ยูเอ็นบี้ไทยอย่าทารุณแรงงานโรฮิงยา

ยูเอ็นบี้ไทยอย่าทารุณแรงงานโรฮิงยา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เมื่อวันที่ 18 ม.ค. สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเพิ่มเติมจากการเปิดประเด็นของสำนักข่าวบีบีซี กรณีทหารเรือไทยกระทำทารุณกับผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงยาที่เป็นชนกลุ่มน้อยในพม่า ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจอินเดีย รานจิต นารยัน ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า ได้ช่วยเหลือกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ถูกขับไล่ออกมาจากไทยจริง กลุ่มแรงงานนี้ต่างกล่าวตรงกันว่าถูกทุบตีก่อนถูกผลักไสออกมาลอยเคว้งคว้างกลางทะเล ซึ่งเกรงว่าอีกหลายร้อยคนยังคงสาบสูญ หลังอินเดียช่วยมาได้ 446 คนจากเรือ 4 ลำเมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคม

ด้านคิตตี้ แม็กคินซีย์ โฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอชซีอาร์ กล่าวว่า ได้ขอให้รัฐบาลไทยดำเนินการทุกอย่างเท่าที่จำเป็นไม่ให้ชาวโรฮิงยาต้องเสี่ยงชีวิต หากข้อกล่าวหาที่แรงงานให้สัมภาษณ์เป็นจริง จะถือว่าไทยได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ถึงสิทธิในการมีชีวิตอยู่ ที่ปล่อยให้คนต้องไปเสี่ยงกับความตายกลางทะเล

วันเดียวกันที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการพบกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในวันที่ 19 ม.ค.นี้ ว่า จะพูดคุยทุกเรื่อง โดยจะได้ดูทั้งปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาพรวม ทั้งเหตุการณ์เฉพาะและเหตุการณ์ที่เป็นข่าวอยู่ 2-3 เรื่อง ซึ่งรวมถึงกรณีชาวโรฮิงยาด้วย

ด้านพล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผบ.สส.ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าว ว่า กองทัพไทยดำเนินตามนโยบายของรัฐบาล ส่วนการปฏิบัติก็มีขั้นตอนการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่พยายามหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายและด้านอื่นๆ เช่น อาชญากรข้ามชาติ ในกรณีผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เรามีมาตรการแนวทางในการปฏิบัติ นโยบาย บนพื้นฐานของมนุษยธรรม จากการที่ดูข่าวในซีเอ็นเอ็น เขาตั้งข้อสังเกตผู้ที่พยายามหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายมีแต่คนหนุ่มๆ ไม่มีผู้หญิง เด็ก คนแก่ อยากให้สื่อมวลชนลองวิเคราะห์ดูภาพว่า คนพวกนี้เข้ามาทำอะไร อยู่ในวัยไหน จำนวนเท่าไหร่ และไม่ใช่ภาพของคนที่อพยพเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย เขามาเพื่อความมุ่งหมายใด ประเทศที่เขารับ คนพวกนี้ก็ไม่ไป ทำไมพยายามเข้ามาประเทศไทย เรือที่วิ่งได้ 700 กิโลเมตร เรือเล็กทำได้หรือไม่ มีขบวนนำพาหรือเปล่า ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกส่วนกำลังดำเนินการ

พล.อ.ทรงกิตติ กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยยอมรับให้เขาเข้ามาไม่ได้ ไม่มีประเทศใดที่จะยอมรับคนเหล่านี้เข้ามา เขาพยายามไปแล้วไม่ว่าจะเป็นประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ ประเทศไทย ส่วนขั้นตอนการปฏิบัติตามกฎหมาย คือการส่งกลับออกไป มีกฎกติกาอยู่แล้ว ขอยืนยันว่ากองทัพไทยไม่เคยปฏิบัติการอันไร้มนุษยธรรม เป็นที่ยอมรับในเวทีนานาประชาชาติ ว่ากองทัพไทยปฏิบัติการเพื่อรักษาสันติภาพได้อย่างดีเยี่ยม ได้รับเชิญไปปฏิบัติการทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นที่ แอฟริกา เอเชีย เป็นพื้นฐานการทำงานของกองทัพ จึงยืนยันได้ว่าไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นแน่นอน

ด้านพ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) กล่าวว่า เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสธ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เป็นห่วงมาก เพราะความผิดชอบหลักเป็นหน้าที่หลักของกอ.รมน. ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการตามกรอบตามขั้นตอนและมาตรการการปฏิบัติโดยขึ้นอยู่กับหลักสิทธิมนุษยชน

ทุกๆ คนก็คือมนุษย์ เราคำนึงถึงเรื่องของสิทธิต่างๆ เป็นอันดับแรกและไปตามกรอบการปฏิบัติที่ต้องดำเนินการอย่างละมุนละม่อม ซึ่งจุดตรวจต่างๆ ที่ตรวจจับจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายและผลักดันออกไปนอกประเทศโดยจะคำนึงถึงช่องทางที่ปลอดภัยมากที่สุด บางครั้งได้มอบอาหารและยารักษาโรคให้ติดตัวกลับไปด้วย เพราะเรากังวลในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะความไม่ปลอดภัย พ.อ.ธนาธิปกล่าว และว่า เลขาธิการกอ.รมน.ห่วงเรื่องนี้มาก โดยเฉพาะมาตรการควบคุมการดูแลของกลุ่มผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งมีนโยบายอย่างเด่นชัด ฝากให้เจ้าหน้าที่ทุกคนทำงานอย่างเต็มที่ คำนึงถึงหลักมนุษยชนเป็นหลัก ซึ่งอาจจะต้องเชิญสื่อต่างประเทศมาชี้แจงให้เกิดความเข้าใจถึงขั้นตอนต่างๆ ในการปฏิบัติเพราะทุกอย่างเป็นไปด้วยหลักการและเรื่องจริง ซึ่งเราไม่ได้มุ่งหวังที่จะทำให้เกิดความรุนแรงเหมือนภาพที่เผยแพร่ออกไป เราอยากให้ทุกคนเข้าใจถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เนื่องจากบริเวณที่เกิดเหตุมีกลุ่มมุสลิมชาวพม่าจำนวนมาก

(กรอบบ่าย)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook