น้ำท่วมจังหวัดสุรินทร์ หนักสุดในรอบ 40 ปี

น้ำท่วมจังหวัดสุรินทร์ หนักสุดในรอบ 40 ปี

น้ำท่วมจังหวัดสุรินทร์ หนักสุดในรอบ 40 ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ฝนที่ตกหนักใน จ.สุรินทร์ ส่งผลให้ถนน บ้านเรือน และพื้นที่การเกษตร จมอยู่ใต้น้ำ นับเป็นความเสียหายหนักสุดในรอบ 40 ปี

วันนี้ (20 ก.ย.) หลังเกิดฝนหนักตลอดทั้งวันทั้งคืนที่ผ่านมา ทำให้น้ำป่าจากเทือกเขาพนมดงรัก ไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตรทั้ง 17 อำเภอของ จ.สุรินทร์ และหมู่บ้านในพื้นที่ลุ่มต่ำแล้วบางส่วน โดยเฉพาะบริเวณสี่แยกเลี่ยงเมืองเทพธานี ต.สลักได เส้นทางหลักที่ประชาชนใช้สัญจรผ่านไปยังกรุงเทพมหานคร จ.ศรีสะเกษ และ จ.อุบลราชธานี ถูกน้ำท่วมขังสูงกว่า 60-80 เซนติเมตร รถยนต์ไม่สามารถสัญจรผ่านได้ ขณะที่รถทัวร์โดยสาร และรถยนต์ส่วนบุคคลของประชาชน ต้องจอดติดยาวเหยียดเพื่อรอกลับรถเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น

นอกจากนี้ ถนนในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ บริเวณวิทยาลัยอาชีวะศึกษาสุรินทร์ โรงเรียนต่างๆ รวมถึงชุมชนหลายแห่ง ถูกน้ำเข้าท่วมหนักสุดในรอบ 40 ปี ล่าสุดโรงเรียนที่ถูกน้ำท่วม ได้ประกาศปิดเรียนจนกว่าสถานการณ์จะกลับคืนสู่ภาวะปกติ

มีรายงานว่า น้ำจากเทือกเขาพนมดงรักชายแดนไทย-กัมพูชา กำลังไหลบ่าทะลักเข้ามาสมทบในพื้นที่ อ.สังขะ ทำให้ถนนหลายสายมีน้ำท่วมสูง 30 -50 เซนติเมตร ประชาชนต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะเกรงจะเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ เนื่องจากเมื่อช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา มีชาวบ้านพยายามขับขี่รถจักรยานยนต์ฝ่ากระแสน้ำแต่ถูกซัดรถจักรยานยนต์ล้มจมน้ำ สำหรับพื้นที่ใน จ.สุรินทร์ ที่กำลังประสบอุทุกภัยขณะนี้ ประกอบด้วย อ.เมือง, อ.สังขะ, อ.ศรีณรงค์, อ.ศีขรภูมิ, อ.สำโรงทาบ, อ.รัตนบุรี และ อ.จอมพระ

ส่วนที่ จ.กาฬสินธุ์ ฝนที่ตกหนักตลอดทั้งคืนส่งผลให้ถนนคอนกรีตที่เชื่อมระหว่าง ต.บึงนาเรียง อ.ห้วยเม็ก ไปยัง อ.หนองกุงศรี บริเวณลำห้วยยาง ถูกกระแสน้ำพัดถนนทรุดพังยาวกว่า 5 เมตร รถยนต์ทุกชนิดไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ ชาวบ้านต้องเลี่ยงไปใช้ถนนสาย อ.ห้วยเม็ก - อ.หนองกุงศรี แทน เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้นำสิ่งกีดขวางมาวางกั้นเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้ นายสุวิทย์ สุบงกฎ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบ พร้อมสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสร้างสะพานชั่วคราว เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจร รวมดำเนินการซ่อมแซมถนนที่พังเสียหายโดยด่วน คาดว่า ไม่เกิน 2 สัปดาห์จะแล้วเสร็จ

ขณะที่อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ประกาศห้ามนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำตกห้วยหลวง เนื่องจากช่วงนี้น้ำตกมีปริมาณเพิ่มขึ้นและไหลแรง จึงเกรงว่าอาจจะเป็นอันตรายกับนักท่องเที่ยว โดยอนุญาตให้นักท่องเทียวยืนชมน้ำตกบริเวณจุดชมวิวเท่านั้น ขณะเดียวกันได้จัดเวรยามรักษาความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว รวมทั้งมีการติดป้ายเตือนให้นักท่องเที่ยวได้ระมัดระวังภัยธรรมชาติ แม้น้ำป่าจะยังไม่เกิดที่บริเวณน้ำตกแห่งนี้

ด้านนายธีรยุทธ์ วงศ์ไพเสริฐ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย กล่าวว่า ทางอุทยานฯ จะเฝ้าระวังและสังเกตุปริมาณน้ำอย่างใกล้ชิด หากไม่มีฝนตกลงมาอีก จะยกเลิกประกาศห้ามลงเล่นน้ำได้ประมาณวันที่ 24 กันยายนนี้

ส่วนชาวนาใน จ.นครสวรรค์ ได้รับความเดือดร้อนจากฝนตกหนัก โดยเฉพาะ อ.ลาดยาว มีนาข้าวถูกน้ำท่วมกว่า 28,000 ไร่ ทำให้ชาวนาบางส่วน ต้องรีบเก็บเกี่ยวผลผลิต เนื่องจากไม่มั่นใจในสถานการณ์ฝน และยังกังวลว่า น้ำป่าจากเทือกเขาแม่วงก์ จะไหลหลากเข้าท่วมนาข้าวซ้ำอีกรอบ ทั้งนี้เกษตรอำเภอลาดยาว ได้เตือนชาวนาในพื้นที่ให้ทำการป้องกัน และรีบเก็บเกี่ยวผลผลิตทันที

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook