อลงกรณ์เสนอขึ้นบัญชีข้าวโพดสินค้าควบคุมพร้อมมันสำปะหลัง พ่อเมืองพิจิตรได้เบาะแสทุจริตจำนำข้าว

อลงกรณ์เสนอขึ้นบัญชีข้าวโพดสินค้าควบคุมพร้อมมันสำปะหลัง พ่อเมืองพิจิตรได้เบาะแสทุจริตจำนำข้าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ผู้ว่าฯพิจิตรเผยได้เบาะแสทุจริตจำนำข้าว ซื้อของเก่ามาสวมกินส่วนต่าง 1 พัน ชาวนา-โรงสีศรีสะเกษวอนขยายเวลาถึงสิ้นมีนาคมนี้ อลงกรณ์ ประชุม กก.แทรกแซงข้าวโพด สอบข่าว จนท.รัฐรับสินบนสวมสิทธินำเข้าตามชายแดน เสนอขึ้นบัญชีสินค้าควบคุมพร้อมมันสำปะหลัง นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 19 มกราคม จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแทรกแซงข้าวโพด เพื่อพิจารณาและตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีกระแสข่าวว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐรับสินบนลักลอบและสวมสิทธิข้าวโพดนำเข้าตามชายแดน จะสั่งเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบจากชายแดนต่างๆ โดยขอความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร นอกจากนั้น จะพิจารณาตัวเลขยอดรับจำนำข้าวโพดในงวดแรกจำนวน 5 แสนตัน และการกำหนดโควต้าการรับจำนำข้าวโพดในแต่ละจังหวัด รุ่นที่ 2 อีก 2.5 แสนตันว่า เกิดความเป็นธรรมและมีอะไรบิดเบือนหรือไม่ จะขอข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับจังหวัดมายืนยันกันว่าปริมาณที่แท้จริงเป็นเท่าใด มีปริมาณเหลือที่ต้องการให้รัฐบาลไปแทรกแซงอีกเท่าใด เพราะตัวเลขแต่ละหน่วยงานแตกต่างกันมาก ที่ประชุมยังจะหารือถึงจุดอ่อนและแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนการออกใบประทวนล่าช้าและการทำงานที่ล้าช้าขององค์กรคลังสินค้า (อคส.) รวมถึงกระบวนการจ่ายเงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามในประทวน ซึ่งมีการร้องเรียนล้าช้า

นายอลงกรณ์กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ จะประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มีนางพรทิวา นาคาสัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน เพื่อพิจารณาข้อเสนอขึ้นบัญชีให้ข้าวโพดและมันสำปะหลังเป็นสินค้าควบคุม และใช้มาตรการห้ามขนย้าย เคลื่อนย้ายข้ามเขตเพื่อป้องกันการลอกลอบและสวมสิทธิ ซึ่งปัจจุบันใช้กับข้าวแล้ว

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้าวในสมัยที่นายไชยา สะสมทรัพย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ส่งตัวแทนมาตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย เพราะต้องการข้อสรุปที่ถูกต้อง โปร่งใสในการระบายสต๊อกข้าวรัฐบาลที่เหมาะสม ไม่เอื้อให้กับผู้มีอิทธิพล หากพบว่ามีการเอื้อประโยชน์ และบิดเบือนข้อเท็จจริงก็จะเอาผิดกับผู้ที่อนุมัติโครงการ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า รัฐบาลที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ลงนามในสัญญาขายข้าวของรัฐขาดทุนหลายหมื่นล้าน เพียงวันเดียวก่อนพ้นจากตำแหน่งทั้งที่หลายฝ่ายได้ทักท้วงว่าจะทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ แต่ทางกระทรวงพาณิชย์ไม่ยอมยกเลิกหรือทบทวนการประมูลดังกล่าว เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล กระทรวงพาณิชย์กลับสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนการประมูลขายข้าวให้เอกชนในครั้งนั้น หลายฝ่ายมองว่าน่าจะให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือองค์กรอิสระอื่นๆ เข้าไปตรวจสอบจะมีความโปร่งใสมากกว่า เนื่องจากเกรงว่าคณะกรรมการซึ่งมีเพียงรองปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน จะไม่กล้าตรวจสอบนักการเมืองหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดดังกล่าวได้

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ปัญหาการรับจำนำข้าวในช่วงที่ผ่านมาเกิดปัญหาในกรณีราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาด ทำให้รัฐบาลต้องแบกภาระต้นทุน ที่ผ่านมาภาคเอกชนได้เรียกร้องให้รัฐบาลหรือกระทรวงพาณิชย์ใช้ระบบการประกันภัย เข้ามารับความเสี่ยงแทนการเข้าไปค้ำประกันราคา รัฐบาลที่ผ่านมา อาจมีการเข้ามาสวมสิทธิของเกษตรกร ทำให้ต้องแบกรับภาระต้นทุนสูง ดังนั้น รัฐบาลน่าจะพิจารณาข้อเสนอของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ให้เปลี่ยนแนวคิดจากการประกันราคาในระดับที่สูงกว่าราคาตลาด เช่น การจำนำข้าวเปลือกในราคา 12,000 บาทต่อตัน เป็นการประกันเพื่อให้เกษตรกรขายพืชผลในราคาที่ไม่ขาดทุน และลดบทบาทของภาครัฐในตลาดข้าว

นายสมชัย หทยะตันติ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งแบะแสจากชาวนาว่ามีโรงสีบางแห่งมีพฤติกรรมทำตัวทุจริต โดยนำรายชื่อชาวนาที่ไม่ได้ทำนาปี 50/51 มาเข้าร่วมโครงการรับจำนำ แล้วเอาข้าวโรงสีเข้ามาสวมในโครงการแทนเพื่อเก็งกำไร โดยจ่ายค่าตอบแทนให้ชาวนาตันละ 300-400 บาท นอกจากนี้โรงสีบางแห่งไปประมูลข้าวมาจากโกดังกลางของรัฐบาลกระสอบ 1,300-1,500 บาท นำมาแกะเชือกเก่าออกและเย็บเชือกใหม่ปิดกระสอบ แล้วสวมในโกดังข้าวองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรเพื่อเก็งกำไรส่วนต่างตันละ 1,000 บาท จึงให้นายยุทธนา วิริยะกิตติ รองผู้ว่าฯไปตรวจสอบข้อเท็จจริง หากเป็นจริงคงคงปล่อยไว้ไม่ได้ถือว่า เพราะเป็นการทุจริตอย่างร้ายแรง และวันที่ 20 มกราคม จะเรียกทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าได้ผลอย่างไร

ที่ จ.ศรีสะเกษ นายบุญยงค์ วารินทร์ อายุ 40 ปี ชาวนา ต.หนองฉลอง อ.ขุขันธ์ กล่าวว่า ปีนี้ผลผลิตออกช้า เพราะข้าวขาดน้ำในช่วงต้นฤดูปักดำ ถึงช่วงเก็บเกี่ยวระหว่างโครงการรับจำนำข้าวนาปี 51/52 ทำให้ชาวนาไม่สามารถจำนำข้าวได้ แต่โครงการจะสิ้นสุดปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ จึงขอให้รัฐบาลขยายเวลาออกไปอีกระยะ

นายศักดิ์ณภัทร สุขวัฒนลาภ ผู้จัดการโรงสีบริษัท กันทรลักษ์รุ่งเรือง จำกัด ต.หนองหญ้าลาด อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า อยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมองถึงผลประโยชน์ของชาวนาเป็นที่ตั้ง โดยขยายเวลารับจำนำข้าวไปถึงสิ้นเดือนมีนาคมนี้

ที่ตลาดกลางหอมแดงท่าเรือ อ.เมืองศรีสะเกษ เกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงจาก อ.ยางชุมน้อย อ.บึงบูรพ์ อ.กันทรารมย์ และ อ.ราษีไศล เหมารถบรรทุกหอมแดงมาขายให้พ่อค้าที่มารอรับซื้อกันอย่างคึกคัก แต่ปรากฏว่าขายได้เพียงกิโลกรัมละ 11-12 บาทเท่านั้น ต่ำกว่าในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2551 ขายได้ 24-30 บาท ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่พากันขนกลับไป

นายสุรศักดิ์ รัตนวัน อายุ 48 ปี อยู่เลขที่ 55 หมู่ 6 ต.ไผ่ อ.ราษีไศล กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาโดยด่วน เพราะมีแนวโน้มว่าราคาจะต่ำลงไปอีก ซึ่งจะทำให้เกษตรกรเดือดร้อนมาก

นายเพชร จิรไพรวงศ์ เจ้าของ ก พืชผล บ้านยศแสน ผู้รับซื้อหอมแดงรายใหญ่ที่สุดของ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า สอบถามตลาดปลายทางทราบว่าไม่สามารถส่งออกไปอินโดนีเซียได้ ทำให้ราคาตกต่ำลง อีกทั้งที่ตลาดสี่มุมเมือง และตลาดไทขายเพียง 12-13 บาทเช่นกัน รัฐบาลควรพยุงราคาหอมแดง ไม่ให้ตกต่ำลงไปอีก รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาการส่งออกด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook