เชิดชูในหลวง ผู้นำของโลก

เชิดชูในหลวง ผู้นำของโลก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ทูลเกล้าฯรางวัล ทรัพย์สินปัญญา

องค์การทรัพย์สินปัญญาโลก เชิดชูในหลวงทรงเป็นผู้นำของโลกด้านทรัพย์สิน ทางปัญญา ประกาศยกย่องทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงอุทิศพระองค์ และใช้งานทรัพย์สินทางปัญญาในการพัฒนาประเทศ และส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทยให้ดีขึ้นได้อย่างโดดเด่น เป็น ที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก จึงขอเข้าเฝ้าฯ เพื่อทูลเกล้าฯถวายรางวัลโกลบอล ลีดเดอร์ อวอร์ด รางวัลอันมีเกียรติสูงสูดที่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกมอบให้แก่ผู้นำของโลก เผยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้นำพระองค์แรกของโลกที่ได้รับรางวัลเกียรติยศนี้

เมื่อเวลา 13.50 น.วันที่ 13 ม.ค. ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายฟรานซิส เกอร์รี่ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (ไวโป้) หรือ World Intellectual Property Organization : WIPO นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทย ณ นครเจนีวา และนางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันแถลงข่าวการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลผู้นำโลกด้านทรัพย์สินทางปัญญา หรือโกลบอล ลีดเดอร์ อวอร์ด (Global Leader Award) แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่ทรงมีบทบาทโดดเด่น ในการส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญา และทรงอุปถัมภ์ส่งเสริมการสร้างนวัต กรรมและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์สุขของสังคมและประเทศ

สำหรับรางวัลดังกล่าว เป็นความคิดริเริ่มใหม่ของไวโป้ เมื่อปี 2551 และยังไม่มีผู้ใดเคยได้รับรางวัลนี้ มาก่อน ไวโป้ตัดสินใจทูลเกล้าฯถวายรางวัลนี้เป็น พระองค์แรก เพราะทรงเป็นผู้นำและทรงมีพระราชกรณียกิจที่ส่งเสริมและเผยแพร่บทบาทของทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อการพัฒนาประเทศไทยและในต่างประเทศ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและนำประโยชน์ สู่ปวงชน โดยทรงริเริ่มโครงการจำนวนมากที่คิดค้นนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาชุมชน และเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เช่น กังหันน้ำชัยพัฒนา ซึ่งองค์การไวโป้เคยทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลนักประดิษฐ์ยอดเยี่ยม เมื่อปี 2544 และเทคโนโลยีการทำฝนเทียม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า WIPO ได้สรรเสริญพระเกียรติคุณ และให้เหตุผลในการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลนี้ว่า เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงอุทิศพระองค์ และใช้งานทรัพย์สินทางปัญญาในการพัฒนาประเทศ และส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทยให้ดีขึ้นได้อย่างโดดเด่น เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก โดยในโครงการพระราชดำริต่างๆ มีหลายโครงการที่ได้ทรงประดิษฐ์ คิดค้นเครื่องมือ และอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อการใช้งานที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และมีพระบรมราชานุญาตให้ยื่นจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาจำนวนมาก เช่น กังหันน้ำชัยพัฒนา โครงการแกล้งดิน และฝนหลวง เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในการประดิษฐ์ คิดค้น และเข้าพระทัยถึงระบบงานทรัพย์สินทางปัญญาเป็นอย่างดี

สำหรับผลงานที่ทรงคิดค้นขึ้น และมีการจดทะเบียนสิทธิบัตรถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้วมีมากกว่า 20 รายการ เครื่องหมายการค้าอีก 19 รายการ นอกจากนี้ พระองค์ทรงเป็นศิลปินที่มีผลงานมากกว่า 1,000 รายการ ทั้งงานศิลปกรรม จิตรกรรม บทเพลง และวรรณกรรม

นายเกอร์รี่กล่าวว่าตนหารือกับนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เกี่ยวกับการหาทางลดช่องว่าง ในผลงานที่ได้นำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณชน โดยไม่กระทบกับผู้คิดค้นผลงานที่จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา

ด้านนางพวงรัตน์กล่าวว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเคยมีพระราชดำรัสว่า ทรัพย์สินทางปัญญาเกิดขึ้นมานานแล้ว สิทธิบัตรและลิขสิทธิ์มีความสำคัญมาก ปี 2500 พูดกันว่า เราไปลอกต่างประเทศมาใช้ประโยชน์ได้มากกว่าที่คิดเอง ที่จะจดทะเบียนสิทธิบัตร เราสามารถใช้อะไรจากต่างประเทศโดยไม่ต้องเสียค่าใช้สิทธิ การพูดอย่างนี้ไม่ถูกต้อง เป็นการดูถูกคนไทย

นางพวงรัตน์กล่าวอีกว่าขณะนี้ ผลงานของพระ องค์ที่จดสิทธิบัตรถวายในต่างประเทศแล้ว คือ ฝนหลวงซึ่งจดไว้ที่สหภาพยุโรปและกำลังจดสิทธิบัตรที่สหรัฐอเมริกา พระองค์ทรงเป็นผู้นำในการจดสิทธิบัตร เช่น เครื่องหมายการค้า สุวรรณชาด โกล เด้น เพลส

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 14 ม.ค. นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระ ทรวงการต่างประเทศ และนางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา จะนำนายเกอร์รี่และคณะ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทูลเกล้าฯถวายเหรียญรางวัล ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบ คีรีขันธ์

สำหรับองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก หรือ WIPO เป็นหนึ่งในองค์กรภายใต้สหประชาชาติ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2510 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาโลก และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก ในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ปัจจุบัน มีสมาชิก 184 ประเทศ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook