บริหารเงินแบบคนดัง (1)

บริหารเงินแบบคนดัง (1)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ว่ากันว่า ปี 2551 ที่กำลังจะผ่านไป เป็นปีที่คนส่วนใหญ่ห่วงเรื่อง บริหารเงิน โดยเน้นเรื่องของ ความเสี่ยง มากกว่าการแสวงหา ผลตอบแทน เพราะบรรยากาศการลงทุนที่ไม่เอื้ออำนวย ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจทั้งของไทยและของโลกกำลังเผชิญภาวะถดถอย

// //

แต่ในโลกของความเป็นจริง ผู้คนที่อยู่ในแวดวงเงินๆ ทองๆ มีหลักคิดเรื่องการบริหารเงินแบบไหน อย่างไร จะเน้น ความเสี่ยง มากกว่า ผลตอบแทน จริงหรือไม่ สกู๊ปเงินทองฉบับส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ มีคำตอบให้ติดตามกันแบบ 2 ตอนเต็มๆ

เปิดรับทุกโอกาสลงทุน

กัณฑรัตน์ เจิมจิตรผ่อง ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เคทีซี ผู้หญิงเก่งและสวยที่มีชีวิตคลุกคลีกับเรื่องเงินๆ ทองๆ ตลอดระยะเวลา 12 ปี เป็นคนหนึ่งที่ยอมรับว่า ทุกโมเมนท์ของชีวิตคือการลงทุน

ที่จริงมีคุณแม่เป็นต้นแบบคนแรก เพราะเป็นคนที่สอนเรามาตลอดว่า การทำงานต้องหนักเอา เบาสู้ และต้องรู้จักอดออม มีเงินต้องรู้จักนำไปลงทุน จึงอยากให้เราทำธุรกิจส่วนตัวมากกว่า เราก็เลยถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กเกี่ยวกับการลงทุน โดยเฉพาะในอสังหาริมทรัพย์และที่ดิน ถูกสอนให้ดูที่ดินตั้งแต่เด็กว่าตรงนี้ดีไหม เพราะอะไร ซื้อห้องแถวแบบไหนดี เราจึงซึมซับในเรื่องของที่ดินมาพอสมควร

กัณฑรัตน์ บอกว่า โดยส่วนตัวเป็นคนที่รู้จักใช้เงิน และระมัดระวังในการใช้จ่าย จึงต้องทำงานหนักเพื่อให้ได้เงินเดือนที่ดี โบนัสที่ดี และที่สำคัญไม่เคยดูถูกเงิน ถ้ามีช่องทางในการหารายได้ ถึงแม้เงินที่ได้คนอื่นอาจจะมองว่าน้อยนิด แต่ก็ไม่เคยปฏิเสธถ้ามีโอกาส

นั่นทำให้ผู้หญิงคนนี้เคยผ่านทั้งงานเขียนหนังสือ หรือแปลภาพยนตร์มาแล้ว โดยเงินที่หาได้ส่วนหนึ่งก็นำไปลงทุนเพื่อต่อยอดเป็นการเพิ่มมูลค่า

ส่วนสไตล์การลงทุนส่วนตัว มีทั้งที่เป็นทั้งรุกและรับ โดยพอร์ตการลงทุนส่วนใหญ่กว่า 50-60% จะลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบซื้อคอนโดมิเนียมให้เช่า ซึ่งมองว่า ความต้องการที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมยังมีการเติบโตที่ดี โดยเฉพาะในโลเกชั่นที่ดี ในย่านธุรกิจ และใกล้สถานีรถไฟฟ้า

พร้อมกันนี้ กัณฑรัตน์ ยังจัดสรรเงินส่วนที่เหลือไปลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) รวมทั้งลงทุนในตลาดหุ้น

ที่เราเล่นหุ้น เพราะพื้นฐานส่วนตัวเป็นคนชอบความเสี่ยง ชอบความตื่นเต้นอยู่แล้ว แต่ไม่ลงทั้งหมด จะกันเงินแค่ส่วนหนึ่งไว้ และต้องเป็นเงินที่เย็นจริงๆ เพราะมองว่าตลาดหุ้นเมืองไทยเป็นตลาดที่ขึ้นอยู่กับจิตวิทยาของคน เราจึงเลือกลงทุนในหุ้นพื้นฐานจริงๆ เพราะหากเกิดอะไรขึ้นอย่างน้อยเราก็ได้รับผลตอบแทนในรูปเงินปันผล

เน้นวินัยทางการเงิน

ขณะที่ผู้ประกาศหนุ่มของสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย หรือไทยพีบีเอส ที่วันนี้ควบตำแหน่งบรรณาธิการบริหารอย่าง ธีรัตถ์ รัตนเสวี ยอมรับว่า ทุกวันนี้มีความสุขกับการบริหารเงิน รวมถึงการเผื่อแผ่ความรู้ความเข้าใจเรื่องการลงทุนไปยังคนข้างเคียง

แนวคิดด้านการบริหารเงินของผมคือ ต้องไม่ใช้จ่ายเกินตัว อย่างเรื่องบัตรเครดิต ทุกคนมีบัตรเครดิต แต่ต้องมองว่าบัตรเครดิตเป็นแค่เครื่องมือในการใช้เงิน ซึ่งเราต้องคิดอยู่เสมอว่า มีรายได้เท่าไหร่ และบัตรเครดิตที่ใช้ไปในแต่ละเดือน เราต้องจ่ายเต็ม ผมไม่เคยผ่อนบัตรเครดิตเลย เพราะถือว่าเป็นการสร้างกิเลสให้แก่ตัวเอง เพราะฉะนั้นเราต้องรู้จักประเมินตัวเองว่ามีเงินเท่าไหร่ และควรจะใช้น้อยกว่าที่เราหาได้

แต่ทั้งหลายทั้งปวง ธีรัตถ์ บอกว่า ต้องเริ่มต้นที่การมีเงินออม อย่างตัวของเขาเองที่สิ่งแรกที่ทำในแต่ละเดือน คือ การแบ่งเงินออมไว้ก่อนเลย

จริงๆ แล้ว ผมออมเพื่ออนาคต เพราะเราไม่รู้ว่าบั้นปลายชีวิตเราต้องใช้แค่ไหน อย่างที่หนังสือ ออมก่อนรวยกว่า ของคุณนวพร เรืองสกุล บอกไว้ ยิ่งต้องออมไว้ตั้งแต่นี้คือ คนมักจะคิดว่าใช้เงินไปก่อน อย่างที่คุณนวพร เรืองสกุล บอกในหนังสือว่า อย่างน้อยต้องมีเงินสำรองถึง 6 เท่าของเงินที่ใช้อยู่ ซึ่งผมทำตามแบบนั้นเลย ผมเป็นคนไม่กินเหล้า ไม่เที่ยวกลางคืน เสื้อผ้าก็ไม่ค่อยได้ซื้ออะไร ช็อปปิ้งนี่ลืมไปเลย ผมไม่ได้ไปห้างสรรพสินค้ามานานมากแล้ว

ผู้ประกาศหนุ่มกล่าวด้วยว่า ทุกคนมีความสุขจากการลงทุนได้อย่างไม่ยากเย็น

ลองคิดดูแล้วกันว่า ถ้าเราเก็บเกี่ยวผลตอบแทนจากการบริหารเงินจากกองทุนรวม แล้วพาพ่อแม่ไปเที่ยวได้ จะสุขแค่ไหน อันนั้นแหละคือความสุขของผม ธีรัตถ์ปิดท้ายอย่างอารมณ์ดี

ขวัญชนก วุฒิกุล

k_wuttikul@hotmail.com

ตะลุยข่าว - 388 ศพสึนามิ...ยังไม่ได้กลับบ้าน

แม้พิบัติภัยสึนามิจะผ่านพ้นไปแล้ว 4 ปี ทว่าภาพความเสียหาย การล้มตาย และสูญหายไปของคนอันเป็นที่รัก ยังคงติดตรึงอยู่ในใจเหมือนภาพฝันร้ายในคืนที่แสนยุ่งเหยิง หลายครอบครัวยังทำใจไม่ได้กับมหันตภัยที่เกิดขึ้นกับตนเอง ครอบครัว และธุรกิจ เสียงหวีดร้องโหยหวนและร่ำไห้เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ยังคงก้องอยู่ในมโนสำนึก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook