เสี่ยมาร์คแจกอั่งเปา ลดภาษีบ้าน สานต่อน้ำ-ไฟฟรี

เสี่ยมาร์คแจกอั่งเปา ลดภาษีบ้าน สานต่อน้ำ-ไฟฟรี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
รถเมล์-รถไฟด้วย อนุมัติ7มาตรการ เทงบนับหมื่นล้าน

ครม.มาร์ค ไฟเขียวแจกอั่งเปาเต็มเหนี่ยว สานต่อ 6 มาตรการของรัฐบาลที่แล้ว ครม.เศรษฐกิจเห็นชอบยืดเวลา ต่อไปอีก 6 เดือนทั้งรถเมล์-รถไฟบริการฟรี ส่วนค่าน้ำ-ค่าไฟ ยังให้ใช้ฟรีเหมือนเดิมเแต่ลดปริมาณลง โดยค่าน้ำจาก 50 คิว/เดือน เหลือ 30 คิว/เดือน ค่าไฟฟ้าจากเดิม 80-150 หน่วยเหลือ 90 หน่วย/เดือน ช่วยด้านภาษีบริษัทขนาดเล็ก หรือเอ็มเอ็มอี พร้อมปัดฝุ่นโครงการเอสเอ็มแอลสมัยทักษิณ ชินวัตรที่ยุติไป แถมเกทับให้เงินมากกว่าเดิมเท่าตัว เริ่มต้น 4-6 แสนบาท จากเดิมเคยแจก 2-3 แสนบาท กรณ์เผยมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ผ่านฉลุย ให้นำเงินต้นมาหักภาษีได้ 3 แสน รวมกับดอกเบี้ยอีก 1 แสน แต่ต้องโอนภายในปีนี้ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวทั้งไม่เก็บค่าทำวีซ่า เปิดให้เข้าอุทยานฯฟรี และให้สายการบินทำโปรโมชั่นซื้อ 1 แถม 1 อีกด้วย

เมื่อวันที่ 20 ม.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมครม.ว่า ที่ประชุมหารือและเดินหน้าแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยนำมาตรการที่ครม.ให้ความเห็นชอบไปแล้วมาขับเคลื่อนและพิจารณามาตรการเพิ่มเติม โดยอนุมัติขยายวงเงินการแทรกแซงสินค้าเกษตร คือ ข้าวโพด ปาล์มและยางพารา และให้ความเห็นชอบการอนุมัติมาตรการที่เกี่ยวข้องการท่องเที่ยว เช่น ยกเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ ลดราคาค่าธรรมเนียมการจอดเครื่องบินตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เสนอ เชื่อว่าจะมีส่วนกระตุ้นการท่องเที่ยว

นายกฯ กล่าวว่า ที่ประชุมครม. ยังให้ความเห็นชอบมาตรการลดค่าครองชีพของประชาชน โดยให้ขยายระยะเวลาการให้บริการรถเมล์และรถไฟฟรี ค่าน้ำและค่าไฟฟรีต่อไปอีก 6 เดือน แต่มีการปรับลดปริมาณการใช้โดยน้ำประปาจากเดิม 50 คิว เหลือ 30 คิว/เดือน แต่จะขยายให้ครอบคลุมถึงประปาท้องถิ่น สำหรับค่าไฟฟ้าจากเดิม 80-150 หน่วย ปรับมาเป็น 90 หน่วยต่อเดือน นอกจากนั้นยังพิจารณาเกี่ยวกับมาตรการทางภาษีที่จะเป็นตัวเสริมมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจในบางภาคส่วน เช่น วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก ผู้ประกอบการเล็กๆ ซึ่งจะขยายวงเงินในการลดหย่อนภาษีและจะครอบคลุมทั้งคนที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ไม่ใช่เงินเดือนประจำ และเห็นชอบมาตรการอสังหาริมทรัพย์ที่จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วง 1 ปี รวมทั้งการปรับโครงสร้างหนี้และการโอนกิจการ

ที่ประชุมยังได้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบประมาณกลางปีและพร้อมเสนอต่อสภาในวันที่ 28 ม.ค.นี้ และเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารเศรษฐกิจพอเพียงที่จะสังกัดสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มาตรการเหล่านี้จะเป็นมาตรการเสริมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ นายกฯ กล่าวและว่า ที่ผ่านมาได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกรณีที่มีประชาชนรอบรรจุเป็นข้าราชการ ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) เมื่อวันที่ 19 ม.ค. ที่ผ่านมาทำให้รู้ว่าหลังจากที่มีการปรับเข้าระบบใหม่ มีอัตราว่างอยู่ประมาณ 24,000 อัตราซึ่งได้อนุมัติเงินเดือนแล้ว จึงมอบให้ก.พ.เร่งบรรจุโดยคำนึงถึงความจำเป็นและยุทธศาสตร์ โดยพิจารณาในหน่วยงานที่มีความจำเป็นก่อน เช่นปัญหาการขาดบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้จะให้ทุกกระทรวงเร่งส่งจำนวนบุคลากรที่ยังขาดเพื่อให้ก.พ. พิจารณาต่อไป

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนเรื่องกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ทั้งกยส.และกรอ. ที่เงินออกช้าจึงมอบให้กระทรวงการคลังและกระทรวงศึกษาธิ การเร่งไปดูในเรื่องนี้ นอกจากนี้เงินกองทุนกู้ยืมที่น่าจะนำออกมาให้ผู้กู้รายใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นนักเรียนนักศึกษาใหม่ แต่อาจมีปัญหาในระหว่างที่กำลังศึกษาอยู่เนื่องจากสภาวะทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ซึ่งวิธีปฏิบัติที่ผ่านมาทำให้กลุ่มนี้ไม่สามารถกู้ยืมเงินได้ ตรงนี้น่าจะมีเงินเกือบหมื่นล้านบาทที่จะมาแก้ปัญหานี้ได้ จึงเร่งให้ดำเนินการต่อไป และมอบหมายให้พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรีเตรียมการแก้ปัญหาภัยแล้ง ส่วนนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ดูแลปัญหาเรื่องพืชผลทางการเกษตรในฤดูกาลต่อไป

ด้านนายศุภรักษ์ ควรหา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมครม.ว่า ครม.ได้อนุมัติตามที่นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีเสนอ โดยมีแนวทางการจัดตั้งกองทุนเศรษฐกิจพอเพียง ดำเนินการในรูปของโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (ศพช.) และให้ตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการ ได้แก่ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ นายกนก วงศ์ตระหง่าน นายมีชัย วีระไวทยะ และให้จัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (สพช.) ขึ้นภายในสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

นายศุภรักษ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติให้หมู่บ้านและชุมชนทั่วประเทศที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณตามโครงการเอสเอ็มแอลเดิมซึ่งยุติโครงการลงไปแล้ว สามารถดำเนินโครงการที่หมู่บ้านและชุมชนมีมติเลือกว่าจะเลือกดำเนินการตามวัตถุประสงค์เดิมต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยใช้หลักเกณฑ์เดิมจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง และให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีกำกับดูแล เพียงแต่เพิ่มวงเงินเอสเอ็มแอลให้หมู่บ้านจากที่เดิมได้รับ 2 แสนบาทเป็น 4 แสนบาท เดิมรับ 2.5 แสนบาทเพิ่มเป็น 5 แสนบาท และจาก 3 แสนบาทเพิ่มเป็น 6 แสนบาท เบื้องต้นจะใช้เงินที่เหลืออยู่ของโครงการเอสเอ็มแอล 6 พันล้านดำเนินการ และรองบกลางปีอีก 1.5 หมื่นล้านซึ่งคาดว่าได้ประมาณเดือนก.พ.นี้

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่าที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจมีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับ สนุนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ แบ่งเป็น 4 มาตรการ 1.มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพ และสนับ สนุนผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจชุมชน โดยให้ขยายวงเงินพึงประเมินขั้นต่ำที่ต้องคำนวณภาษีในอัตรา 5% จาก 60,000 บาท เป็น 1 ล้านบาท ครอบคลุมผู้ประกอบการที่จะได้รับประโยชน์ประมาณ 9.7 แสนคน คิดเป็นเงิน 1.4 พันล้านบาท

ขณะเดียวกัน ยังขยายเพดานวงเงินได้พึงประเมินที่ได้รับการยกเว้นภาษี สำหรับวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับเงินได้ในปี 52-53 จาก 1.2 ล้านบาท เป็น 1.8 ล้านบาท มีเอสเอ็มอีได้ประโยชน์ 58,000 แห่งทั่วประเทศ คิดเป็นเงิน 200 ล้านบาท รวมถึงให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุนของธุรกิจเงินร่วมลงทุนของธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ขยายเวลาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลออกไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 54 พร้อมทั้งให้ยกเลิกการกำหนดเงื่อนไขการลงทุนในปีแรกจากเดิมกำหนดให้ธุรกิจเงินร่วมลงทุนฯ ต้องนำเงินไปลงทุนในเอสเอ็มอี ไม่น้อยกว่า 20% ของทุนจดทะเบียน และยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้ที่ธุรกิจเงินร่วมลงทุนฯ ได้รับจากการขายหุ้นของเอสเอ็มอี ที่เข้าไปจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

2.มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่จ่ายเงินซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อนเป็นจำนวนเท่ากับมูลค่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 3 แสนบาท และต้องโอนกรรมสิทธิ์ของอสังหาริมทรัพย์ภายในปี 52 เท่านั้น อีกทั้งยังคงให้ผู้มีเงินได้สามารถหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างที่อยู่อาศัย ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี คิดเป็นเงินที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์ 6.5 พันล้านบาท แต่เชื่อว่ารัฐจะมีรายได้ภาษีนิติบุคคลเพิ่มขึ้นจากผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มียอดขายบ้านได้เพิ่มขึ้น

ไม่ใช่ประชาชนไม่มีเงินซื้อ แต่ยังลังเลที่จะตัดสินใจซื้อ เมื่อมีมาตรการเหล่านี้ออกมา เชื่อว่าจะช่วยให้คนตัดสินใจซื้อบ้านได้ง่ายขึ้น ท่านที่ซื้อบ้านก็เท่ากับว่าได้ราคาที่ลดลง เช่น บ้านราคาประมาณหลังละ 1.5-2 ล้านบาท ผู้ซื้อเสียภาษีเงินได้ 20% ก็จะลดไปได้ 6 หมื่นบาท นายกรณ์ กล่าว

รมว.คลังกล่าวอีกว่า 3.มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นธุรกิจการท่องเที่ยว โดยให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จัดโครงการอบรมสัมมนาในประเทศ สามารถหักรายจ่ายในการคำนวณภาษีรายการรายจ่ายค่าห้องพักและค่าห้องสัมมนาได้เป็น 2 เท่าของที่จ่ายจริง เฉพาะรายจ่ายที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีปี 52 ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับประโยชน์คิดเป็นเงิน 1.8 พันล้านบาท, 4.มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของภาคเอกชน ลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม กรมที่ดินให้แก่การปลดหนี้หรือการโอนทรัพย์สินใช้หนี้ที่ดำเนินการระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 52-31 ธ.ค. 52 รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้มีการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ผู้ประกอบกิจการที่เป็นบริษัทมหาชนหรือบริษัทจำกัดสำหรับมูลค่าของฐานภาษี รายรับที่เนื่องจากมาจากการโอนกิจการบางส่าวนให้แก่กัน และลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิต่างๆ ซึ่งบริษัทผู้โอนและผู้รับโอนต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธ.ค. 52

ส่วนตัวยอมรับว่ามาตรการภาษีเหล่านี้จะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ภาษีอากรประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่นโยบาย 5 มาตรการ 6 เดือน ยังคงมีอยู่ ยกเว้นให้มีการยกเลิกการยกเว้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะทำให้รัฐเก็บรายได้ภาษีกลับมาได้หลายหมื่นล้านบาท นายกรณ์ กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่ากระทรวงการคลังยังต่ออายุการลดค่าธรรมเนียมการโอนธุรกิจเฉพาะและภาษีหัก ณ ที่จ่ายออกไปจนถึงเดือนมี.ค. 53 ต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา โดยลดภาษีธุรกิจเฉพาะเหลือ 0.1% จากเดิม 3.3% ลดค่าธรรมเนียมการโอน และจดจำนองอสังหา ริมทรัพย์จาก 2% และ 1% ให้เหลือเพียง 0.01% โดยในส่วนนี้จะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับมาตรการภาษีที่ครม.เห็นชอบครั้งนี้จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมครม. เห็นชอบมาตรการ 5 มาตรการ 6 เดือน ที่จะมีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.52 ออกไปอีก 6 เดือน นอกจากนี้ ที่ประชุมครม. ยังเห็นชอบงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร วงเงินรวม 13,580.75 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินกู้ 12,625 ล้านบาท เงินจ่ายขาด 955.75 ล้านบาท เพื่อให้สำหรับแทรกแซงสินค้าเกษตร 3 ชนิด ได้แก่ ข้าวโพด 2.5 แสนตัน วงเงิน 2,310 พันล้านบาท ปาล์ม 1 แสนตัน วงเงิน 3,000 พันล้านบาท และยาง 2 แสนตัน วงเงิน 8,270 พันล้านบาท

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ครม.ยังเห็นชอบมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทุกประเทศเป็นเวลา 3 เดือน โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณพิจารณาจัดหางบประมาณชดเชย รวมถึงให้ส่วนราชการจัดฝึกอบรม/ประชุมสัมมนาและดูงานในประเทศโดยเฉพาะในไตรมาส 1-2 นี้ พร้อมกันนี้จะขอความร่วมมือให้สายการบินลดค่าตั๋วเครื่องบินหรือจัดแพ็กเกจโปรโมชั่นพิเศษแบบซื้อ 1 แถม 1 เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เที่ยวในไทยมากขึ้น และขอความร่วมมือไปยังอุทยานแห่งชาติต่างๆ ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งรัฐจะจ่ายงบประมาณชดเชย 250 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ครม.ยังอนุมัติโครงการช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการปิดท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง และให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมหลุมจอดเครื่องบินแก่สายการบิน โดยพื้นที่จอดในส่วนของกรมการขนส่งทางอากาศให้ลดค่าธรรมเนียม 50% สนามบินของกองทัพเรือลด 50% และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ให้ลดค่าธรรมเนียมประเภทจอดประจำ 20% ส่วนประเภทจอดเหมาลำลด 50% โดยรัฐต้องจ่ายเงินชดเชยให้ ทอท. 507 ล้านบาท

ประธาน คสรท. กล่าวอีกว่า การที่รัฐบาลแจกเงิน 2,000 บาท ให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า 14,999 บาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับผู้ใช้แรงงาน นั้นเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้อย่างแท้จริง หากรัฐบาลต้องการที่จะอยู่ทำงานต่อไปนานๆ จะต้องมีมาตรการที่จะแก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงานในระยะยาว ไม่ใช่เพียงแค่การใช้เงินหว่าน

ที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จ.นนทบุรี นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) กล่าวถึงมาตรการในการช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกันตน ว่า ที่ประชุมบอร์ด สปส. มีมติเห็นชอบนำเงินกองทุนประกันสังคมจำนวน 1,000 ล้านบาท ซื้อข้าวสารแจกผู้ประกันตนจำนวน 9.3 ล้านคน คนละ 1 ถุงหรือ 5 กิโลกรัม ในโครงการบรรเทาความเดือดร้อนในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ เนื่องจากเห็นว่าโครงการดังกล่าวเป็นลักษณะการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจทางหนึ่ง ทั้งนี้ จะดำเนินการต่อไปได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน หากนายไพฑูรย์เห็นชอบ สปส.จะดำเนินการส่งขั้นตอน ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างให้กับกรมบัญชีกลางพิจารณาตรวจสอบต่อไป อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะใช้เวลาในดำเนินการประกวดราคา จัดซื้อข้าวสาร ภายในระยะเวลา 2 เดือน จะดำเนินการได้ ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าข้าวสารจะถึงมือผู้ประกันตนทุกคน และยืนยันว่าจะดำเนินการอย่างโปร่งใส หากไม่ถึงมือผู้ประกันตนก็สามารถเรียกร้องหรือฟ้องร้องได้เพื่อความยุติธรรม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook