แฟชั่นเด็กไทยหนีออกจากบ้านต่อรองพ่อแม่

แฟชั่นเด็กไทยหนีออกจากบ้านต่อรองพ่อแม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เมื่อวันที่ 8 มกราคม ที่อาคารเลิศปัญญา มูลนิธิกระจกเงา ภายใต้การสนับสนุนบริษัท แมนเพาเวอร์(ประเทศไทย)จำกัด แถลงข่าว เรื่อง อย่า...ผลักไสให้หนูออกจากบ้าน โดยน.ส.วรรณพร ศรีวัฒนางกูร ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท แมนเพาเวอร์ฯ กล่าวว่า จำนวนผู้สูญหายที่มูลนิธิกระจกเงาได้รับแจ้งตลอดปี 2551 มีจำนวนทั้งสิ้น 330 คน เป็นหญิง 236 คน ชาย 94 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุระหว่าง 11-15 ปี จำนวน 153 คน จากเดิมที่ปี 2550 มีผู้สูญหายเพียง 214 คน เพิ่มขึ้นคิดเป็น 65 % โดยสาเหตุการสูญหาย 3 ลำดับแรก ได้แก่ 1.การถูกล่อลวงทางเพศ 39 % 2.ออกจากบ้านด้วยความสมัครใจ 23 % และ 3.โรคสมองเสื่อม 8 %

จะเห็นว่าสาเหตุบุคคลสูญหายอันดับ 1 ยังเป็นเรื่องของการถูกล่อลวงทางเพศ แต่ที่น่าห่วงอย่างมาก คือการสมัครใจหนีออกจากบ้าน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กประถมฯ - มัธยมฯ ซึ่งพบว่าในปี 2550 มีการออกจากบ้านด้วยความสมัครใจเพียง 27 คน คิดเป็น 13 % แต่ในปี 2551 เป็น 75 คน เพิ่มขึ้นถึง 10 % ส่วนใหญ่เป็นเด็กในเขตเมืองและในจำนวนนี้กว่าครึ่งเป็นเด็กในเขตกทม. น.ส.วรรณพรกล่าว

น.ส.ธิติมา หมีปาน หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า มูลนิธิฯคาดการณ์แนวโน้มเด็กหนีออกจากบ้านด้วยความสมัครใจในปี 2552 จะมีจำนวนมากกว่า 100 คน โดยเฉพาะช่วงปิดเทอม ซึ่งจากการสอบถามเด็กที่ตามกลับบ้านได้ ระบุว่าส่วนใหญ่เป็นเพราะน้อยใจพ่อแม่ รู้สึกอึดอัดเมื่ออยู่ในบ้าน เหมือนตัวเองไม่มีตัวตน ซึ่งเป็นผลจากการที่พ่อแม่ ผู้ปกครองไม่มีเวลาในการพูดคุยกับลูก ทำให้เด็กไม่รู้จะปรึกษากับใคร ทำให้ต้องไปปรึกษาเพื่อนที่ไม่รู้แนวทางในการแก้ปัญหาตามทางที่ถูกต้อง

// //

น.ส.ธิติมา กล่าวอีกว่า เด็กหนีออกจากบ้านที่อายุน้อยที่สุดที่มูลนิธิฯเจอเป็นเด็กชายชาวจ.นครปฐม อายุ 10 ขวบ หนีออกจากบ้านมาอยู่ที่สนามหลวง เนื่องจากน้อยใจแม่ที่ไม่ค่อยพาไปหาตายายในช่วงวันหยุด ซึ่งเป็นเหมือนการต้องการเรียกร้องความสนใจจากแม่ แต่เมื่อสามารถตามเด็กกลับบ้านได้กลับพบว่าหลังจากนั้น 1 สัปดาห์ เด็กหนีออกจากบ้านอีกครั้ง เพราะน้อยใจแม่ที่ตำหนิเรื่องการใช้จ่ายเงินค่าขนมมากเกินไป แต่มูลนิธิฯสามารถช่วยเหลือกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย ส่วนเด็กหญิงอายุน้อยที่สุดที่เจออายุเพียง 12 ปี หนีออกจากบ้านย่านบางกะปิ เพราะมีปากเสียงกับบิดาเรื่องการพูดคุยโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน โดยหนีไปพักอยู่บ้านเพื่อนสนิท หลังผ่านไป 1 สัปดาห์ เพื่อนร่วมชั้นเรียนติดต่อบิดาให้มารับกลับบ้าน

เด็กไทยในปัจจุบันอารมณ์ค่อนข้างเปราะบาง เพราะพ่อแม่ ผู้ปกครองเลี้ยงลูกแบบโอ๋มากเกินไป เมื่อโดนดุและตำหนิ เด็กก็จะมองว่าทำไมต้องโดนดุด่าทั้งที่เป็นเรื่องเล็กน้อย จึงเกิดการน้อยใจและไม่อยากอยู่บ้าน ซึ่งขณะนี้การหายตัวออกจากบ้านด้วยการสมัครใจกลายเป็นแฟชั่นที่เด็กไทยแนะนำเพื่อนให้เลียนแบบเพื่อใช้เป็นวิธีการต่อรองสิ่งที่ต้องการกับพ่อแม่น.ส.ธิติมากล่าว

หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหายฯ กล่าวอีกด้วยว่า เมื่อเด็กหนีออกจากบ้าน หากเป็นเด็กชาย อาจกลายเป็นอาชญากรรุ่นเยาว์ โดยอาจเริ่มจากวิ่งราวเล็กน้อย จนถึงฆาตกรรมเจ้าทรัพย์ หรือถูกชักจูงเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ ใช้แรงงานเด็กและขายบริการทางเพศ แต่หากเป็นเด็กหญิง จะเข้าสู่เพศพาณิชย์ หากไม่มีการป้องกันก็จะท้องในขณะที่ไม่สามรถเลี้ยงดูลูกได้ จนที่สุด ต้องขายลูกให้กับคนแปลกหน้า

น.ส.ธิติมา กล่าวต่อว่า ข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาเรื่องเด็กหนีออกจากบ้าน ได้แก่ 1.ผู้ปกครองควรหากิจกรรมที่สามารถทำร่วมกันกับบุตรหลานได้ 2.ผู้ปกครองควรให้เด็กมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แสดงความคิดเห็น 3.กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ควรบรรจุหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตในสังคมปัจจุบันเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเด็ก เมื่อต้องออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านและโรงเรียน 4.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ควรจัดทำฐานข้อมูลคนหายให้เป็นระบบเดียวกัน เพื่อใช้สำหรับสถานีตำรวจทั่วประเทศ และ5.สตช.ควรผลักดันให้เกิดกฎหมายวิธีพิจารณาความคนหาย เนื่องจากปัจจุบันคดีคนหายไม่ได้เป็นคดีอาญา ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเกิดความสับสนใจอำนาจหน้าที่

ตะลุยข่าว : THE GREEN POLICE กองปราบฯ สู่ศตวรรษที่ 21

ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกสามารถระงับยับยั้งปัญหาอาชญากรรมให้ลดลงและควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดได้ ตรงกันข้ามกับประเทศไทย กลับมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และมีการกล่าวถึงในระดับนานาชาติว่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook