิดการว่างงานอยู่ที่ 4.6% หรือประมาณ 1.3 ล้านคน

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่า อัตราการว่างงานช่วงปี51 ยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ในปี52 การว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากผลกระทบของวิกฤตการเงินและเศรษฐกิจโลก

นักศึกษาจบใหม่ปี52 จะหางานลำบากขึ้น และจะมีผู้ว่างงานกว่า 9 แสนคน หรืออัตราการว่างงานที่ 2-2.5% ตรงนี้ยังไม่รวมการว่างงานจากผลกระทบการปิดสนามบิน ที่ธุรกิจท่องเที่ยวช่วงปลายปี51 อยู่ในอาการขั้นโคม่า

แม้เอกชนพูดตัวเลขตกงานในระดับล้านคน แต่จากข้อมูลของกระทรวงแรงงานพบว่าตั้งแต่เดือนม.ค.-ต้นเดือนธ.ค.มีสถานประกอบการปิดกิจการเพียง 519 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 44,794 คน มีแนวโน้มที่สถานประกอบการที่มีแนวโน้มจะถูกเลิกจ้างอีก 2,000 แห่ง ลูกจ้าง 83,721 คน

ส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมพบว่าตัวเลขของโรงงานที่มาเลิกกิจการช่วง 11 เดือนปี51 อยู่ที่ 1,979 แห่ง จำนวนแรงงานที่ถูกเลิกจ้างกว่า 53,000 คน ส่วนโรงงานที่เกิดใหม่มีจำนวน 3,947 แห่ง จำนวนคนงานเกือบ 100,000 ราย

นายรัชดา สิงคาลวณิช อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุว่า ตัวเลขโรงงานที่เลิกจ้างงานอาจจะน้อยกว่าความรู้สึก เพราะบางครั้งผู้ประกอบการไม่มาแจ้งแม้จะมีโรงงานเลิกกิจการไปแล้ว จึงน่าจะเห็นตัวเลขชัดเจนในช่วงต้นปี52

-ลุ้นรัฐเร่งมาตรการเยียวยา

มาตรการดูแลผู้ใช้แรงงานยังไม่เห็นออกมาเป็นรูปธรรม นโยบายการแก้ปัญหาวิกฤตการเลิกจ้างที่กระทรวงแรงงานเตรียมไว้ยังไม่ถูกนำมาใช้ เพราะต้องรอให้ครม.ชุดใหม่เห็นชอบในเรื่องงบประมาณ 1,536 ล้านบาท

ส่วนแนวทางการดูแลภาคอุตสาหกรรมไม่ให้ปิดตัวลงนั้น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) นำมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี40 ปัดฝุ่นกลับมาใช้ใหม่ เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการและผู้ส่งออก

โดยผู้ประกอบการ 14 กลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องหนัง รองเท้า ของเด็กเล่น สิ่งทอ สิ่งพิมพ์ อัญมณีและเครื่องประดับ สามารถขอใช้สิทธิ์นำเข้าวัตถุดิบได้ไม่ต้องเสียภาษี ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการใช้หนังสือค้ำประกันของธนาคาร

ส่วนมาตรการยาแรงทั้งในเรื่องกระตุ้นการบริโภค การลงทุน งบกระตุ้นเศรษฐกิจ 1 แสนล้านบาท ลดภาษีนิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ยังไม่ได้คลอดออกมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม

-อุตสาหกรรมอาหารย่ำแย่

อุตสาหกรรมอาหารที่เคยรับทรัพย์จากราคาพืชผลทางการเกษตรปรับสูงขึ้น ออร์เดอร์หลั่งไหลเข้ามาจากต่างประเทศ แต่ในช่วงปลายปี51 ฝันต้องสลายเมื่อเกิดเหตุปิดสนามบิน ลูกค้าในหลายผลิตภัณฑ์ไม่สามารถเดินทางเจรจาสั่งซื้อสินค้าใน ไทยได้

ประกอบกับราคาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรหลายตัวปรับลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะกำลังซื้อจากตลาดส่งออกหลักไม่ดีนัก จึงทำให้อนาคตไม่สดใสอีกต่อไป

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ระบุว่าในปี52 การส่งออกสินค้าอาหารในปีหน้าจะเหลือเพียง 7.6 แสนล้านบาท ติดลบ 5% จากปี51 ที่คาดว่าการส่งออกสินค้าอาหารอยู่ที่ 8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 29.6%

ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่อุตสาหกรรมอาหารมีภาวะส่งออกที่ติดลบ เมื่อการส่งออกอาหารของไทยชะลอตัว ผู้ประกอบการต้องปรับลดการผลิตลง อาจมีโรงงานหลายแห่งต้องปิดกิจการ ขณะที่บางส่วนอาจเลิกจ้างงานหรือปรับลดชั่วโมงการทำงานลง

จากข้อมูลของกรมโรงงานพบว่า ในปี50 ไทยมีคนงานในอุตสาห กรรมอาหาร 1.37 ล้านคน จากโรงงานอาหารทั่วประเทศ 8,750 แห่ง

-สิ่งทอยังสดใส-รับคนเพิ่ม

แม้อุตสาหกรรมอื่นๆ มีแนวโน้มปลดคนงาน อุตสาหกรรมสิ่งทอยังขาดแคลนแรงงาน พร้อมทั้งประกาศตั้งโต๊ะรับคนงานเพิ่ม

นายสมศักดิ์ ศรีสุภรวาณิชย์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทอผ้าไทย เปิดเผยว่า ขาดแคลนแรงงานไม่ต่ำกว่า 1 แสนราย เนื่องจากมีโรงงานทยอยเปิดกิจการเพิ่มขึ้น จนผู้ประกอบการเริ่มหันไปใช้แรงงานเพื่อนบ้านจากกัมพูชา พม่า ลาว

ปัจจุบันแรงงานสิ่งทอและเสื้อผ้าทั้งระบบมี 1 ล้านคน คาดว่าปี51 จะส่งออกมูลค่า 7,200 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนปี52 ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 5% หรือมูลค่า 7,500 ล้านเหรียญสหรัฐ

-ยานยนต์ติดกลุ่มดาวร่วง

สิ่ตสาหกรรมรถยนต์ที่เคยเป็นดาวเด่น ขยายโรงงานไม่เว้นแต่ละปี ยอดขายรถยนต์พุ่งกระฉูดจนยอดผลิตทะลุ 1 ล้านคันไปเมื่อ 3-4 ปีก่อน กำไรของค่ายรถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน บางค่ายรถยนต์ซื้อใจพนักงานด้วยโบนัส 12 เดือน แต่เมื่อปี51 ต้องประกาศลดเงินเดือน และลดพนักงานลง

นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวในฐานะนายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ว่า อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ แม้ปี51 ยอดขายจะไม่ได้ปรับลดลง แต่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

ที่หนักใจคือยอดขายรถยนต์ในภาพรวมปี52 น่าจะขยายตัวเฉลี่ยติดลบ 10-20% ผู้ประกอบการพยายามช่วยตัวเองด้วยการลดเวลาการทำงานล่วงเวลา (โอที) ลง ขณะเดียวกันก็ลดกำลังการผลิตลง

ส่วนการปลดพนักงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ 3 แสนคนนั้นคงเป็นไพ่ใบสุดท้ายที่จะทำ

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงปลายปี51 ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มียอดขายลดลง 20-30% ส่งผลกระทบต่อรายได้บริษัท รวมถึงกลุ่มนี้อาจปรับลดคนงาน 2-3 หมื่นคนจากที่มีแรงงานทั้งหมด 2 แสนคน จากแรงงานของอุตสาหกรรมยานยนต์มี 3 แสน โดยอีก 1 แสนคน อยู่ในภาคการผลิตรถยนต์

ขณะนี้ค่ายรถยนต์หยุดการผลิตชั่วคราว 2 เดือน บางแห่งก็ให้ค่าชดเชย 75% ของเงินเดือน และคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในเดือน ก.พ. 52 ขณะที่บางค่ายก็ไม่ต่อสัญญากับบริษัทรับจ้างชั่วคราว (ซับคอนแทร็กต์) หรือปลดพนักงานซับคอนแทร็กต์ รวมถึงการใช้นโยบายให้พนักงานสมัครใจลาออกโดยให้เพิ่มเงินชดเชยเพิ่มเติม จากที่กฎหมายกำหนด

นายวัลลภ เตียศิริ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ มองว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมรถยนต์ในขณะนี้คงจะไม่เลวร้ายเท่ากับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี40 ที่ทำให้ยอดผลิตรถยนต์ลดลงถึง 75% เนื่องจากขณะนั้นอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยพึ่งพาตลาดในประเทศเป็นหลัก แต่ขณะนี้ไทยส่งออกรถยนต์มีสัดส่วนสูงกว่าตลาดในประเทศ ดังนั้น ผลกระทบจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์จะกว้างและลากยาวกว่าช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง

อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยจะฟื้นตัวเร็วแค่ไหน คงอยู่ที่ว่าประเทศมหาอำนาจจะมีมาตรการมาดูแล และทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วหรือไม่

โดยคาดว่าปี52 ยอดผลิตรถยนต์ในภาพของไทยจะลดลง 15-20% หรือเหลือยอดผลิตรถยนต์เพียง 1.2 ล้านคัน ลดลงจากปีนี้ที่ยอดผลิตอยู่ที่ 1.4 ล้านคัน

-อิเล็กทรอนิกส์ทยอยปิดตัว

สิ่งที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมอิเล็ก ทรอนิกส์ที่สาหัสสุดคงหนีไม่พ้นกรณีปิดสนามบิน ทำให้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอ นิกส์ที่ต้องส่งทางเครื่องบินหยุดชะงักลง ปกติอุตสาหกรรมนี้ต้องทำงานแข่งกับเวลาเมื่อส่งสินค้าล่าช้า ออร์เดอร์ต้องลดลง

และมีบริษัทถูกปรับจากการส่งมอบสินค้าล่าช้า เป็นเงินถึง 100,000 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมง หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 3.5 ล้านบาทต่อชั่วโมง

นายขัติยา ไกรกาญจน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรม ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากปัญหาปิดสนามบินทำให้โรงงานในกลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หยุดผลิตไปแล้ว 2 ราย

คาดว่าการส่งออกเดือนธ.ค.ที่ผ่านมาของกลุ่มไฟฟ้าฯ จะหายไป 10-50% จากยอดส่งออกรวม 1.6 ล้านล้านบาท

มีความเป็นห่วงแรงงานในอุตสาหกรรมนี้กว่า 2 แสนคน ที่อาจได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ลดลง

-เครื่องประดับปรับตัว

ยอดขายที่ลดลงของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับทำให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) คาดการณ์ว่าจะมีแรงงานถูกเลิกจ้างกว่า 4 หมื่นคน จากจำนวนแรงงานในอุตสาหกรรมนี้ทั้งหมดกว่า 1 ล้านคน

และมีความเสี่ยงว่าแรงงานอีก 4 แสนคนจะถูกเลิกจ้างหากการส่งออกยังลดลงเรื่อยๆ

นายปรีดา เตียสุวรรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมตลาดอัญมณีและเครื่องประดับจะโตลดลง 20-30% แต่ในส่วนของบริษัทเองคาดว่าปี52 น่าจะมีรายได้ลดลงเพียง 5% เพราะกระจายความเสี่ยงด้วยการเปิดตลาดใหญ่อย่างจีนและอินเดีย

โดยช่วง 2 ปีข้างหน้าการดำเนินธุรกิจต้องระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องสภาพคล่องและเงินสด โดยบริษัทต้องหยุดการลงทุนไว้ก่อน เพราะต้องรักษาตัวให้เจ็บน้อยที่สุด และต้องพยายามประคองให้ผ่านช่วง 2 ปีนี้ คงจะไม่เพิ่มแรงงาน

ส่วนแรงงานชั่วคราวคงจะไม่มีการจ้างต่อ

อุตสาหกรรมที่เคยเป็นพระเอกในปีที่ผ่านๆ มา ต่างก็ส่ายหัวกับปัจจัยลบที่เกิดขึ้นตลอดปี51 แต่ยังดีหน่อยที่เก็บบุญเก่าไว้ตั้งแต่ช่วงต้นปี การเลิกจ้าง ปิดโรงงานจึงไม่มาก

ในช่วงปี52 สิ่งที่เอกชนคาดหวังคือขอให้การเมืองไทยมีเสถียรภาพ ลำพังแค่เศรษฐกิจโลกถดถอยรับมือลำบากแล้ว

ถ้าการเมืองยังวุ่นวายไม่หยุด อุตสาหกรรมคงพังไม่เหลือซาก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook