ม.ธุรกิจบัณฑิตย์จับมือมติชนจัดเสวนาปฏิรูปการศึกษารอบ2

ม.ธุรกิจบัณฑิตย์จับมือมติชนจัดเสวนาปฏิรูปการศึกษารอบ2

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ม.ธุรกิจบัณฑิตย์จับมือมติชน จัดเสวนาปฏิรูปการศึกษารอบสองคึกคัก จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ชี้ 9 ปีที่ผ่านมา ยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพ ครูและสื่อเทคโนโลยีไม่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ต้นเหตุผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กต่ำกว่ามาตรฐาน เผยวางกรอบปฏิรูปฯรอบใหม่ 8 ด้าน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) ร่วมกับหนังสือพิมพ์มติชน จัดเสวนาโต๊ะกลมเรื่อง ปฏิรูปการศึกษา รอบ 2 : ปฏิรูปอะไร อย่างไร เมื่อวันที่ 15 มกราคม ที่ห้องประชุมทวี บุณยเกตุ มธบ. โดยมีนักการศึกษาและผู้สนใจเข้าร่วมฟังประมาณ 200 คน

ทั้งนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวปาฐกถาพิเศษว่า ผลจากการปฏิรูปการศึกษารอบแรกในช่วงระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีปัญหาเรื่องคุณภาพ การพัฒนาการเรียนการสอนของครูไม่ทันกับหลักสูตรที่เปลี่ยนไป ครูไม่พร้อม สื่อเทคโนโลยีก็ไม่พร้อมทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ที่สุดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กจึงต่ำกว่ามาตรฐาน โดยผลประเมินคุณภาพของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) สะท้อนว่า มีโรงเรียนจำนวนมากที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ จากการประเมินของสมศ.รอบแรกพบว่ามีโรงเรียนเพียง 35% ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนอีก 65% ต้องดูแลเป็นพิเศษ ส่วนการประเมินคุณภาพสถานศึกษาในรอบ 2 ขณะนี้ แม้ยังไม่แล้วเสร็จทั้งหมดแต่พอเห็นภาพว่า มีโรงเรียนประมาณ 20% ที่ยังต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ส่วนระดับอาชีวศึกษาของรัฐ มี 10-16% ที่ต้องปรับปรุง และของเอกชน มี 27% ที่ต้องปรับปรุง นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้จบอาชีวะมีสมรรถนะไม่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ บัณฑิตมีอัตราตกงานสูง เพราะมีค่านิยมมุ่งปริญญามากกว่าความรู้ ขาดจิตสาธารณะ

อย่างไรก็ตาม แม้จะเกิดผลดังกล่าว แต่ผมไม่คิดว่าล้มเหลว ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการศึกษายุคใหม่ เพียงแต่มีหลายเรื่องที่ต้องสานต่อ เรื่องไหนดีก็สานต่อ เรื่องไหนที่เดินมาผิดทิศทางก็กำหนดใหม่ให้ถูกต้อง เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษารอบ 2 ที่ถูกทิศทาง นายจุรินทร์กล่าว และว่า สำหรับการปฏิรูปฯรอบ 2 ตนกำหนดกรอบเบื้องต้นไว้ 8 ประการ คือ 1.การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน 2.การผลิตและพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา 3.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม 4.การเพิ่มโอกาสทางการศึกษา 5.การผลิตและพัฒนากำลังคน 6.การปฏิรูปการเงินเพื่อการศึกษา 7.การปฏิรูปเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา และ 8.กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา แต่รัฐบาลจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับ 2 เรื่องหลักที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปฯรอบ 2 คือเรื่องคุณภาพ และโอกาส ที่จะต้องทำควบคู่กันไป เพราะลำพังถ้าทำการศึกษาให้มีคุณภาพ แต่ไม่อาจขยายโอกาสไปถึงคนทุกกลุ่ม การศึกษาที่มีคุณภาพแท้จริงก็คงไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ได้

รัฐมนตรีว่าการศธ.กล่าวต่อว่า สำหรับการขยายโอกาสทางการศึกษานั้น รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนว่าจะทำเรื่องการศึกษาฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ ขยายสิทธิผู้กู้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ในกลุ่มนักศึกษาชั้นปี 2-4 ที่ด้อยโอกาสให้สามารถกู้กยศ.ได้ จากเดิมที่ต้องเป็นผู้กู้ต่อเนื่องมาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 เท่านั้น รวมทั้งนักศึกษาที่จบอนุปริญญาแล้วมาต่อปริญญาตรีก็ควรมีสิทธิกู้กยศ.ได้ด้วย ส่วนเรื่องพัฒนาคุณภาพครู รัฐบาลจะจัดตั้งสถาบันกำหนดมาตรฐานการผลิตและพัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาขึ้นมา โดยทำหน้าที่กำหนดมาตรฐาน หลักสูตรและการอบรม ซึ่งปัจจุบันมีอยู่แล้วหลายแห่ง แต่กระจัดกระจาย จึงอาจต้องทำให้เป็นหน่วยงานเดียวกัน เพื่อให้เกิดมาตรฐานเดียวกัน นอกจากนี้ จะมีกระบวนการจูงใจให้คนเก่งมาเรียนครู เช่น ให้ทุนเรียน เป็นต้น ทั้งนี้ ในการปฏิรูปฯรอบ 2 รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการศึกษานอกระบบด้วย เพราะช่วงชีวิตของคนเราอยู่นอกระบบโรงเรียนมากกว่าอยู่ในโรงเรียน โดยการศึกษานอกระบบจะไม่ใช่เก็บผู้ใหญ่ที่ตกหล่นจากระบบการศึกษาเข้ามาเรียนให้จบการศึกษาภาคบังคับ แต่จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต

นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษารอบ 2 ควรลดบทบาทของศธ.ลง เพราะที่ผ่านมาผูกขาดอำนาจมากเกินไป แล้วให้ภาคธุรกิจ องค์กรเอกชน ชุมชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยตนอยากเห็นระบบการศึกษามีหน่วยงานที่หลากหลายรูปแบบเข้ามาร่วมขับเคลื่อน ทั้งภาคราชการ กึ่งราชการ ประชาคม และภาคธุรกิจ

นายนิพนธ์ สุรพงษ์รักเจริญ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนจะให้ความสำคัญกับคณะกรรมการบริหาร หรือบอร์ด โดยเฉพาะตัวผู้นำและระบบการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล เช่นเดียวกับเรื่องการศึกษาที่มีคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) คณะกรรมการกกอ. คณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เพียงแต่ที่ผ่านมายังไม่เห็นการเชื่อมโยงกัน ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษารอบ 2 ควรต้องเชื่อมโยงคณะกรรมการบริหารทุกชุด ต้องต่อจิ๊กซอว์การทำงานร่วมกันให้ได้ ตนเชื่อว่าถ้าบอร์ดและผู้นำเปลี่ยนวิธีคิดได้ การปฏิรูปรอบ 2 ก็จะเปลี่ยนแปลงและเห็นผลได้อย่างรวดเร็ว

นางอุทุมพร จามรมาน ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) กล่าวว่า จากการทดสอบด้วยแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต นักเรียนระดับม.6 จำนวน 3 ครั้งที่ผ่านมา ผลออกมาแย่เหมือนกันทุกครั้ง สะท้อนว่าโดยเฉลี่ยครูสอน 200 วันต่อปี แต่เด็กได้ความรู้เพียง 1 ใน 3 ของความรู้ทั้งหมดที่ควรจะมี ถือว่าไม่คุ้ม ทั้งนี้ ผลสอบโอเน็ตม.6 แต่ละครั้งที่ผ่านมาพบว่าวิชาที่แย่สุดคือคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ ดังนั้น การปฏิรูปรอบ 2 ในระดับโรงเรียนควรเน้นให้ครูอยู่ในห้องเรียนมากขึ้น แทนการหนีไปทำผลงาน หรือไปรับการอบรมข้างนอก

นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า น่ายินดีที่รัฐมนตรีว่าการศธ.สะท้อนทัศนคติเชิงบวกต่อการปฏิรูปการศึกษารอบแรก เพราะจะต่อยอดในสิ่งที่ดีได้ ส่วนที่เป็นปัญหาก็แก้ไขไป จึงมีความหวังกับการปฏิรูปรอบ 2 ซึ่งตนเห็นว่าควรให้ความสำคัญที่ครูและการปฏิรูปการเรียนรู้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะส่งผลที่ดี อยากเห็นการปรับฐานเงินเดือนครู ซึ่งทราบว่าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำลังดำเนินการอยู่ ตนสนับสนุนแนวคิดจัดตั้งกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ทางการศึกษา แต่ไม่อยากให้เหมือนกรอ.ภาคธุรกิจที่มุ่งเอากำไรเป็นตัวตั้ง กรอ.ทางการศึกษาควรดึงเอ็นจีโอ โฮมสคูล ผู้ที่ทำงานชายขอบเข้ามา ก็จะช่วยเติมเต็มมิติทางสังคมเพิ่มขึ้น และฝากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ฟื้นโครงการครูต้นแบบ คุรุทายาท เพื่อขยายผลครูที่ดี ทั้งนี้ ถ้าไม่ทำทั้งระบบ การปฏิรูปครูเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาก็จะสำเร็จลำบาก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook