ระทึก 50 ปี...ไทยเข้าสู่เมืองหิมะ

ระทึก 50 ปี...ไทยเข้าสู่เมืองหิมะ

ระทึก 50 ปี...ไทยเข้าสู่เมืองหิมะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กทม.หนาวสุดในรอบ 30 ปี หลังพบลมหนาวจากจีนและไซบีเรียพัดตรงเข้าประเทศไทย หัวหน้าหน่วยศึกษาภัยพิบัติ จุฬาฯ ฟันธงไม่เกิน 50 ปี ประเทศไทยเข้าสู่สภาวะหิมะตก หลังพบอากาศทั่วโลกแปรปรวนอย่างหนัก สมิทธ ชี้ส่วนหนึ่งเกิดจากแกนโลกเอียงห่างดวงอาทิตย์มากขึ้น แทบไม่น่าเชื่อว่าแฟชั่นเสื้อกันหนาวที่คนกรุงเทพฯ มีไว้ใส่ไปเที่ยวภูเขาภาคเหนือนั้น จะถูกนำมาสวมปกปิดร่างกายไม่ให้หนาวสั่นจากลมเย็นยะเยือกที่พัดมาเป็นระลอกๆ ทั่วใจกลางเมือง หลายคนยอมรับว่าตั้งแต่เกิดมาไม่เคยรู้สึกว่ากรุงเทพฯ หนาวแบบนี้มาก่อน ดร.สมชาย ใบม่วง ผู้อำนวยการสำนักพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ช่วยไขข้อข้องใจว่าเมื่อ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาของวันที่ 11-12 มกราคม 2552 สามารถวัดอุณหภูมิต่ำสุดได้ที่ 15.5 องศาเซลเซียส บริเวณเขตบางนา กรุงเทพฯ และถัดไปที่สนามบินสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ วัดได้ 14 องศาเซลเซียส ถือเป็นวันที่หนาวเย็นที่สุดตั้งแต่เริ่มฤดูหนาวปีนี้ แต่นักอุตุนิยมวิทยาของไทยเชื่อกันว่า ก่อนหมดหน้าหนาวในเดือนกุมภาพันธ์นี้ อาจจะมีวันที่หนาวเย็นทำลายสถิติ 15.5 องศาเซลเซียสก็ได้ ในเมื่อปี 2518 หรือ 30 ปีที่แล้วคนกรุงเทพฯ ก็เคยเผชิญกับอุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียสมาแล้ว "ปีนี้หนาวกว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกิดจากมวลอากาศเย็นหนาแน่นมากจากประเทศจีน และพัดอย่างรุนแรงพุ่งตรงสู่ประเทศไทยโดยตรง ตรงกันข้ามกับปีที่ผ่านๆ มามวลอากาศจะไม่หนาแน่นเท่าไร ประกอบกับพัดเฉไปทางไต้หวัน หรือญี่ปุ่นแทน นี่คือปัจจัยสำคัญที่สุดที่เราเห็นจากดาวเทียม ตัวมวลอากาศเย็นจะยังคงพัดเป็นระลอกอีกหลายครั้ง ครั้งนี้จะหนาวเย็นจนถึงวันที่ 15 มกราคม จากนั้นอุณหภูมิจะสูงขึ้นประมาณ 3-4 องศา แล้วมวลอากาศเย็นระลอกใหม่จะพัดมาอีก จะทำให้อุณหภูมิลดต่ำลงไปจนถึง 14-15 องศาเซลเซียส แล้วก็อุ่นขึ้นอีก เป็นอย่างนี้สลับกันไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ คาดการณ์ว่าปีนี้อากาศจะหนาวเย็นนานกว่าปกติ แต่ยังไม่มั่นใจว่าจะเป็นปีที่หนาวที่สุดหรือไม่ เพราะจากการตรวจภาวะอากาศย้อนหลัง 57 ปีนั้น ค่าเฉลี่ยความหนาวของปีนี้ยังเป็นปกติ" ดร.สมชาย กล่าว มวลอากาศ (Air mass) คือ ลักษณะอากาศที่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่มาก มีอุณหภูมิและความชื้นใกล้เคียงกัน มีการเคลื่อนย้ายไปบริเวณต่างๆ หากใช้อุณหภูมิเป็นเกณฑ์ก็จะสามารถแบ่งมวลอากาศได้ 2 แบบ คือ "มวลอากาศอุ่น" (Warm Air mass) หรือมวลอากาศที่มีอุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิของพื้นผิวที่เคลื่อนผ่าน และ "มวลอากาศเย็น" (Cold Air mass) หรือมวลอากาศที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิพื้นผิวที่เคลื่อนผ่าน หลายคนตั้งคำถามว่ามวลอากาศหนาวเย็นในปีนี้ จะทำให้เกิดหิมะตกในประเทศไทยเหมือนดังที่นักวิทยาศาสตร์และนักโหราศาสตร์หลายค่ายที่ติดตามความแปรปรวนของสภาพอากาศทำนายไว้หรือไม่ เช่น "โหรโสรัจจะ นวลอยู่" ทำนายชะตาประเทศไทยเผยแพร่ไว้ในหนังสือ "ศาสตร์แห่งโหร" ปี 2551 ไว้ว่า "...ส่วนสยามประเทศปีชวด 2551 นี้ จะเป็นปีแห่งความอาเพศ ในปลายปีชวดจะเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่น่าแปลกมหัศจรรย์ จะเกิดหิมะตกในเมืองไทยไปทั่วทางภาคเหนือและอีสานบางส่วน ประชาชนทั้งคนไทยและทั่วโลกตื่นตกใจแทบช็อก เพราะไม่เคยเห็นปรากฏการณ์เช่นนี้มาก่อนเลย..." ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักพยากรณ์อากาศ ยืนยันว่า จากภาพถ่ายดาวเทียมยังไม่เห็นกลุ่มก้อนของมวลอากาศ ที่จะทำให้เกิดหิมะตกได้ในประเทศไทย มีเพียงแม่คะนิ้งหรือน้ำค้างแข็งเท่านั้น เนื่องจากหิมะจะตกได้ต้องมีหลายปัจจัย เช่น ไอน้ำจากทะเลต้องมีความชื้นสูงมาก หรืออุณหภูมิที่วัดจากพื้นดินขึ้นมา 1.5 เมตรต้องใกล้เคียงกับศูนย์องศา ที่สำคัญคือจะมีภาพจำลองเกิดขึ้นในจอภาพดาวเทียมว่ากำลังจะเกิดหิมะ ดังนั้น คนไทยไม่ต้องกังวลกับเรื่องหิมะตก เพราะส่วนตัวแล้วไม่เชื่อว่าจะมีหิมะตกได้ในประเทศไทย และถ้าหิมะจะตกจริงกรมอุตุนิยมวิทยาก็จะพยากรณ์ล่วงหน้าได้ก่อนถึง 7 วัน ขณะที่ ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าหน่วยศึกษาภัยพิบัติและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องความแปรปรวนของอากาศกับภาวะโลกร้อนว่า ปีนี้อากาศเย็นผิดปกติ เพราะลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจากไซบีเรียรุนแรงมากขึ้น สังเกตได้จากคลื่นในทะเลฝั่งอ่าวไทยสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ย 2-3 เมตร โดย 20 ปีที่ผ่านมาคลื่นอ่าวไทยไม่เคยสูงเกิน 1 เมตร ส่วนภาคใต้ที่ปกติเดือนพฤศจิกายน-มกราคมจะเป็นช่วงปลอดฝน ชาวบ้านกรีดยางพาราได้ผลมากที่สุด แต่ปีนี้ภาคใต้กลับมีฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมหลายพื้นที่ "ภาวะโลกร้อนทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญอากาศแปรปรวน โดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่าภายในไม่เกิน 50 ปีนี้ ถ้าพวกเรายังมีชีวิตอยู่จะเห็นหิมะตกในเมืองไทยอย่างแน่นอน อากาศหนาวเย็นจากไซบีเรียจะพัดลงมาเร็ว อากาศร้อนก็จะดันตัวขึ้นไปเร็วเช่นกัน มรสุมก็เกิดแรงขึ้น ภูมิอากาศโลกมีความแปรปรวน และอ่าวไทยจะมีคลื่นสูงถึง 4 เมตร ตอนนี้ภาครัฐยังไม่ให้ความสนใจจากผลกระทบของโลกร้อนอย่างจริงจัง นักวิจัยยังพูดเรื่องโลกร้อนไม่ตรงกัน บางคนก็ว่าโลกร้อนจะทำให้เมืองไทยไม่มีหน้าหนาวอีกต่อไป ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะโลกร้อนจะทำให้ฤดูร้อนมีอากาศร้อนมาก หน้าหนาวก็จะหนาวเย็นยะเยือกผิดปกติ ส่วนหน้าฝนก็จะพบมรสุมฝนฟ้าคะนองตลอดปี" ดร.ธนวัฒน์ วิเคราะห์ อย่างไรก็ตามสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ข้างต้นเป็นห่วงมากที่สุดคือเกษตรกร เนื่องจากรัฐบาลยังไม่มีนโยบายแก้ปัญหาภูมิอากาศแปรปรวนอย่างชัดเจน ต่อไปนี้การเพาะปลูกอะไรต้องสังเกตลม-ฟ้า-อากาศใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะการคาดเดาเรื่องน้ำ เพราะน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการเพาะปลูก จากนี้ไปฤดูฝนจะไม่เหมือนเดิม เพราะฝนจะมาแบบทิ้งช่วง เป็นแบบน้ำมากไปหรือน้ำน้อยไป ไม่สามารถคาดเดาได้ และทุกฤดูกาลจะแปรปรวนไปหมด เหมือนหน้าหนาวปีนี้อุณหภูมิยังคงลดลงอย่างเนื่อง ทั้งนี้ สำนักอุตุนิยมวิทยาขนส่ง ที่ตรวจวัดอากาศจากสนามบินทั่วประเทศไทย ระบุว่า เมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา อุดรธานีมีอุณหภูมิต่ำสุด 8-22 องศาเซลเซียส ขอนแก่น 9-23 องศาเซลเซียส เชียงราย 10-23 องศาเซลเซียส เชียงใหม่ 12-26 องศาเซลเซียส แม่ฮ่องสอน 13-27 องศาเซลเซียส หัวหิน 17-24 องศาเซลเซียส และภูเก็ต 21-29 องศาเซลเซียส ด้าน ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการอำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ วิเคราะห์ว่า สภาพอากาศปีนี้ที่หนาวเย็นลงกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา อาจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสภาวะอากาศโลก ไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้นที่พบกับสภาพอากาศหนาวเย็นกว่าปกติ ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกก็ประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ดร.สมิทธ บอกว่า นักวิทยาศาสตร์หลายคนวิเคราะห์ว่า เกิดจากแกนโลกเอียงห่างจากดวงอาทิตย์มากขึ้น เป็นผลมาจากการสร้างเขื่อนบริเวณเส้นศูนย์สูตร ส่งผลให้ฤดูหนาวอาจต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่หนาวมากขึ้น ฤดูร้อนก็จะร้อนมากขึ้นด้วย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook