ชู 10 โครงการดันอุตฯซอฟต์แวร์ ชี้ไทยพลิกวิกฤติสู่โอกาสสร้างรายได้ 3 ธุรกิจหลัก

ชู 10 โครงการดันอุตฯซอฟต์แวร์ ชี้ไทยพลิกวิกฤติสู่โอกาสสร้างรายได้ 3 ธุรกิจหลัก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ซิป้า เผยยุทธศาสตร์ส่งเสริมซอฟต์แวร์ปี 52 วางงบประมาณ 325 ล้านบาท ขับเคลื่อน 10 โครงการ ระบุไทยต้องเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส สร้างรายได้ 3 ธุรกิจหลัก บันเทิง-การศึกษา-อาหาร พร้อมโชว์ตัวเลขการเติบโต-การลงทุนซอฟต์แวร์น่าเป็นห่วง

ดร.รุ่งเรือง ลิ้มชูปฏิภาณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือซิป้า เปิดเผยว่าแผนการดำเนินการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของซิป้าในปีงบประมาณ 2552 นั้นได้วางยุทธศาสตร์การดำเนินการไว้ 6 ด้าน คือ การสร้างความร่วมมือกับภาคการศึกษาและอุตสาหกรรมผลิตบุคลากรซอฟต์แวร์ , ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและสิทธิประโยชน์ ,พัฒนาส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และดิจิตอลคอนเทนต์, การส่งเสริมและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา , การพัฒนาศักยภาพการแข่งขันไอซีทีของประเทศ และการผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางไอซีทีภูมิภาค

โดยได้เตรียมงบประมาณ 325 ล้านบาท ในการดำเนินโครงการ 10 โครงการหลัก ประกอบด้วย โครงการจัดทำระบบบริการซอฟต์แวร์ และข้อมูลอุตสาหกรรมกลางแห่งชาติ ,โครงการส่งเสริมและพัฒนาการตลาดผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ , โครงการคัดสรรผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ดีเด่นแห่งชาติ ,โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมไอซีทีระดับโลก โครงการจัดตั้งศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมดิจิตอลคอนเทนต์แห่งชาติ

โครงการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะและพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ,โครงการส่งเสริมการลงทุนและร่วมทุนกับผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ ,โครงการส่งเสริมการใช้และพัฒนาโอเพนซอร์ซซอฟต์แวร์ ,โครงการส่งเสริมการใช้ไอซีทีสำหรับวิสาหกิจ และ โครงการส่งเสริมมาตรการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

ดร.รุ่งเรือง กล่าวอีกว่าปี 2552 เป็นปีแห่งวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เป็นปัญหาในทุกประเทศทั่วโลก เพราะระบบเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย ทั้งนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายความอยู่รอดของระบบเศรษฐกิจไทย ดังนั้นประเทศไทยจึงควรมีการกำหนดแนวทางการบริหารประเทศเชิงรุก เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา ควบคู่ไปกับการสร้างโอกาสเชิงรุก ด้วยการเปลี่ยนวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้น ให้เป็นโอกาสสร้างงานและสร้างรายได้

ทั้งนี้มองว่ากลุ่มธุรกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคขณะนี้ คือ 1. ธุรกิจบันเทิง โดยประเทศไทยควรมีแนวทาง การส่งเสริมและการจูงใจการลงทุนย้ายฐานการผลิตจากต่างประเทศ เพื่อสร้างงาน และธุรกิจการผลิตสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตระดับโลก , 2.ธุรกิจการศึกษา โดยควรมีการจัดทำแผนการฝึกอบรมบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อพัฒนากำลังคนของประเทศให้มีความรู้ทันสมัย ให้มีประสิทธิภาพในการทำงานสูง และสอดคล้องกับความต้องการในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจของประเทศ พร้อมๆ ไปกับการจัดทำโครงการระบบอีเลิร์นนิ่งแห่งชาติ และ 3.สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารและการกินอยู่ทั่วไป

โดยไทยควรมีแนวทาง การดำเนินจัดทำระบบการบริการโซลูชันเต็มรูปแบบ ในธุรกิจที่สอดคล้องกับเรื่องที่ประเทศไทยเรา มีความได้เปรียบ อันได้แก่ ธุรกิจร้านอาหารไทย การท่องเที่ยว ธุรกิจสินค้าประเภท โอ

ท็อป หรือเอสเอ็มอีไทย ให้เป็นระบบบริการสมบูรณ์ที่ต่อเนื่องครบวงจรเป็นห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)

นอกจากนี้ก็ควรให้มีการพัฒนาระบบบริหารสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย เป็นโครงการระบบบริหารทรัพยากรองค์กร หรืออีอาร์พีแห่งชาติ เพื่อให้สามารถเข้าถึงระบบซอฟต์แวร์ราคาถูก และสามารถถูกนำมาใช้ในการพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีให้มีความทันสมัย

อนึ่งปี 2551 ที่ผ่านมาตลาดซอฟต์แวร์ไทยโดยรวมมีมูลค่าประมาณ 62,900 ล้านบาท เติบโต 11.2% ส่วนปี 2552 คาดว่าจะมีการเติบโตถดถอย โดยคาดว่าจะมูลค่าประมาณ 65,000 ล้านบาท เติบโตอยู่ที่ 4.9% ในขณะที่ตัวเลขการลงทุนในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ปี 2551 มีมูลค่าการลงทุนเพียง 367 ล้านบาท ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก

ส่วนมูลค่าการส่งออกซอฟต์แวร์นั้นในปี 2551 มีมูลค่าประมาณ 4,500 ล้านบาท ซึ่งก็ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง สำหรับซอฟต์แวร์แอนิเมชันและมีเดีย ปี 2550 ตลาดมีมูลค่า 11,000 ล้านบาท ส่วนปี 2551 มีมูลค่า 14,000 ล้านบาท เติบโตขึ้น 20% ซึ่งในปี 2552 นั้นได้วางเป้าหมายผลักดันให้ตลาดมีมูลค่า 20,000 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 40%

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook