อุตุฯแจงหนาวทุบสถิติหลายพท.คาดอากาศเย็นถึงกุมภาฯ

อุตุฯแจงหนาวทุบสถิติหลายพท.คาดอากาศเย็นถึงกุมภาฯ

อุตุฯแจงหนาวทุบสถิติหลายพท.คาดอากาศเย็นถึงกุมภาฯ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
อุตุฯ เผยหนาวทุบสถิติหลายจังหวัด ชี้อากาศเย็นสิ้นสุดเดือนกุมภาฯ ชาวนาพิษณุโลก โอดข้าวยืนต้นตายกว่า 1.5 แสนไร่ ที่กาฬสินธุ์กุ้งก้ามกรามน็อกตาย 20 ตัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนหลายจังหวัดยังเผชิญสภาพอากาศหนาวเย็นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดวันนี้(16ม.ค.) นายสมชาย ใบม่วง ผู้อำนวยการสำนักพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ฤดูหนาวปีนี้จะสิ้นสุดในเดือนกุมภาพันธ์ อย่างไรก็ตาม สถานีตรวจวัดในหลายจังหวัด พบว่ายังมีอากาศที่หนาวเย็นจัดจนทำลายสถิติเดิมของเดือนมกราคมในอดีต ได้แก่ จ.นครพนม วัดได้ 4.2 องศาองศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2552 จากเดิม 4.5 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2526 และปี 2536, จ.สุพรรณบุรี วัดได้ 8.5 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2551 จากเดิม 15 มกราคม 2512 และปี 2519, จ.ปทุมธานี วัดได้ 14.5 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2552 จากเดิม 15.6 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2542 และปี 2548 จ.สระแก้ว วัดได้ 11.4 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2552 จากเดิม 12.5 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2541 และปี 2548, จ.ฉะเชิงเทรา วัดได้ 11.3 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2552 จากเดิม 11.5 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2532 และปี 2538, ที่แหลมฉบัง วัดได้ 14.9 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2552 จากเดิม 15.9 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2535 และปี 2536 และ จ.กระบี่ วัดได้ 15.3 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2552 จากเดิม 17.9 องศาองศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2537 และปี 2542 นอกจากนี้อากาศที่หนาวเย็นยังทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำค้างแข็ง หรือแม่คะนิ้ง ในพื้นที่ที่ไม่เคยมีรายงานมาก่อนด้วย ได้แก่ อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว เขาค้อ ภูทับเบิก จ.เพชรบูรณ์ ลมหนาวจากจีนระลอกใหญ่ที่เข้ามาครั้งนี้ มีขนาดกำลังแรง ทำให้ทุกพื้นที่ของไทยเจออากาศที่เย็นในรอบ 10 ปี ขณะเดียวกันอิทธิพลของความเย็นยังทำให้ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ฝั่งตะวันออกได้รับอิทธิพลไล่ตั้งแต่พื้นที่ประจวบคีรีขันธ์ลงไป และเจอคลื่นซัดฝั่ง หรือมอนซูนเสิร์จ ที่มาจากมรสุมแรงบวกกับน้ำทะเลหนุน ซึ่งเป็นภาวะปกติในช่วงฤดูนี้ แต่หากยังมีลมหนาวเป็นระลอกโอกาสที่จะเจอคลื่นซัดฝั่งจนสร้างความเสียหายต่อชายฝั่งก็มีมาก นายสมชาย กล่าว ส่วน นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา กล่าวถึงสถานการณ์คลื่มลมแรงจนทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งในเขต อ.สิงหนคร จ.สงขลา ว่า จากประสบการณ์ทำงานในรอบ 10 ปี เริ่มเห็นสัญญาณว่าลมมรสุมในภาคใต้มีความแรง และอยู่นานมากขึ้น เพราะถ้าปกติแล้วควรจะลดความแรงลงไปบ้าง ซึ่งกรณีนี้เมื่อช่วง 2-3 ปีก่อนก็เคยเกิดคลื่นซัดฝั่งในลักษณะนี้เช่นกัน และตอนนั้นก็สร้างความเสียหายต่อถนนหลวง และบ้านเรือนของชาวบ้านที่อยู่ติดทะเลเช่นกัน อย่างไรก็ตาม กรณีพื้นที่ สงขลาการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงขึ้น มาจากปัจจัยอื่นด้วย เนื่องจากมีท่าเรือท่าน้ำลึกมาขวางการพัดพาของน้ำ และตะกอนทราย การถมทะเลที่แหลมสนอ่อน ทำให้อีกฝั่งได้รับผลกระทบเมื่อมีคลื่นกัดเซาะ นายศักดิ์อนันต์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ตามมาจากอิทธิพลของมรสุมตะวันออกคือจะพาน้ำจากชายฝั่งลงไปด้าน นอก และมวลน้ำเย็นจากด้านล่างจากไหล่ทวีปขึ้นมา ทำให้น้ำเย็นจากใต้ทะเลขึ้นมาทางตอนบน ทำให้ปีที่มีมรสุมแรงจะมีปรากฏการณ์แพลงตอนบลูม และเกิดการฟอกขาวของปะการังตามมาด้วย โดยเฉพาะที่เริ่มได้รับรายงานคือที่เกาะแหวน จ.ตรัง ซึ่งจะมีการตรวจสอบสภาพพื้นที่อีกครั้งในเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม ทางแก้คงไม่สามารถทำอะไรได้มาก นอกจากรอให้มีการฟื้นตัวตามธรรมชาติ โอดลูกหมูตายเพิ่มเท่าตัว นายวรรณเนตร พลภานุมาศ นายกสมาคมสัตวบาลภาคเหนือ กล่าวว่า ฟาร์มเลี้ยงสุกรในภาคเหนือกำลังประสบปัญหาจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น ทำให้ลูกสุกรที่เลี้ยงไว้ตายไปมากกว่า 10-20% จากเดิมในช่วงเดียวกันของปีก่อน จะมีสัดส่วนการตายเพียง 5-7% ขณะที่ราคาลูกสุกรยังคงที่คือตัวละ 1,400 บาท จึงไม่มีผลทำให้กำไรเพิ่ม เนื่องจากในปีที่ผ่านมาต้นทุนการผลิตพุ่งสูงจนหลายฟาร์มต้องลดปริมาณลูกสุกรลง ไก่ออกไข่มากขึ้น นายเจริญ นันโท ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูน จำกัด กล่าวว่า ผลผลิตไก่ไข่ในเดือนมกราคมนี้ มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากเดิมฟาร์มเลี้ยงที่เป็นสมาชิก 40 ราย ส่งไข่ไก่เข้าสหกรณ์ วันละ 40 ถาด หรือ 1,200 ฟอง จากเดิมวันละ 30 ถาด หรือ 900 ฟอง ผลผลิตเพิ่มขึ้นกว่า 10% จากปกติในช่วงฤดูหนาวของทุกปีจะเพิ่มขึ้นเพียง 7% เท่านั้น เนื่องจากอากาศที่หนาวเย็นอุณหภูมิที่ลดลงทำให้ไก่ไข่ออกไข่มากขึ้น แต่ราคายังอยู่ในเกณฑ์ต่ำไข่ไก่คละฟองละ 1.90 บาท ขณะที่ต้นทุนฟองละ 2.20 บาท นาข้าวเสียหายกว่า 1.5 แสนไร่ สภาพอากาศหนาวเย็นในหลายพื้นที่ต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน ส่งผลให้ต้นข้าวที่กำลังออกรวงมีน้ำค้างจับที่ใบข้าวตลอดทั้งวัน ทำให้เป็นโรคจู๋ หรือโรคข้าวจากแบคทีเรียและเชื้อรา โดยโรคที่เป็นจะมีทั้งโรคขอบใบแห้ง โรคกาบใบแห้ง โรคใบขีดสีน้ำตาล บางพื้นที่ลำต้นเป็นสีเหลืองแดง และล้มตายได้ง่าย บางรายข้าวออกรวงและเตรียมที่จะเก็บเกี่ยว ต้องเสียหาย เนื่องจากเมล็ดข้าวแห้งไม่ได้ผลผลิตแต่อย่างใด ส่งผลชาวนาต้องเร่งฉีดยา ใส่ปุ๋ยเพื่อรักษาและป้องกันโรค และรักษาต้นข้าวไว้ โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มต่อไร่ 300-500 บาท แต่ก็เสี่ยงต่อการขาดทุนกันจำนวนมาก นายเกษม เพชรเกอ เกษตรกร ต.วังพิกุล อ.วังทอง จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ทำนามาหลายปีไม่เคยปลูกข้าวแล้วเสียหายเนื่องจากภัยหนาวมาก่อน แต่ในปีนี้มีสภาพที่หนาวเย็นมากกว่าทุกปี และมีสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้ข้าวในนาทนกับสภาพที่หนาวเย็นไม่ไหวเป็นโรคจู๋ เสียหายกว่า 100 ไร่ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรอาจต้องปล่อยให้ข้าวในนาแห้งตาย นาบางจุดสามารถเก็บเกี่ยวได้ ก็ต้องเกี่ยวเอาไว้เป็นพันธุ์ข้าวปลูกในครั้งต่อไป ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจความเสียหายในพื้นที่ ต.วังพิกุล พบว่ามีข้าวในนาของเกษตรกรที่เสียหายจากสภาพอากาศหนาวไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นไร่ ส่วนใน จ.พิษณุโลก คาดว่ามีพื้นที่นาเสียหายจากสภาพอากาศหนาวแล้วไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนไร่ กุ้งน็อกตายกว่า20 ตัน นายไพฑูรย์ คันธนาม ประธานสมาพันธ์ ผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า อากาศหนาวจัด ทำให้กุ้งที่อายุ 2 เดือน เริ่มน็อกตายถึง 20 ตัน มูลค่าความเสียหายกว่า 3 ล้านบาท อย่างไรก็ตามเกษตรกรผู้เลี้ยงได้เริ่มที่จะปล่อยลูกกุ้งลงบ่ออนุบาลบ้างแล้ว แต่ยังไม่สามารถปล่อยลงได้ทั้งหมดเนื่องจากอุณหภูมิยังไม่ปกติ ยังรอให้อบอุ่นมากกว่านี้บ้าง แต่จะต้องเร่งลงบ่ออย่างรวดเร็วเพื่อที่จะให้กุ้งโตให้ทันช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ นอกจากนี้สมาชิกของสมาพันธุ์ผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม จ.กาฬสินธุ์ ได้เริ่มลดปริมาณการเลี้ยงลง นกในอุทยานน้ำหนาวแข็งตาย ส่วน นายกองเอก วิลาศ รุจิวัฒนพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า ทางจังหวัดได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยหนาวไปตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา และในวันที่ 19-20 มกราคมนี้ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะนำผ้าห่มพระราชทานมาแจกจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว น.ส.ณรัชรา นามนาเมือง เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ประจำอุทยานน้ำหนาว กล่าวว่า จากสภาพอากาศที่หนาวเย็นจัด และมีแม่คะนิ้งในช่วงเช้า ทำให้ในช่วง 3 วันที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวไปพบซากนกหนาวตายราววันละ 2-3 ตัว และยังนำซากมาให้เจ้าหน้าที่ดูด้วย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook