ไกรศักดิ์ แฉมาเลเซียพร้อมดึง ชาวเล ไปอยู่ด้วยหากไม่มีที่ไป

ไกรศักดิ์ แฉมาเลเซียพร้อมดึง ชาวเล ไปอยู่ด้วยหากไม่มีที่ไป

ไกรศักดิ์ แฉมาเลเซียพร้อมดึง ชาวเล ไปอยู่ด้วยหากไม่มีที่ไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ประธาน กมธ.พัฒนาสังคมฯ กระทุ้งรัฐแก้ไขปัญหาชาวเลด่วน เผยมาเลเซียพร้อมรับมอแกน-อูรักลาโว้ยไปอยู่ด้วย จี้มหาดไทยเร่งออกบัตรประชาชน บอกบางชุมชนถูกจำกัดที่ให้อยู่เหมือนสัตว์อนุรักษ์ รมว.วัฒนธรรมเตรียมตั้งศูนย์วัฒนธรรมชาวเล เพื่ออนุรักษ์วิถีชนกลุ่มน้อย นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย และประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สภาผู้แทนราษฏร กล่าวเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2552 ถึงปัญหาของชนชาวเลซึ่งประกอบด้วยมอแกน มอแกลนและอูรักลาโว้ยในท้องทะเลอันดามันกว่า 1 หมื่นคน ที่กำลังประสบความยากลำบากเข้าขั้นวิกฤต เพราะไม่สามารถดำเนินชีวิตตามวิถีดั้งเดิมได้เนื่องจากถูกรุกรานอย่างหนัก นอกจากไม่สามารถจับปลาได้แล้วยังถูกฟ้องร้องขับไล่ไม่ให้อาศัยอยู่ตามเกาะต่างๆ ว่ารัฐบาลควรเร่งเข้าไปแก้ไข เพราะคนเหล่านี้อยู่กันมานาน ดังนั้นจึงควรเร่งหาวิธีการให้ชาวเลอยู่กันอย่างมีศักดิ์ศรีและถูกต้องตามกฎหมาย นายไกรศักดิ์ กล่าวว่า ตนกำลังประสานไปยัง นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เนื่องจากขณะนี้มีชาวเลถูกจับเพราะไปจับกุ้งจับเคยในพื้นที่ที่ทำกินมานาน แต่พื้นที่ดังกล่าวถูกประกาศเป็นเขตอุทยานในภายหลัง จริงๆแล้วอุทยานควรอนุญาตให้คนเหล่านี้ได้ทำมาหากินต่อไป ขณะที่กระทรวงวัฒนธรรมเองก็ต้องเข้าไปปกป้องเพื่อให้วิถีวัฒนธรรมของชาวเลคงอยู่ต่อไป ขณะที่กระทรวงมหาดไทยก็ควรเข้าไปดูแลให้ชาวเลได้บัตรประชาชนเหมือนคนทั่วไป "จริงๆแล้วเรื่องนี้แก้ไขไม่ยากเลย ถ้าเราตั้งใจจริง ที่ยากกว่านั้นคือเรื่องอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มว่าไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น หลายพื้นที่กีดกันคนท้องถิ่นไม่ให้ทำมาหากิน เรื่องนี้ผมเจอมากับตัวเอง ชาวบ้านที่สตูลเอาเรือไปจอดหาปลาหน้ารีสอร์ทแห่งหนึ่ง กลับถูกเจ้าของไล่เหมือนหมูเหมือนหมา ที่เกาะอาดัง-หลีเปะชาวเลก็ถูกคุกคามอย่างหนัก ชาวเลบางพื้นที่ถูกจำกัดให้อยู่แต่ในหมู่บ้านเหมือนสัตว์อนุรักษ์ " นายไกรศักดิ์กล่าว ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมฯกล่าวว่า รัฐบาลควรแก้ไขปัญหาชาวเลให้เป็นตัวอย่างของการปกป้องคนกลุ่มน้อย ขณะที่การท่องเที่ยวเองควรให้เกียรติ์และยึดเอาชนท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง ตนทราบมาว่าขณะนี้ทางการมาเลเซียได้ติดต่อมายังชุมชนชาวเลว่ายินดีต้อนรับ หากคนเหล่านี้ไม่มีที่ไป หรือต้องการย้ายไปอยู่มาเลเซีย ด้าน นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่าเห็นด้วยที่ควรอนุรักษ์วิถีชีวิตของชนชาวเลเอาไว้ เพียงแต่ใช้กลไกลอย่างไรเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องมาร่วมกันคิด แต่เพื่อความยั่งยืนต้องให้คนในท้องถิ่นเป็นผู้ระดมสมองในลักษณะการทำประชาคมเพื่อให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในวัฒนธรรมและประเพณีของตัวเอง ขณะเดียวกันองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในระดับต่างๆซึ่งมีงบประมาณอยู่แล้วก็ต้องช่วยกันสนับสนุน นายธีระ กล่าวว่านโยบายของกระทรวงวัฒนธรรมนั้น จะมีการตั้งศูนย์วัฒนธรรมประจำชุมชนต่างๆอยู่แล้ว ดั้งนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมของชาวเลขึ้นมา โดยมีการทำงานเป็น 3 เส้า คือชาวเล องค์กรท้องถิ่นและกระทรวงวัฒนธรรม โดยกระทรวงเพียงแต่มีหน้าที่เป็นตัวกลางคอยประสานให้ "ผมตั้งใจว่าจะลงไปเจาะในกลุ่มชนต่างๆเหล่านี้อยู่แล้ว เพราะอยากให้เขารักษาวิถีชีวิตและชาติพันธุ์ของตัวเองเอาไว้ และควรเผยแพร่ให้สังคมไทยได้เห็นความงดงามอันหลากหลายนี้ ผมเห็นด้วยกับคุณกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ที่บอกว่าชาวเลไม่ควรเป็นสมุนรับใช้การท่องเที่ยว ผมคิดว่าการท่องเที่ยวต้องไปเป็นลูกสมุนชาวเลมากกว่า" นายธีระ กล่าว และว่าการแก้ปัญหาสำคัญของชาวเลคือเรื่องที่ดิน ซึ่งรัฐบาลชุดนี้มีนโยบายออกโฉนดชุมชนให้สำหรับคนที่อยู่มาก่อน ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยที่เจ้าหน้าที่รัฐไปไล่จับคนเหล่านี้เพราะเข้าไปทำมาหากินในทะเล แต่ถูกประกาศเป็นเขตอุทยานในภายหลัง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook