สธ.กลุ้มวิกฤตขาดพยาบาล ชี้ส่วนใหญ่มุ่งทำรพ.เอกชน

สธ.กลุ้มวิกฤตขาดพยาบาล ชี้ส่วนใหญ่มุ่งทำรพ.เอกชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเมื่อวันที่ 19 ม.ค.ว่า ปัญหาขาดแคลนพยาบาลในประเทศไทย กำลังเข้าสู่ขั้นวิกฤต มีพยาบาลลาออกจากระบบราชการ ประมาณ 3,000 คนต่อปี โดยสาเหตุจากภาระงานสูงแต่ค่าตอบแทนต่ำ ขาดสวัสดิการและแรงจูงใจให้ปฏิบัติงาน และพบว่าพยาบาลจบใหม่จากวิทยาลัยพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ปีละประมาณ 2,500 คน ครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 1,200 คน ไม่ทำงานในโรงพยาบาลรัฐ เนื่องจากได้เป็นเพียงลูกจ้างไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการ จึงไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการต่างๆ ทำให้ขณะนี้จำนวนพยาบาลจบใหม่ที่จะทดแทนพยาบาลอกไป อยู่ในสถานะติดลบปีละกว่า 2,000 คน

นายมานิต กล่าวอีกว่า ไทยมีพยาบาลวิชาชีพในระบบ 105,398 คน ขณะที่มีผู้ใช้บริการเป็นผู้ป่วยนอกเกือบ 40 ล้านคน มีผู้ป่วยที่มีอาการหนักต้องนอนโรงพยาบาล 9 ล้านกว่าคน เมื่อคำนวณความต้องการพยาบาลวิชาชีพ เพื่อรองรับบริการสุขภาพที่เพิ่มขึ้น จะต้องมีพยาบาลทั้งหมด 130,000 คน ยังขาดอีกประมาณ 24,000 คน

กระทรวงสาธารณสุขจึงเร่งแก้ปัญหา โดยวางแนวทางเบื้องต้นไว้ 4 ข้อ คือ ขอสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) บรรจุพยาบาลจำนวน 12,500 คน ที่เป็นลูกจ้างอยู่ปัจจุบัน 10,000 คน และที่กำลังจะจบในเดือนมีนาคม 2552 อีก 2,500 คน รวมทั้งเปลี่ยนสายงานข้าราชการที่มีวุฒิการศึกษาพยาบาลอีก 3,000 คน ปรับเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนให้สูงขึ้นและขยายโอกาสความก้าวหน้า สนับสนุนการเรียนต่อระดับปริญญาโท-เอก การศึกษาดูงานเพื่อเพิ่มศักยภาพให้สูงขึ้น และผลิตผู้ช่วยพยาบาลหลักสูตร 1 ปี เพิ่มปีละประมาณ 1,000 คน เริ่มผลิตตั้งแต่ปี 2551 นายมานิต กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook