พลิกแฟ้มคดีดัง : จาก เคเดอร์ ถึง ซานติก้าผับ

พลิกแฟ้มคดีดัง : จาก เคเดอร์ ถึง ซานติก้าผับ

พลิกแฟ้มคดีดัง : จาก เคเดอร์ ถึง ซานติก้าผับ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เปิดศักราชใหม่ปีวัวดุไม่กี่นาที ประเทศไทยต้องประสบกับเหตุโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ หลังเพลิงมรณะโหมกระหน่ำเผาผลาญ ซานติก้าผับ สถานบันเทิงชื่อดังย่านเอกมัย คร่าชีวิตนักเที่ยวไป 66 ศพ บาดเจ็บอีกกว่า 400 คน หลังจากกลุ่มนักเที่ยวเหล่านี้เข้าไปเที่ยวหาความสำราญในวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เมื่อคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2551 ต่อเนื่องวันที่ 1 มกราคม 2552 ควบคู่ไปกับการดื่มฉลองสั่งลาการปิดกิจการของผับชื่อดังแห่งนี้ จากเหตุการณ์ในวันนั้นจนถึงวันนี้เวลาล่วงเลยผ่านมากว่าครึ่งเดือน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงสอบสวนหาสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ในครั้งนี้ โดยยังไม่ฟันธงระบุอย่างชัดเจนว่า เพลิงมรณะที่เกิดขึ้นในค่ำคืนนั้นมีต้นสายปลายเหตุมาจากอะไร พลันที่เกิดความสูญเสียครั้งดังกล่าว ปัญหาการเกิดเพลิงไหม้ในอาคารที่มีผู้คนจำนวนมากเข้าไปใช้บริการถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันในวงสนทนาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง โดยเฉพาะในประเด็นการล้อมคอก หามาตรการป้องกันเหตุร้ายซ้ำอีก ทั้งที่ความจริงแล้วเหตุการณ์เพลิงไหม้ครั้งใหญ่ๆ คร่าชีวิตผู้คนไปจำนวนมากไม่ใช่เพิ่งเกิดเป็นครั้งแรก ย้อนหลังไปเมื่อช่วงเย็นวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 ลูกไฟขนาดมหึมาได้โหมกระหน่ำเผาผลาญอาคารขนาดใหญ่สูงเท่าตึก 5 ชั้น 4 อาคาร ปลูกติดกันบนเนื้อที่ 25 ไร่ ภายในอาณาบริเวณของ บริษัท เคเดอร์ อินดัสเตรียล ไทยแลนด์ จำกัด เลขที่ 23/14-15 หมู่ 6 ถนนพุทธมณฑลสาย 4 ต.กระทุ่มล้ม อ.สามพราน จ.นครปฐม อาคารทั้ง 4 หลังถูกใช้เป็นโรงงานผลิตตุ๊กตาผ้า ขณะเกิดเหตุมีคนงานกว่า 1,400 ชีวิตกำลังเร่งมือผลิตตุ๊กตาให้เสร็จทันตามออเดอร์ที่เจ้าของโรงงานกำหนดไว้ ทำให้คนเหล่านี้ต่างหนีตายเอาตัวรอดกันอย่างโกลาหล ต้นเพลิงเกิดจากชั้นล่างอาคารหลังแรก ซึ่งเก็บวัสดุไวไฟไว้หลายชนิดทั้งเศษผ้าที่ใช้ทำตุ๊กตา น้ำมัน และทินเนอร์ ก่อนจะลุกลามไปยังพื้นที่อื่นๆ โดยกินเวลาเพียงแค่ 14 นาทีก็เผาผลาญอาคารทั้ง 4 หลังจนพังถล่มลงมา คนงานกว่าพันชีวิตหนีรอดกองไฟมาได้อย่างทุลักทุเล แต่เนื่องจากตัวอาคารก่อสร้างโดยใช้โครงเหล็กไม่ทนไฟ ภายในไม่มีระบบเตือนและป้องกันเพลิงไหม้ ไม่มีบันไดหนีไฟ ประตูทางเข้าออกมีไม่มาก และความกว้างไม่ได้มาตรฐานกับจำนวนพนักงาน ทำให้คนจำนวนมากต้องเบียดเสียดแย่งกันออกจากตัวอาคาร ในจำนวนนั้นมีผู้ถูกไฟคลอกตายคากองเพลิงไป 188 ศพ บาดเจ็บ 485 คน ในจำนวนนี้มีถึง 60 คนต้องกลายเป็นอัมพาตไปตลอดชีวิต หลังเกิดเหตุมีการสอบสวนระบุถึงสาเหตุเพลิงไหม้ว่า เกิดจากความประมาทของคนงานที่สูบบุหรี่แล้วทิ้งก้นบุหรี่ลงไปติดเศษผ้าวัสดุทำตุ๊กตาก่อนลุกลามติดตัวอาคาร ส่วนสาเหตุที่ทำให้มีคนตายจำนวนมาก เนื่องจากภายในอาคารไม่มีระบบป้องกันอัคคีภัย อีกทั้งก่อสร้างผิดแบบ ตลอดจนเจ้าของไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้อาคาร ผลของเหตุการณ์เพลิงไหม้ครั้งนั้นทำให้กระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 48 ปี 2540 บังคับให้อาคารโครงสร้างเหล็กต้องมีการพ่นหุ้มด้วยวัสดุทนไฟ เพื่อไม่ให้อาคารยุบตัวพังทลายลงอย่างรวดเร็วเมื่อเกิดเพลิงไหม้ ขณะที่ กระทรวงแรงงานกำหนดให้ วันที่ 8-10 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันความปลอดภัยเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไปในทางปฏิบัติหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้บังคับใช้ข้อกฎหมายอย่างจริงจัง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2540 เกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ขึ้นอีกครั้ง โดยเพลิงได้ลุกไหม้อาคารเพรสซิเด้นทาวเวอร์ ซึ่งเป็นอาคารสูง 37 ชั้น ย่านเพลินจิต กรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่ต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ถึง 6 ลำ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ผจญเพลิงอีกจำนวนมาก เข้าช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในอาคาร แต่ก็ยังมีผู้เสียชีวิตไป 3 ศพ บาดเจ็บอีก 101 คน สาเหตุเกิดจากความประมาทของช่างที่เข้าไปตกแต่งภายในอาคาร คราบน้ำตาแห่งความสูญเสียจากเหตุเพลิงไหม้อาคารเพรสซิเด้นทาวเวอร์ยังไม่ทันเลือนหาย ก็เกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ขึ้นที่ รร.รอยัลจอมเทียน พัทยา เมื่อช่วงเที่ยงของวันที่ 11 กรกฎาคม ปีเดียวกัน โดยเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้คร่าชีวิตทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติไปทั้งสิ้นถึง 91 ศพ บาดเจ็บอีก 53 คน แม้โรงแรมแห่งนี้จะมีการก่อสร้างตามระเบียบกฎหมายควบคุมอาคารทุกอย่าง อีกทั้งขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน พนักงานโรงแรมและผู้ที่เกี่ยวข้องพยายามช่วยกันดับเพลิง แต่ก็ไม่สามารถทำได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากอุปกรณ์ดับเพลิงไม่ได้ติดตั้งไว้ในจุดที่เกิดเหตุ คือบริเวณห้องอาหารของโรงแรม รวมทั้งพนักงานขาดทักษะในการระงับเหตุและการควบคุมเพลิง ประกอบกับบันไดหนีไฟของโรงแรมก่อสร้างในลักษณะบันไดวน อีกทั้งล็อกกุญแจประตูหนีไฟและใช้เป็นที่เก็บของจำพวกโต๊ะเก้าอี้ ทำให้ผู้ประสบเหตุไม่สามารถหนีรอดออกจากตัวโรงแรมได้ทันท่วงที มีผู้เสียชีวิตอยู่บริเวณทางออกจำนวนมากเป็นที่อเนจอนาถแก่ผู้พบเห็น หลายศพนอนกอดกันกลมถูกไฟคลอกจนยากจะจดจำได้ว่าใครเป็นใคร หลังเกิดเพลิงไหม้ รร.รอยัลจอมเทียน พัทยา กฎหมายควบคุมการก่อสร้างอาคารก็ได้รับการสังคายนาอีกครั้ง โดยในครั้งนี้มีการกำหนดให้อาคารสูงทุกแห่งต้องมีการตรวจสอบอาคาร อุปกรณ์แจ้งเตือนและระบบป้องกันอัคคีภัยอยู่เป็นประจำ รวมทั้งผู้ประกอบการเจ้าของอาคารขนาดใหญ่จะต้องมีการจัดฝึกอบรมการผจญเหตุเพลิงไหม้ให้แก่พนักงานและผู้ใช้อาคารอยู่เป็นประจำด้วย อีกทั้งยังมีการตั้ง "คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณามาตรการป้องกันอัคคีภัยในอาคารสูง" ขึ้นมาพิจารณาหามาตรการเร่งด่วนในการแก้ปัญหาอุบัติภัยที่อาจเกิดแก่อาคารสูง และได้พิจารณาปรับปรุงกฎกระทรวง ฉบับที่ 47 (2540) เน้นให้มีบันไดหนีไฟและการปิดล้อมบันไดโดยมีอัตราการทนไฟไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง โดยให้มีผลบังคับใช้กับอาคารเก่าด้วย รวมทั้งการกำหนดให้มีการประกันภัยให้แก่ผู้ใช้อาคาร และบังคับให้มีการตรวจสอบอาคารและการต่ออายุการใช้อาคารอย่างเข้มงวดด้วย นอกจากนี้ในปี 2548 ยังได้ออก พ.ร.บ.ควบคุมและตรวจสอบอาคาร พ.ศ.2548 กำหนดให้สิ่งปลูกสร้าง 9 ประเภท ต้องได้รับการตรวจสอบอยู่เป็นประจำคือ 1.อาคารสูงเกินกว่า 23 เมตรขึ้นไป 2.อาคารขนาดใหญ่พิเศษเกิน 1 หมื่นตารางเมตร 3.อาคารที่เป็นชุมนุมคนที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป หรือชุมนุมคนได้ตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป 4.โรงมหรสพ 5.โรงแรม 6.สถานบริการ 7.อาคารชุด ที่พักอาศัย 8.โรงงาน และ 9.ป้ายโฆษณา แต่กฎหมายฉบับนี้ก็ยังขาดการบังคับใช้ที่เด็ดขาด กระทั่งปัจจุบันมีอาคารกว่าแสนแห่งทั่วประเทศที่เข้าข่ายต้องถูกตรวจสอบตามกฎหมายฉบับนี้ แต่ก็ไม่ได้มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง จนกระทั่งล่าสุดเกิดเหตุสยองขวัญขึ้นที่ "ซานติก้าผับ" ร.ท.วโรดม สุจริตกุล ที่ปรึกษาสมาคมตรวจสอบและบริหารความปลอดภัยอาคาร กล่าวว่า ข้อเสียของบ้านเราคือพอเกิดเหตุทีก็หาทางแก้ทีและแก้ปัญหาเฉพาะจุด ไม่ได้แก้ในภาพรวม เช่น โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ผลสอบสวนออกมาว่า ที่คนตายเยอะเพราะโครงสร้างอาคารเป็นเหล็กไม่ทนไฟ จึงกำหนดให้การก่อสร้างอาคารต้องมีโครงสร้างที่ทนความร้อนได้สูง โดยไม่ได้พิจารณาในประเด็นปัญหาอื่นๆ ต่อมาเมื่อเกิดเพลิงไหม้ รร.รอยัลจอมเทียนพัทยา ผลการสอบสวนออกมาว่าเกิดจากระบบป้องกันอัคคีภัยและอุปกรณ์ดับเพลิงติดตั้งไม่ครอบคลุม ก็มีการออกกฎหมายบังคับให้มีการตรวจสอบอุปกรณ์ป้องกันอัคคีภัย จัดฝึกอบรมการดับเพลิงให้ผู้ใช้อาคาร เหตุเพลิงไหม้ซานติก้าผับก็เช่นกัน หากมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เหตุร้ายคงไม่เกิดขึ้น อยากให้รัฐบาลใช้โอกาสนี้แก้ปัญหาแบบบูรณาการ โดยให้คณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติเป็นเจ้าภาพในการแก้ปัญหา ที่สำคัญต้องเร่งตรวจสอบสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในข่ายต้องตรวจสอบโดยเร่งด่วนก่อนจะเกิดเหตุร้ายซ้ำ "ปัจจุบันมีอาคารเก่ากว่า 1 แสนแห่งทั่วประเทศ ที่ต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขเรื่องความปลอดภัย เจ้าของไม่มีเงินทุนปรับปรุง เวลานี้รัฐบาลพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจก็น่าจะจัดตั้งกองทุนดอกเบี้ยต่ำให้เจ้าของอาคารเหล่านี้ได้กู้ยืมไปปรับปรุงเรื่องระบบความปลอดภัยด้วย"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook