จาก ซานติก้า ผับ ถึง ถนนข้าวสาร ลดค่าเช่า ปลุกธุรกิจ

จาก ซานติก้า ผับ ถึง ถนนข้าวสาร ลดค่าเช่า ปลุกธุรกิจ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4072

ผลพวงจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก การชุมนุมปิดสนามบินสุวรรณภูมิ-ดอนเมืองเมื่อปลายปีที่ผ่านมา รวมถึงเหตุเพลิงไหม้สถานบันเทิงชื่อดังย่านเอกมัย ซานติก้า ผับ ในค่ำคืนวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2552 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เสียชีวิตกว่า 66 ราย บาดเจ็บอีกนับร้อยราย กลายเป็น 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้บรรยากาศแหล่งท่องเที่ยว ฮอตฮิตของชาวต่างชาติอย่าง ถนนข้าวสาร เงียบเหงาไปถนัดตา

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการในย่านถนนข้าวสารจำนวนกว่า 1,000 ราย อาทิ ธุรกิจสถานบันเทิง เกสต์เฮาส์ ทัวร์ ร้านอาหารกึ่งผับ ร้านเครื่องเงิน ของกำนัล มินิมาร์ต ฯลฯ จึงต้องระดมสมองเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยมีสมาคมผู้ประกอบการถนนข้าวสารเป็นแกนนำ หลังจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาแวะพักในย่านถนนข้าวสารลดจำนวนลงถึง 80%

ลดค่าเช่า-จัดกิจกรรมสร้างสีสัน

ปัจจุบันสมาคมผู้ประกอบการ ถนนข้าวสารมี สุรัตน์ วงศ์ชาญศิลป์นั่งเก้าอี้นายกสมาคม มีจำนวนสมาชิกกว่า 200 ราย ได้ออกมาตรการ 2 ส่วนเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในย่านนี้ ประกอบด้วย 1) ปรับลดค่าเช่าอาคาร และ 2) จัดกิจกรรมและงานเทศกาลเฉลิมฉลองเพื่อสร้างสีสันอย่างงานปีใหม่ 2552 ที่เพิ่งจะ จัดผ่านพ้นไป

สำหรับการปรับลดค่าเช่าอาคารในย่านถนนข้าวสารถือเป็นมาตรการในลักษณะ ขอความร่วมมือ จากเดิมอาคารบนถนนข้าวสารและถนนรามบุตรีในละแวกใกล้เคียง ที่มีอัตราค่าเช่าเฉลี่ย 7 หมื่น- 1 แสนบาทต่อเดือนต่อคูหา ขอให้ปรับลดค่าเช่าลง 40-50% เพื่อให้สอดรับกับรายได้ผู้ประกอบการที่หดหาย หลังจากพบว่า ชาวต่างชาติมีการจับจ่ายใช้สอยลดลงจากอัตราเฉลี่ย 5 หมื่นบาทต่อราย เหลือ 2.5 หมื่นบาทต่อราย ต่อการเดินทางแวะพัก ในย่านถนนข้าวสารประมาณ 15 วัน ส่วนการจัดงานเทศกาลเฉลิมฉลอง ปีใหม่52 ถือเป็นการจัดงานใหญ่เพิ่มขึ้น อีกครั้ง จากทุกปีถนนข้าวสารมีการจัดงาน เทศกาลสงกรานต์ เพียงงานเดียว

จากการเซอร์เวย์สถานบันเทิงในย่านถนนข้าวสารสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่จับกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ และกลุ่มที่จับกลุ่มลูกค้าคนไทย เนื่องจากทั้ง 2 กลุ่มมีพฤติกรรมการเที่ยวแตกต่างกัน และมี บัดดี้กรุ๊ป เป็นผู้ประกอบการสถานบันเทิงรายใหญ่บนถนนข้าวสาร มีผับในเครือ อาทิ ซูซี่ มอลลี่ เดอะคลับ ฯลฯ ซึ่งเป็นรู้จักดีในย่านนี้

มัทนา คล่องแคล่ว ผู้ช่วยผู้จัดการร้าน เดอะคลับ ยอมรับว่า หลังเกิดปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลกทำให้จำนวนลูกค้าต่างชาติซึ่งเป็นลูกค้าหลัก เข้าร้านลดลงเหลือวันละ 100-200 คน และใช้เวลาดื่มกินในร้านลดลงเหลือครั้งละ 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะนักท่องเที่ยวเหล่านี้ยังต้องการมาเที่ยว เมืองไทยเนื่องจากค่าครองชีพต่ำ แต่มีงบประมาณลดลง

นอกจากนี้มีลูกค้าต่างชาติบางราย ขอต่อราคาด้วย ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หรือบางรายใช้วิธีซื้อเบียร์ตามร้านสะดวกซื้อและนั่งดื่มริมข้างทางแทน เพราะราคาถูกกว่า ทางร้านจึงต้องปรับลดราคา เครื่องดื่มลงเพื่อจูงใจ เช่น ค็อกเทลจากเดิม 250 บาท เหลือ 160 บาท และเพื่อลดค่าใช้จ่ายต้องปรับลดเงินเดือนพนักงานลง 3-5% แต่ก็ถือว่าดีกว่าการลดวันทำงาน

ผับข้าวสารตื่นตัวรับเหตุเพลิงไหม้

ผลพวงจากเหตุเพลิงใหม่ซานติก้า ผับ ย่านเอกมัย เมื่อเร็วๆ นี้ เป็นปัจจัยลบ อีกอย่างหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติในย่านนี้ เพราะ ส่วนใหญ่กลัวจะเกิดเหตุซ้ำรอยเหมือน คืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ อย่างร้าน เดอะคลับ หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ซานติก้า ผับ จำนวนลูกค้าลดลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ลูกค้าบางกลุ่มที่ต้องการเดินทาง มาเที่ยวถนนข้าวสารจริงๆ จะสอบถาม ถึงทางหนีไฟ และระบบความปลอดภัย เมื่อเกิดเพลิงไหม้

จากการสำรวจสถานบันเทิงในย่าน ถนนข้าวสารยังพบว่า หลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขตพระนครได้ทยอยเข้ามาตรวจสอบสถานบันเทิงต่างๆ ในย่านนี้ และมีคำสั่งให้สถานบันเทิง บางรายติดตั้งอุปกรณ์เกี่ยวกับการป้องกันอัคคีภัยให้ถูกต้องภายใน 1 เดือน เช่น ติดตั้งเครื่องตรวจจับควันไฟ ไฟฉุกเฉิน บอกตำแหน่งทางออกและทางหนีไฟถังดับเพลิงชนิดพิเศษ ฯลฯ รวมถึงซ้อมหนีไฟเป็นประจำทุกปี ปีละ 2 ครั้ง เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น

แม้วันนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนจาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า จากนี้ไปภาครัฐ จะมีมาตรการป้องกันปัญหาอัคคีภัย ที่เข้มงวดรัดกุมมากขึ้นเพียงใด แต่ผล ที่เกิดจากเหตุการณ์อาจมองได้ในหลาย มุมมอง ผลเชิงบวกทำให้เจ้าของกิจการสถานบันเทิง และหน่วยงานของรัฐ ที่เกี่ยวข้องตื่นตัวมากขึ้น ขณะเดียวกันความหวาดกลัวอันตรายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินก็เกิดผลในทางลบทำให้จำนวนลูกค้าที่มาใช้บริการลดลง หน้า 7

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook