องค์การนิรโทษกรรมสากลร้องไทยเลิกทรมานปราบโจรใต้

องค์การนิรโทษกรรมสากลร้องไทยเลิกทรมานปราบโจรใต้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
องค์การนิรโทษกรรมสากล ออกแถลงการณ์ร้องไทยยุติการทรมานอย่างเป็นระบบในปฏิบัติการปราบปรามการก่อการร้ายในภาคใต้

กองกำลังฝ่ายไทย ซึ่งดำเนินการปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายในภาคใต้ที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์รุนแรง มีส่วนร่วมในการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย องค์การนิรโทษกรรมสากลระบุในรายงานซึ่งเผยแพร่ในวันนี้เป็นครั้งแรก ทางองค์กรเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ยุติการกระทำเช่นนั้นโดยทันที และประกันว่าหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงซึ่งเกี่ยวข้องกับการทรมานต้องรับโทษ

ในรายงาน ประเทศไทย ยุติการทรมานอย่างเป็นระบบในปฏิบัติการปราบปรามการก่อการร้ายในภาคใต้ ซึ่งรวบรวมข้อมูลบุคคลที่ถูกทุบตีอย่างโหดร้าย ถูกลนด้วยเทียนไข ถูกฝังไว้ในดินเหลือแต่ศีรษะโผล่ขึ้นมา ถูกจี้ด้วยไฟฟ้า ถูกจับให้อยู่ในที่ร้อนหรือเย็นจัด ผู้รอดชีวิตจากการทรมานให้ข้อมูลกับองค์การนิรโทษกรรมสากลว่า วิธีการทรมานที่พบบ่อยสุดได้แก่ การทุบตี การเตะหรือกระทืบ และการเอาถุงคลุมศีรษะจนแทบหายใจไม่ออก องค์การนิรโทษกรรมสากลมีข้อมูลอย่างชัดเจนว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยสี่คนจากการทรมานดังกล่าว

"ผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ของไทยมีส่วนร่วมในการกระทำอันโหดร้าย แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลที่สร้างความชอบธรรมต่อการใช้วิธีทรมานของกองกำลังฝ่ายความมั่นคง การทรมานเป็นวิธีการซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดเจน และจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นว่า การทรมานยิ่งทำให้คนในพื้นที่เกิดความแปลกแยกจากทางการ Donna Guest รองผู้อำนวยการองค์การนิรโทษกรรมสากล ฝ่ายโครงการเอเชีย-แปซิฟิกกล่าว

จากการวิจัยขององค์การนิรโทษกรรมสากลในจังหวัดภาคใต้ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี สงขลา และยะลา ทำให้ได้ข้อมูลว่าหน่วยงานความมั่นคงของไทยได้ใช้การทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลสนเทศ บังคับให้มีการสารภาพและได้ข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือและการรวบรวมพยานหลักฐาน และการข่มขู่ผู้ถูกกักขังและชุมชน ทั้งนี้เพื่อให้ยุติหรือถอนความสนับสนุนที่มีต่อกลุ่มก่อการร้าย

การขยายตัวของการทรมานในไทยลดลงเล็กน้อยนับแต่มีการเผยแพร่ข้อมูลอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการเสียชีวิตของผู้ถูกกักขังเนื่องจากการทรมานเมื่อเดือนมีนาคม 2551 อย่างไรก็ตาม การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอย่างอื่น และการที่ผู้ทรมานไม่ต้องรับผิดยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและกว้างขวาง ทั้งในแง่ภูมิศาสตร์และเกิดขึ้นในบรรดากองกำลังฝ่ายความมั่นคงหน่วยต่าง ๆ และไม่อาจถือว่าเป็นความบกพร่องในหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เพียงบางคนได้เลย

"มีคนจำนวนมากให้ข้อมูลกับเราถึงประสบการณ์เลวร้ายที่ตนเองต้องประสบมา และยังมีคนที่ได้รับความเจ็บปวดเช่นนีไป พวกเขาให้ข้อมูลกับเราเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับบุคคลอื่น Donna Guest กล่าว "รัฐบาลจะต้องยุติการทรมานและนำตัวผู้ทรมานมารับโทษ

งานวิจัยชิ้นนี้เน้นเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างเดือนมีนาคม 2550- พฤษภาคม 2551 องค์การนิรโทษกรรมสากลได้รับรายงานจำนวนมากเกี่ยวกับการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายซึ่งเกิดขึ้นที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหน่วยงานของไทยต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษต่อการยุติการกระทำอันละเมิดสิทธิซึ่งเกิดขึ้นที่ค่ายทหารแห่งนี้

ทางองค์กรยังได้รับข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับคุกลับซึ่งเป็นสถานที่กักตัวผู้ต้องสงสัย และปิดกั้นไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก อันเป็นเหตุให้เกิดความเสี่ยงที่จะเผชิญกับการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย

องค์การนิรโทษกรรมสากลเรียกร้องหน่วยงานของไทยให้ปิดสถานคุมขังอย่างไม่เป็นทางการเช่นนั้นโดยทันที และเรียกร้องหน่วยงานของไทยให้แก้ไขพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นกฎหมายหลักที่ให้อำนาจในปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย โดยหน่วยงานของไทยควรเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกักขังได้พบกับสมาชิกในครอบครัว ทนายความ และบุคลากรทางการแพทย์ ให้ยกเลิกเงื่อนไขที่คุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งตามกฎหมายจะได้รับการงดเว้นโทษเนื่องจากปฏิบัติหน้าที่ทางราชการ

ความเป็นมา

ความรุนแรงในภาคใต้ของไทยเป็นผลมาจากลักษณะความแตกต่างของประชาชนในพื้นที่มาเป็นเวลานาน โดยคนส่วนใหญ่ในพื้นที่มีเชื้อสายมาเลย์ พูดภาษามลายู และนับถือศาสนาอิสลาม

เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ผู้ก่อความไม่สงบชาวมุสลิมได้บุกเข้าไปในค่ายทหารในจังหวัดนราธิวาส และได้ปล้นสะดมปืนไปหลายร้อยกระบอกและสังหารเจ้าหน้าที่ทหารไปสี่นาย เป็นสัญญาณว่าความรุนแรงได้ปะทุขึ้นมาอีกหลังจากความสงบเป็นเวลาหลายปี หกปีหลังจากนั้น ความรุนแรงและปฏิบัติการปราบปรามการก่อการร้ายรอบใหม่เต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยน้ำมือของทั้งสองฝ่าย ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว จนถึงปัจจุบัน ความรุนแรงเหล่านี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3,500 คน และจำนวนผู้เสียชีวิตโดยรวมเพิ่มขึ้นในแต่ละปีจนถึงอย่างน้อยในปี 2550 ในเดือนมีนาคม 2551 สถิติอย่างเป็นทางการแสดงให้เห็นว่า 66% ของผู้ที่ถูกสังหารในภาคใต้นับแต่ปี 2547 เป็นพลเรือน และกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ถูกสังหารเป็นชาวมุสลิม

นับแต่ปี 2548 ผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ปฏิบัติการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการระเบิดอาคารสถานที่ของพลเรือน การตัดศีรษะ การขับรถผ่านและกราดยิงใส่เป้าหมายที่เป็นทั้งกองกำลังและพลเรือนชาวพุทธและมุสลิม รวมทั้งข้าราชการในพื้นที่ซึ่งถูกมองว่าร่วมมือกับร ผู้ก่อความไม่สงบพุ่งเป้าโจมตีโรงเรียนของรัฐและครู และข่มขู่ให้ชาวพุทธในพื้นที่หนีออกไป

ในเดือนพฤศจิกายน 2550 รัฐบาลไทยให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment - CAT) ซึ่งมีเนื้อหาระบุอย่างชัดเจนว่า "การทรมานอาจมีลักษณะที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบได้ ทั้งนี้โดยอาจไม่เป็นความจงใจของรัฐบาลก็ได้ แต่อาจเป็นผลมาจากปัจจัยซึ่งรัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้ และการทรมานดำรงอยู่ได้เนื่องจากช่องว่างระหว่างนโยบายที่กำหนดโดยรัฐบาลกลางกับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น กรอบกฎหมายที่ไม่เข้มแข็งพอก็เปิดโอกาสให้มีการใช้วิธีทรมาน และส่งผลให้เกิดการทรมานอย่างเป็นระบบได้

ประเทศไทยยังไม่ได้ออกกฎหมายซึ่งกำหนดให้การทรมานเป็นฐานความผิดเฉพาะ หรือปฏิบัติตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีกฎหมายในประเทศรองรับ นอกจากนั้นพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งมีการบังคับใช้ในภาคใต้ยังช่วยให้เจ้าหน้าที่ผู้ละเมิดกฎหมายไม่ต้องรับโทษในกรณีที่ถือว่าเป็น "การกระทำที่สุจริต เงื่อนไขดังกล่าวส่งผลให้การทรมานยังเกิดขึ้นต่อไปโดยไม่มีผู้พบเห็นและไม่มีผู้ถูกลงโทษ

องค์การนิรโทษกรรมสากลได้รับข้อมูลว่ามีการทรมานเกิดขึ้นตามสถานที่ต่าง ๆ ดังนี้ (ในจังหวัดนราธิวาส) ค่ายปิเหล็ง ค่ายฉก.วัดสวนธรรม (จนถึงกลางปี 2551), ค่ายจุฬาภรณ์, สถานีตำรวจภูธรรือเสาะ; (ในจังหวัดปัตตานี) วัดช้างให้ ฉก.ปัตตานี 24, หน่วยทหารที่ปะการือซง, ค่ายเขื่อนบางลาง, ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.), ค่ายวัดหลักเมือง, สถานีตำรวจภูธรหนองจิก; (จังหวัดยะลา) ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 9, ฉก. 11, ค่ายทหารพรานเขื่อนบางลาง, ค่ายฉก. 39 (นับแต่กลางปี 2551), ค่ายทหารพราน 41; (ในจังหวัดสงขลา) ค่ายรัตนพล หน่วยเฉพาะกิจ ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43; (ในจังหวัดชุมพร) ค่ายเขตอุดมศักดิ์ ; (ในจังหวัดระนอง) ค่ายรัตนรังสรรค์; และ (ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี) ค่ายวิภาวดีรังสิต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook