สถาบันการเงินไทย ฝ่ามรสุมวิกฤตโลก

สถาบันการเงินไทย ฝ่ามรสุมวิกฤตโลก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
51 ที่ผ่านมา สถาบันการเงินในไทย ต่างสร้างเกราะกำบังตัวเองอย่างแข็งแกร่ง จากวิกฤตการเงินสหรัฐ ที่ลามไปทั่วโลก

เนื่องจากบทเรียนวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี40 ที่ต้นตอปะทุมาจากวิกฤตค่าเงินในประเทศไทย จนลุกลามไปทั่วภูมิภาคเอเชีย ทำให้สถาบันการเงินต่างตื่นตัวในการดูแลตัวเอง เพื่อไม่ให้ล้มระเนระนาดเช่นเดียวกับสถาบันการเงิน 56 แห่ง ที่ถูกระงับการดำเนินกิจการจากวิกฤตคราวนั้น

ประเทศไทยใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่เป็นเพียงการเยียวยาให้ออกจากห้องไอซียูได้เท่านั้น เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยยังโคลงเคลง ทั้งจากปัญหาการเมืองภายในประเทศ และปัจจัยภายนอกประเทศ

ไม่ทันไรก็ผจญกรรมอีกครั้ง จากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ไครซิส หรือ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เมื่อช่วงกลางปี50 ซึ่งเกิดจากปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพด้านอสังหาริมทรัพย์ (ซับไพรม์) ในสหรัฐ

วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ได้กระจายวงกว้างไปทั่วโลก ทำให้ตลาดหุ้น ตลาดสินเชื่อ และระบบสถาบันการเงินระส่ำไปตามๆ กัน

เพียงไม่ถึงปี หรือเมื่อ 15 มี.ค. 51 ก็เกิด ยักษ์ล้ม

โดยเฉพาะการล้มละลายของบริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส จำกัด วาณิชธนกิจขนาดใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐ ซึ่งมีอายุยาวนานถึง 158 ปี หลังจากธนาคารบาร์เคลย์ จากอังกฤษ ถอนตัวในการเข้าซื้อกิจการ

ส่งผลให้วิกฤตการเงินของสหรัฐฟาดงวงเข้าสู่ตลาดหุ้นทั่วโลก

นอกจากนี้ ยังมีสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในสหรัฐอีกหลายแห่งเผชิญกับภาวะล้มละลาย แม้จะรอดมาได้ก็อย่างทุลักทุเล

อย่างบริษัท เมอร์ลิน ลินช์ แอนด์ โค อิงค์ วาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 3 ของสหรัฐ หรือ บริษัท อเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป (เอไอจี) บริษัทประกันรายใหญ่ของสหรัฐ

วิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐ จึงเป็นสัญญาณร้ายเตือนภัยมายังระบบสถาบันการเงินทั่วโลกให้พร้อมรับมือกับวิกฤตการเงินรอบใหม่

สําหรับ เลห์แมน เคยโกยกำไรเป็นกอบเป็นกำจากวิกฤตเศรษฐกิจในไทยเมื่อปี40 จากการเข้ามากว้านซื้อสินทรัพย์ต่างๆ ในไทยที่มีราคาถูกมากเพียง 10-20% จากราคาจริง จากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.)

กระทั่งปี41 ตกเป็นหนึ่งในจำเลยในคดีการขายทอดตลาดสินทรัพย์กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ของ 56 สถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการของปรส. ด้วยข้อกล่าวหากระทำโดยมิชอบ

และเมื่อวันที่ 9 ก.ย.51 กรมสอบสวนคดีพิเศษ และอัยการได้สั่งฟ้องคดีนี้

เลห์แมน มีมูลค่าการลงทุนในไทยประมาณ 40,000-50,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของ อสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงแรมและสำนักงานให้เช่า พื้นที่รวม 100,000 ตารางเมตร

เช่น ตึกอิตัลไทย, ตึกเมอร์คิวรี่, ตึกเมืองไทยภัทร และตึกแปซิฟิค แอสเซ็ทส์ ย่านสุขุมวิท

เมื่อเกิดภาวะล้มละลาย สินทรัพย์ที่มีอยู่ทั้งหมดต้องถูกขายออกเพื่อนำเงินไปช่วยบริษัทแม่

ส่วนการปิดฉากของเลห์แมน สถาบันการเงินของไทยได้รับผลกระทบอยู่ในวงจำกัด

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้กำ กับดูแลธนาคารพาณิชย์ไทย ได้สำรวจความเสียหายจากธนาคารพาณิชย์ พบว่าตัวเลขการลงทุนของธนา คารพาณิชย์ไทยในเลห์แมน มีราว 6,000 ล้านบาท

จากจำนวนสินทรัพย์รวมที่ธนาคารพาณิชย์ไทยไปลงทุนในต่างประเทศ ณ สิ้นเดือนก.ค.51 มีมูลค่า 102,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.3% ของสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ

โดยธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ลงทุนในหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ ของเลห์แมน 3,500 ล้านบาท แต่ผู้บริหารยืนยันไม่ส่งผลให้ธนาคารต้องขาดทุนสุทธิเนื่องจากยังมีกำไรจากการดำเนินงาน

ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทิสโก้ และธนาคารนครหลวงไทย แม้จะไม่มีการลงทุนโดยตรง แต่ก็มีการปล่อยกู้ให้บริษัทลูกของเลห์แมน แห่งละ 330, 1,300 และ 1,000 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ยอมรับว่า ก่อนหน้านี้มีการลงทุนในหุ้นกู้ของเลห์แมน แต่ขายไปเรียบร้อยแล้ว

ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังยืนยันว่า โครง สร้างทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ไทยมีความเสี่ยงต่ำ (ดูรูปประกอบ)

โดยข้อมูลเมื่อก.ย.51 ธนาคารพาณิชย์ยังคงดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 1% คิดเป็น 3.6 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรง อัตราเงินสินเชื่อต่อเงินฝากเท่ากับ 92.8%

สะท้อนสภาพคล่องในระบบที่ยังมีอยู่เพียงพอ

ส่วนสินเชื่อที่ให้แก่ธุรกิจส่งออกและท่องเที่ยวคิดเป็นประมาณ 20% ของสินเชื่อรวมทั้งหมด การลงทุนในหลักทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ประสบปัญหามีอยู่ต่ำเพียง 0.44% ของสินทรัพย์รวม ธนาคารพึ่งพิงเงินกู้ไม่มาก และส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ในประเทศ

ด้านลูกค้าเงินกู้ต่างประเทศมีเพียง 0.8% ของหนี้สินรวม ฐานะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเข้มแข็งอยู่ที่ 15% จากมาตรฐานที่กำหนด 8.5%

แม้สถาบันการเงินไทยจะได้รับผลกระทบทางอ้อมมากกว่าทางตรง เนื่องจากวิกฤตการเงินในสหรัฐจะส่งผลต่อบริษัทและสถาบันการเงินในสหรัฐเกือบทุกแห่ง บริษัทแม่ในสหรัฐจึงต้องดึงเม็ดเงินลงทุนกลับไปช่วยพยุงสถานะของบริษัทแม่

อาจส่งผลให้เกิดภาวะเงินตึงตัวในประเทศไทย

เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ เพราะกลัวเกิดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)

ช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา จึงพยายามกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้เข้าสู่ระบบมากขึ้น เพื่อให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

แต่นายแบงก์ต่างก็ส่งสัญญาณการปล่อยกู้อย่างเข้มงวดมากขึ้น

โดยนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมธนาคารไทย ให้เหตุผลว่า ในภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ทำให้ลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจบางรายไม่มีคุณสมบัติตามมาตรฐานที่ธนาคารทุกแห่งใช้เป็นเกณฑ์ในการอนุมัติสินเชื่อ

หรือบางรายต้องใช้เวลาพิจารณาอนุมัติสินเชื่อนานขึ้น

ขณะเดียวกัน สถานการณ์แข่งขันของธนาคารพาณิชย์ยังมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ธนาคารจึงต้องปรับตัวเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้ลูกค้า โดยเฉพาะเมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก การระดมเงินฝากจะเป็นส่วนสำคัญมากขึ้น

โดยต้องเร่งสร้างความแข็งแกร่ง เพื่อความอยู่รอด โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กและขนาดกลาง อาจต้องหาพันธมิตรเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจและความเชื่อมั่นของลูกค้า

ดังนั้น แต่ละธนาคารจึงต้องมีกลยุทธ์ดึงดูดให้ลูกค้าใช้บริการเงินฝากกับธนาคาร เพื่อเป็นการรักษาฐานเงินฝากของลูกค้ารายเดิม และขยายฐานลูกค้าเงินฝากรายใหม่

สำหรับพ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก มีผลบังคับ ใช้เมื่อวันที่ 11 ส.ค.51

กฎหมายฉบับใหม่นี้จะทยอยลดการคุ้มครองผู้ฝากเงินเต็มจำนวนเป็นจำนวนที่กำหนดตามกฎหมาย ซึ่งในปีแรก (11 ส.ค.51-10 ส.ค.52) สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนเพื่อให้ผู้ฝากและธนาคารได้มีเวลาในการปรับตัวก่อนที่จะเข้าสู่ปีที่ 2 (11 ส.ค.52-10 ส.ค.53) ให้การคุ้มครองเงินฝาก 100 ล้านบาท

ในปีที่ 3 (10 ส.ค.53-10 ส.ค.54) จะคุ้มครองเงินฝาก 50 ล้านบาท

ในปีที่ 4 (11 ส.ค.54-10 ส.ค.55) จะคุ้มครองเงินฝาก 10 ล้านบาท

และนับจากวันที่ 11 ส.ค.55 ที่เข้าสู่ปีที่ 5 เป็นต้นไป สถาบันจะคุ้มครองเงินฝาก 1 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงินแต่ละแห่งเท่านั้น

แต่จากวิกฤตการเงินสหรัฐ จึงเกรงว่าธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินในไทยจะได้รับผลกระทบ กระทรวงการคลังจึงเสนอคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ยืดเวลาคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนออกไป 3 ปี จากเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 10 ส.ค.52 เป็นวันที่ 10 ส.ค.54

สถาบันการเงินที่จะอยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก ประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ 34 แห่ง, บริษัทเงินทุน(บง.) 5 แห่ง และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (บค.) รวม 3 แห่ง

จากข้อมูลของฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ ระบุว่า เงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์ จำนวน 34 แห่ง เมื่อเดือนมิ.ย.51 มีจำนวน 6,588.2 พันล้านบาท ถ้าเทียบกับเดือนพ.ค. ลดลงถึง 391.6 พันล้านบาท หรือลดลง 5.6% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วหดตัว 0.8%

หากเปรียบเทียบเฉพาะธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่ง พบว่า ธนาคารที่มีเงินฝากขยายตัวสูงสุด คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ขยายตัว 8.5% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

รองลงมา ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย ขยายตัว 6.3% และธนาคารกรุงเทพ ขยายตัว 1.3% ส่วนธนาคารกรุงไทย มีเงินฝากลดลง 0.2% ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีเงินฝากลดลง 8.1%

สำหรับสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ จำนวน 34 แห่ง ในเดือนมิ.ย.51 มีจำนวน 5,959.7 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 87.3 พันล้านบาท ขยายตัว 9.9% แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วขยายตัว 1.5%

สําหรับข้อมูล ณ วันที่ 8 ส.ค.51 มีบัญชีเงินฝากทุกประเภทที่เป็นเงินบาทในบัญชีเงินฝากภายในประเทศ ที่อยู่ในระบบสถาบันการเงิน 74,610,874 บัญชี รวมเป็นเงิน 6,930,291 ล้านบาท

แยกเป็นบัญชีที่มีเงินฝากต่ำกว่า 1 ล้านบาท จำนวน 73,725,338 บัญชี หรือคิดเป็น 98.81% ของบัญชีเงินฝากทั้งระบบ รวมเป็นเงิน 1,867,571 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 26.95% ของเงินฝากทั้งระบบ แยกย่อยเป็น

ไม่เกิน 5 หมื่นบาท มี 66,359,035 บัญชี รวมเป็นเงิน 278,679 ล้านบาท

ตั้งแต่ 5 หมื่นบาทถึง 1 แสนบาท มี 2,734,445 บัญชี รวมเป็นเงิน 193,624 ล้านบาท

ตั้งแต่ 1 แสนบาทถึง 2 แสนบาท มี 2,121,537 บัญชี รวมเป็นเงิน 291,574 ล้านบาท

ตั้งแต่ 2 แสนบาทถึง 5 แสนบาท มี 1,732,680 บัญชี รวมเป็นเงิน 543,821 ล้านบาท

ตั้งแต่ 5 แสนบาทถึง 1 ล้านบาท มี 777,641 บัญชี รวมเป็นเงิน 559,873 ล้านบาท

ส่วนบัญชีเงินฝากที่สูงกว่า 1 ล้านบาท มี 885,535 บัญชี หรือคิดเป็น 1.19% ของบัญชีเงินฝากทั้งระบบ รวมเป็นเงินทั้งหมด 5,066,720 ล้านบาท แยกย่อยเป็น

บัญชีเงิน 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 10 ล้าน มี 815,746 บัญชี รวมเป็นเงิน 2,078,524 ล้านบาท

เกิน 10 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 25 ล้านบาท มี 47,714 บัญชี รวมเป็นเงิน 711,309 ล้านบาท

เกิน 25 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาท มี 13,029 บัญชี รวมเป็นเงิน 455,264 ล้านบาท

เกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท มี 5,345 บัญชี รวมเป็นเงิน 377,979 ล้านบาท

เกิน 100 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท มี 2,086 บัญชี รวมเป็นเงิน 292,053 ล้านบาท

เกิน 200 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 500 ล้านบาท มี 1,052 บัญชี รวมเป็นเงิน 320,985 ล้านบาท

ตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป มี 563 บัญชี รวมเป็นเงิน 830,606 ล้านบาท

ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกจึงนับเป็นเรื่องที่ท้าทายทั้งภาคสถาบันการเงินและภาคธุรกิจ

และเป็นหน้าที่สำคัญของธนาคารแห่งประเทศไทย ในการดูแลนโยบายการเงิน เพื่อดูแลการขยายตัวของเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ การดูแลสภาพคล่อง การปล่อยสินเชื่อในระบบ และความเข้มแข็งของสถาบันการเงิน

นอกจากนี้ นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ยืนยันว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะใช้หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเงินกองทุนของสถาบันการเงิน Basel II ในปี52 มาบังคับใช้กับธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง เพื่อให้หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเงินกองทุนสามารถสะท้อนความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น

Basel II ประกอบด้วย 3 หลักการ หรือที่นิยมเรียกกันว่า 3 Pillars ได้แก่ Pillar I หลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำ เพื่อรองรับความเสี่ยงด้านเครดิต ด้านตลาด และด้านปฏิบัติการ

Pillar II การกำกับดูแลโดยทางการ และ Pillar III การใช้กลไกตลาดในการกำกับดูแล

ถือเป็นการสร้างความมั่นใจในระบบสถาบันการเงินได้ระดับหนึ่ง

แต่จากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ที่กูรูทั่วโลกต่างฟันธงว่าปีนี้ถึงขั้นเผาจริง จึงนับเป็นมรสุมลูกใหญ่ที่สถาบันการเงินในไทยจะต้องฝ่าฟันไปให้ได้

พร้อมๆ กับการยึดโจทย์หลักเรื่อง การรักษาสภาพคล่องในประเทศ และสกัดเงินในประเทศเอาไว้

เพื่อไม่ให้ เงินฝืด ที่หลายคนกังวลมาเยือน

ที่สำคัญเพื่อช่วยฉุดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยให้พ้น 0% ขึ้นมาให้ได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook