มาร์คออกอากาศทีวี พบประชาชนครั้งแรก เน้นลด แลก แจก แถม ฟันฝ่าศก. เชื่อมั่นประเทศไทย สไตล์มาร์ค นายอ

มาร์คออกอากาศทีวี พบประชาชนครั้งแรก เน้นลด แลก แจก แถม ฟันฝ่าศก. เชื่อมั่นประเทศไทย สไตล์มาร์ค นายอ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
... บางคนบอกว่าลด แลก แจก แถม มากเกินไปหรือเปล่า ... อย่าง 2,000 บาทให้กันดื้อๆ อย่างนี้เลยหรือ ... ผมก็ต้องบอกว่า ... ตอนนี้บ้านไฟกำลังไหม้เข้ามา เสียดายน้ำไม่ได้นะครับ ต้องดับไฟให้ได้ก่อน แล้วก็เดินหน้าไป ... เวลาที่เศรษฐกิจเจอปัญหาต้องมีการกระตุ้น ถ้าไปใช้มาตรการลดหย่อนภาษี กว่าคนจะรู้สึกว่ามีเงินเพิ่มขึ้น และนำไปใช้จ่าย ก็สายไปแล้ว ... ที่มา - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านรายการ เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์ ออกอากาศเป็นครั้งแรกทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที และสถานีโทรทัศน์กระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 18 มกราคม

-------------------

คณะรัฐมนตรีอนุมัติกรอบแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น โดยบางมาตรการสามารถเริ่มต้นได้ทันที แต่บางมาตรการที่ต้องรอใช้งบประมาณกลางปี 2552 ซึ่งรัฐบาลจะเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรปลายเดือนมกราคม หลักการแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นการมองภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่หดตัวลง ดังนั้นการทำให้เศรษฐกิจไทยฟันฝ่าไปได้ จะหวังพึ่งชาวต่างชาติคงไม่ได้ วันนี้เราต้องช่วยซึ่งกันและกัน คำว่า ช่วยซึ่งกันและกัน คือต้องมองว่าประชากรไทยมี 65 ล้านคน ซึ่งถือเป็นตลาดที่ใหญ่พอสมควร ถ้าสามารถทำให้เศรษฐกิจในประเทศหมุนเวียนได้ด้วยการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ น่าจะเป็นแนวทางที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น

ถ้าเราสามารถผ่านช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงที่ลำบากที่สุดไปได้ ในครึ่งปีหลัง หรือประมาณเดือนกรกฎาคม-กันยายนเป็นต้นไป ถ้าเศรษฐกิจโลกเริ่มคลี่คลายลง ผมเชื่อว่าเราจะสามารถฟันฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ไปได้

สิ่งที่รัฐบาลต้องทำในภาวะเช่นนี้คือ การลดภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของประชาชน และทำให้เงินในกระเป๋าของประชาชนเพิ่มขึ้นเพื่อให้กล้าออกไปจับจ่ายใช้สอย ที่จริงแล้วรัฐบาลไม่ได้มีเงินของตัวเอง แต่ได้เงินจากภาษีของประชาชน เวลารัฐบาลตัดสินใจว่าจะใช้เงินภาษีเท่าไร จึงต้องดูด้วยว่ามีความเป็นธรรมหรือไม่ มีหลักเกณฑ์หรือไม่ ต้องไม่ให้รั่วไหล และต้องดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการเงินการคลังของประเทศ หลายคนพอฟังแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ก็บอกทำไมให้น้อย อยากเรียนว่างบประมาณของรัฐบาลมีข้อกำหนดว่าห้ามขาดดุลเกินเท่าไร ห้ามกู้เงินในประเทศเกินเท่าไร ซึ่งการจัดงบประมาณเพิ่มเติมแสนกว่าล้านกลางปีนี้ (ครม.อนุมัติกรอบไปแล้ว 1.15 แสนล้านบาท) ขยับเข้าไปใกล้เพดานตรงนี้แล้ว ผมไม่อยากจะให้เกินเพดาน ไม่อยากเสียวินัย ต้องคิดถึงกรอบในวันข้างหน้าว่าเราจะสามารถใช้จ่ายเงินได้

แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลประกอบด้วย 3 ส่วนหลักคือ การเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และกระจาย ซึ่งเวลาคิดถึงกรอบการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้คิดถึงประชาชนครบทุกกลุ่ม แต่คิดถึงประชาชนที่มีความยากลำบากเป็นพิเศษก่อน

กลุ่มที่ 1 กลุ่มเกษตรกร รัฐบาลชุดที่แล้วได้อนุมัติงบประมาณ 110,000 ล้านบาท ดำเนินโครงการรับจำนำพืชผลการเกษตร 3 ชนิด เพื่อแก้ไขปัญหาราคาตกต่ำ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพด วันที่ผมเข้ามาบริหาร เงินยอดนี้ใช้เกือบหมดแล้ว กรณีข้าวและมันสำปะหลังยังพอบริหารจัดการได้ แต่ปัญหาข้าวโพดแม้จะขยายโควต้าเพิ่มในช่วงปลายปี แต่ก็ยังไม่พอ ดังนั้นจะขยายโควต้าและวงเงินรับจำนำเพิ่มอีก อย่างไรก็ตาม ผมจะไม่ปล่อยให้มีทุจริต ดังนั้นจะตรวจสอบไปพร้อมๆ กัน หลายคนอาจเห็นข่าวที่กระทรวงพาณิชย์ตรวจสอบกรณีการสวมสิทธิเอาข้าวโพดมาจากต่างประเทศมาจำนำไทย อย่างนี้ต้องแก้ไข

นอกจากนี้รัฐบาลจะเพิ่มการรับจำนำ ยางพารา และปาล์ม ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายวีระชัย วีระเมธีกุล) ไปเจรจากับทางประเทศจีนให้ยืนยันคำสั่งซื้อยางพาราที่สั่งไว้ล่วงหน้าด้วย ทั้งหมดนี้คาดว่าจะเพิ่มเงินเข้าไป 30,000 ล้านบาท พร้อมกันนี้จะจัดทำโครงการแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร จึงมั่นใจว่ามาตรการนี้จะช่วยให้เกษตรกรฟันฝ่าช่วงที่ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำไปได้

กลุ่มที่ 2 กลุ่มท้องถิ่นและชุมชน รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณให้หมู่บ้านและชุมชนต่างๆ เพิ่มอีกเท่าตัวจากที่เคยได้รับจากโครงการเอสเอ็มแอล (โครงการพัฒนาศักยภาพหมู่บ้าน/ชุมชนให้เข้มแข็ง) ส่วนหมู่บ้านใดที่ยังไม่ได้อยู่ในโครงการ ก็จะจัดสรรให้เป็น 2 เท่าเช่นกัน แต่จะปรับเป็นแนวทางของกองทุนเศรษฐกิจพอเพียง น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาปรับใช้เพื่อให้เกิดความยั่งยืน และจะทำให้มีเงินหมุนเวียนอยู่ในระดับพื้นฐานของเศรษฐกิจจริงๆ โดยคาดว่าจะใช้วงเงินเกือบ 20,000 ล้านบาท

กลุ่มที่ 3 กลุ่มคนว่างงานซึ่งคาดว่าจะมีอย่างต่ำ 5 แสนคน รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาที่สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อดูแลแก้ไขปัญหาเป็นการเฉพาะ ภายใต้งบประมาณ 7,000 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่การฝึกอบรมคนที่ยังทำงานอยู่ จากนั้นดูว่าถ้ามีความเสี่ยงว่าอาจถูกเลิกจ้าง ก็เอาเงินไปสมทบให้ทางนายจ้างใช้ฝึกอบรมคนเหล่านี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกเลิกจ้าง ทั้งนี้จะมีการดึงทุกหน่วยงานเข้ามาช่วย มาเสนอว่าต้องการแรงงานอย่างไร

กลุ่มที่ 4 กลุ่มแรงงานนอกระบบ สามารถไปอยู่ในโครงการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะได้ โดยอาจมีที่โครงการส่งเสริมให้เขาเป็นผู้ไปเผยแพร่ทักษะ หรือทำธุรกิจที่เป็นอิสระ ธุรกิจเล็กๆ ได้ เพื่อสร้างโอกาสใหม่ อันนี้เป็นมาตรการที่เราจะช่วยเหลือต่อไป

กลุ่มที่ 5 ผู้มีเงินเดือนประจำที่อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งบ่นมาตลอดว่าเวลาเศรษฐกิจไม่ดี ถูกหักเงินเดือนเข้าประกันสังคมเดือนละหลายร้อยบาท คุ้มหรือไม่ ผมเรียนว่าใจผมอยากให้ทุกคนมีเงินเดือนเพิ่มขึ้น แต่อย่างที่บอกคือเราไม่ได้มีงบประมาณไม่จำกัด เราจำเป็นต้องดูในระดับที่เป็นไปได้และมีความเหมาะสม ดังนั้นสิ่งที่ทำคือไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่ในระบบประกันสังคม เป็นข้าราชการ หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถ้าเงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท จะให้เงินไปเลยคนละ 2,000 บาทเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย ผมเรียนว่าหลายประเทศทำรูปแบบนี้ในขณะนี้ เพราะเทียบเคียงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาแล้ว วิธีนี้เร็วที่สุด

กลุ่มที่ 6 กลุ่มผู้สูงอายุ เดิมได้รับเบี้ยยังชีพคนละ 500 บาท/เดือน แต่ได้กันไม่กี่คน หลายชุมชนแทบจะเรียกว่าทะเลาะเบาะแว้งกันเลย เพราะต้องมีผู้นำที่ตัดสินว่าใครจะได้ หรือไม่ได้ ครั้งนี้รัฐบาลตัดสินใจแล้วว่าต่อไปนี้ใครอายุเกิน 60 ปีควรมีสิทธิ ดังนั้นจะเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุซึ่งมีอายุเกิน 60 ปี ยกเว้นคนที่มีหลักประกันอยู่แล้วคือ ได้รับบำเหน็จบำนาญจากราชการ มาขึ้นทะเบียนเพื่อรับเบี้ยยังชีพ 500 บาท/เดือน อันนี้เป็นนโยบายสำคัญที่พูดกันมานานแล้ว แต่ยังไม่มีใครทำให้เกิดขึ้น ครั้งนี้จะถือโอกาสนี้ทำให้เกิดขึ้น

กลุ่มที่ 7 กลุ่มนักเรียน ในปีการศึกษาหน้าจะเริ่มต้นเดือนพฤษภาคมนี้ รับรองได้ว่านโยบายเรียนฟรี 15 ปี ตั้งแต่ชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษาตอนปลายเกิดขึ้นแน่ ซึ่งมีการสำรวจว่าจะต้องชดเชยเงินให้โรงเรียนเท่าไร สนับสนุนค่าอุปกรณ์การเรียนทั้งเรื่องเครื่องแบบ ตำราเรียนได้เท่าไร ตรงนี้จะช่วยทำบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ปกครอง และเป็นการยืนยันสิทธิของเด็กที่เป็นลูกหลานของเรา

กลุ่มที่ 8 กลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็ก/ขนาดกลาง (เอสเอ็มอี) ขณะนี้รัฐบาลกำลังประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ในเรื่องการให้สินเชื่อ ซึ่งขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ได้ลดดอกเบี้ยไปค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันผมได้มอบให้กระทรวงการคลังช่วยดูในเรื่องการค้ำประกันสินเชื่อให้ทั้งผู้ส่งออก ทั้งเอสเอ็มอี ถามว่าตอนนี้เงินในระบบมีหรือไม่ มี ดอกเบี้ยถูกไหม ถูก แต่ปัญหาคือธนาคารและสถาบันการเงินไม่ค่อยกล้าปล่อยกู้ พอเห็นเศรษฐกิจจะไม่ดี ก็กลัว เราก็บอกว่าถ้าอย่างนั้น ทางแก้คงไม่ใช่ไปหาเงินเพิ่ม หรือลดดอกเบี้ยลงไปมากกว่านี้ แต่ต้องเข้าไปช่วยแบ่งเบาภาระในเรื่องความเสี่ยง ทำกลไกการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับกลุ่มนี้

ส่วนการท่องเที่ยว นอกจากงบประมาณที่มีอยู่ในงบประมาณกลางปีที่เตรียมจัดสรรให้แล้ว ยังมีมาตรการเพิ่มความเชื่อมั่น เช่น การยกเว้นค่าธรรมเนียมในการขอวีซ่า การลดค่าธรรมเนียมในการมาจอดเครื่องบิน

มาตรการที่รัฐบาลก่อนได้เริ่มต้นไว้คือมาตรการในเรื่องของการลดภาระค่าครองชีพ ซึ่งรัฐบาลชุดนี้จะเดินหน้าต่อ ทั้งเรื่องค่าน้ำ ค่าไฟ เพียงแต่ผมขอปรับหลักเกณฑ์นิดหน่อย มาตรการเดียวที่จะยกเลิกคือการงดเว้นการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน

มาตรการทั้งหมดนี้ทำให้กับคนทั้งประเทศ เพื่อให้สามารถฟันฝ่าภาวะเศรษฐกิจและความยากลำบากไปได้ ผมทราบดีว่าบรรดาผู้ที่ติดตามเรื่องเหล่านี้ ก็คงจะมีความคิดเห็นที่หลากหลาย ขอเรียนว่าผมเคารพความคิดเห็นทุกคน แต่ได้คิดค่อนข้างรอบคอบชัดเจนว่ามาตรการทั้งหมดจะไปถึงประชาชนทุกกลุ่มจริงๆ และวันนี้เป็นภาวะไม่ปกติ ที่บางคนบอกว่าลด แลก แจก แถม มากเกินไปหรือเปล่า ที่บางคนบอกว่าทำไมจะให้เงินกันอย่าง 2,000 บาทให้กันดื้อๆ อย่างนี้เลยหรือ ผมก็ต้องบอกว่ามันเหมือนกับตอนนี้เราอยู่ในบ้าน ไฟกำลังไหม้เข้ามา เสียดายน้ำไม่ได้นะครับตอนนี้ อย่างไรก็ต้องดับไฟให้ได้ก่อนแล้วก็เดินหน้าไป ผมได้ติดตามศึกษาในหลายประเทศ พบว่า เวลาที่เศรษฐกิจเจอปัญหาอย่างนี้ก็ต้องมีการกระตุ้น ถ้าไปใช้มาตรการ เช่น การลดหย่อนภาษี กว่าคนจะรู้สึกว่ามีเงินเพิ่มขึ้นและนำไปใช้จ่าย ก็สายไปแล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook