กทม.ล้อมคอกปัญหาอัคคีภัย ปลุกจิตสำนึก 3,000 ตึกทั่วกรุง

กทม.ล้อมคอกปัญหาอัคคีภัย ปลุกจิตสำนึก 3,000 ตึกทั่วกรุง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4072

สืบเนื่องจากเหตุการณ์ไฟไหม้สถานบันเทิง ซานติก้า และอาคาร เสือป่าพลาซ่า ส่งท้ายปีหนูรับปีวัว ทำให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบต้องออกมาตีฆ้องร้องป่าว ปลุกจิตสำนึกเจ้าของอาคารให้เกิดความตื่นตัวในการป้องกันภัยจากเหตุเพลิงไหม้

ด้วยการเปิดอาคารกีฬาเวศน์ 2 ภายในสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดง เชิญเจ้าของอาคารบางส่วนในเขตกรุงเทพฯ 3,000 รายเข้าร่วมประชุม ความปลอดภัยในอาคารจากอัคคีภัย โดยมี พงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ปลัด กทม.เป็นประธาน งานนี้ได้รับความสนใจจากเจ้าของอาคารเข้าฟังจนแทบ ไม่เหลือที่นั่งว่าง

ก่อนเข้าสู่ช่วงบรรยายเพื่อให้ความรู้เจ้าของอาคาร กทม.ได้ฉายภาพสไลด์เหตุการณ์เพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เพื่อให้เข้าถึงอารมณ์ความสูญเสียจากเหตุเพลิงไหม้ พร้อมยืนไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิต

เปิดการประชุมด้วยการบรรยายให้ความรู้จาก รศ.ดร.สุรชัย รดาการ ผู้อำนวยการสถาบันวิศวกรรมป้องกัน อัคคีภัย เนื้อหาส่วนใหญ่มุ่งไปที่การแนะนำวิธีจัดหาแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการดับเพลิงเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ตามกฎหมาย ซึ่งมีให้เลือก 2 แบบ คือ 1) ถังเก็บน้ำบนดาดฟ้า และ 2) ถังเก็บน้ำฝังใต้ดิน ซึ่งกฎหมายระบุว่าต้องมีขนาดความจุสามารถสูบมาใช้งาน ได้นาน 30 นาที

อย่างไรก็ตาม ดร.สุรชัยระบุว่าในการติดตั้งระบบปั๊มสูบน้ำจากถังเก็บน้ำ เจ้าของอาคารส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดกัน อยู่มาก เนื่องจากการเลือกระบบ ปั๊มน้ำ จะมีผลกับการสูบน้ำจากถังเก็บน้ำมาใช้ ดับเพลิง กรณีติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงแบบ สปริงเกอร์ และถังเก็บน้ำแบบ ใต้ดิน จะต้องติดตั้งปั๊มน้ำแบบ ปั๊มหอยโข่ง เท่านั้น เพราะมีแรงดูดสูงเพียงพอดูดน้ำจากใต้ดิน หากติดตั้งไม่ถูกต้องเวลาเกิดเพลิงไหม้จะไม่เกิดประโยชน์

ขณะที่ พ.ต.ท.กิตติธัช พิมพ์ทนต์ รอง ผกก.ฝ่ายอำนวยการ 6 กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บชน.) ได้ย้ำเตือนถึงสถานบันเทิงประเภทต่างๆ ตาม พ.ร.บ.สถานบันเทิง ฉบับที่ 4 พ.ศ.2546 ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ 1) เธค หรือไนต์คลับ 2) สถานที่จำหน่ายสุรา อาหาร (ภัตตาคาร) 3) สถานอาบอบนวดและเซาน่า 4) ผับ คาเฟ่ และคาราโอเกะเฉพาะที่มีพนักงานนั่งดริงก์ 5) สวนอาหาร ร้านอาหาร ที่มีดนตรีเล่นสดหรือการแสดงต่างๆ อาทิ โชว์ มายากล ฯลฯ และ 6) สถานบริการอื่นๆ ที่ให้ออกเป็นกฎกระทรวงเพิ่มเติมว่าต้องออกแบบอาคารให้ถูกต้องตามกฎหมาย และติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด

ธำรงศักดิ์ หงษ์ขุนทด เลขานุการสำนักงานคดีอาญา ให้ข้อสรุปเชิงกฎหมายว่า หากสถานบันเทิงละเว้นไม่ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันอัคคีภัย และเกิดเหตุไฟไหม้จนมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต จะมีความผิด ทั้งทางแพ่งคือต้องชดใช้ค่าเสียหาย และมีความผิดทางอาญาหากมีผู้เสียชีวิตหรือ บาดเจ็บ ได้แก่ ฐานทำร้ายร่างกายหรือฆ่าผู้อื่น ฐานทำให้เสียทรัพย์ หรือฐานกระทำการโดยประมาทให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

สุดท้าย พ.ต.ท.เมธี ทานาค ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการดับเพลิง 3 ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ดับเพลิงไหม้ศูนย์การค้าเสือป่าพลาซ่าแนะนำว่า อาคารสูงหรืออาคารสาธารณะควรจัดให้มีแผนพัฒนาบุคลากรด้านระบบป้องกัน อัคคีภัย รวมถึงตรวจสอบอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเสมอ

สิ่งสำคัญคือควรจัดทำแผนป้องกันและระงับอัคคีภัย โดยอาคารแต่ละแห่งควรกำหนดผู้รับผิดชอบทั้งก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุอัคคีภัย เพื่อให้การเคลื่อนย้ายคนออกจากอาคารทำได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญต้องจัดการ ซ้อมหนีไฟอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง หน้า 6

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook