อย.ลุยตรวจโรงงานชาวดอย พบผัก-ผลไม้กระป๋องเพียบ

อย.ลุยตรวจโรงงานชาวดอย พบผัก-ผลไม้กระป๋องเพียบ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบปลากระป๋องชาวดอยว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคระกรรมการอาหารและยา (อย.) ลงไปตรวจสอบเพิ่มเติม เบื้องต้นทราบว่าโรงงานผลิตปลากระป๋องยี่ห้อชาวดอยได้ปิดไปนานแล้ว แต่ยังลักลอบผลิตอาหารกระป๋องออกมาจำหน่าย จึงได้สั่งการให้ อย. ตรวจสอบสินค้าที่ลักลอบผลิตอย่างเร่งด่วนและดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาด

ด้าน นพ. พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการ อย. กล่าวว่า ได้ส่งทีมงานไปตรวจสอบโกดังเก็บของของบริษัท ทองกิ่งแก้วฟู๊ด จำกัด เลขที่ 17/1 หมู่ 5 ตำบลแคราย อ.กระทุมแบน จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นคนละจุดกับโรงงานที่ขออนุญาต พบอาหารบรรจุในกระป๋อง ที่ไม่ได้ผนึกฉลากจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่เป็นผลไม้กระป๋องและผักกระป๋อง จึงได้สั่งอายัดผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทั้งหมดแล้วเพื่อตรวจสอบ

ขณะนี้กำลังดูความผิดทามายว่าเข้าข่ายความผิดมาตราใด เพราะมีการนำอาหารที่บรรจุเสร็จมาติดฉลากภายหลัง และปั๊มวันที่ผลิตล่วงหน้า ซึ่งไม่ระบุแหล่งผลิตที่แน่ชัด เข้าข่ายการติดฉลากลวง หรือการผลิตอาหารปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน- 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-100,000 บาท หากพบว่าเป็นโรงงานรับจ้างผลิต โดยไม่ได้รับอนุญาตจะเข้าข่ายโรงงานผลิตไม่ได้มาตรฐาน ฝ่าฝืนการขออนุญาต มีโทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เลขาธิการ อย. กล่าว

นพ.พิพัฒน์ กล่าวว่า ผลการตรวจสอบปลากระป๋องล็อตเดียวกันกับที่แจกผู้ประสบภัยในจ.พัทลุง โดยห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.ตรัง เบื้องต้นไม่พบการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย แต่กำลังรอผลตรวจสารโลหะหนักตัวอื่นๆ ว่ามีปนเปื้อนหรือไม่ นอกจากนี้ อย. ยังได้เก็บตัวอย่างปลาประป๋องชาวดอย ที่ถูกนำไปบริจาคช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ จ.พัทลุง จำนวน 7 กระส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพ ซึ่งคาดว่าจะทราบผลภายในอาทิตย์นี้ ทั้งนี้ ขอความร่วมมือผู้จำหน่ายทุกแห่งให้เก็บปลากระป๋องยี่ห้อชาวดอยลงจากชั้นจำหน่ายทั้งหมด จนกว่าผลตรวจสอบจะแล้วเสร็จ

สันนิษฐานว่า สาเหตุที่ทำให้ปลาประป๋องเน่า มี 2 ปัจจัย คือ วัตถุดิบ ปลาไม่ได้มาตรฐาน ไม่สด และกระบวนการผลิตไม่ได้มาตรฐาน เช่น ความร้อน การนึ่ง อบ ไม่ได้มาตรฐาน ฆ่าเชื้อไม่สมบูรณ์ ซึ่งกระบวนการทุกขั้นตอนต้องได้ตามมาตรฐานจีเอ็มพี ถ้าโรงงานที่ผลิตไม่เข้าข่ายจีเอ็มพี และกระบวนการตรวจสอบขั้นตอนต่าง ๆ ไม่ได้มาตรฐาน อาหารที่ผลิตออกมามีโอกาสไม่มีคุณภาพได้ นพ.พิพัฒน์ กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook