ป.ป.ช.ฟัน 3 บิ๊ก ม.เกษตร ผิดวินัย พืชสวนโลก แต่อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตรพ้นข้อกล่าวหาทุจริต

ป.ป.ช.ฟัน 3 บิ๊ก ม.เกษตร ผิดวินัย พืชสวนโลก แต่อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตรพ้นข้อกล่าวหาทุจริต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ป.ป.ช.ลงมติให้ อดีตอธิบดีกรมวิชากาเกษตร พ้นข้อกล่าวหาทุจริต มหกรรมพืชสวนโลก แต่ฟัน 3 นักวิชการ ม.เกษตร กระทำความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง เตรียมส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาลงโทษทางวินัยต่อไป นายกล้านรงค์ จันทิก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงข่าวเมื่อวันที่ 21 มกราคม ถึงผลการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา เกี่ยวกับคดีการกล่าวหา นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และรองศาสตราจารย์วิโรจ อิ่มพิทักษ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับพวก โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้นายฉกรรจ์ พ้นจากข้อกล่าวหา แต่มีมติว่า การกระทำของ รองศาสตราจารย์วิโรจ อิ่มพิทักษ์ ศาสตราจารย์รังสิต สุวรรณมรรคา หรือสุวรรณเขตนิคม และรองศาสตราจารย์มนตรี ค้ำชู มีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง

ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง เรื่องกล่าวหา นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และรองศาสตราจารย์วิโรจ อิ่มพิทักษ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับพวก ทุจริตเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างในการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก 2549 ที่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยนำงานที่ปรึกษา งานที่ปรึกษาออกแบบและควบคุมงาน และงานควบคุมงานไปให้เอกชนดำเนินการ โดยหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าว่ด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 รวมทั้งมีการลดเนื้องานและงบประมาณการก่อสร้าง หลังจากที่มีการเปิดซองเสนอราคาแล้ว ทำให้ราชการได้รับความเสียหาย โดยมีนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการ และนายใจเด็ด พรไชยา กรรมการ ป.ป.ช. ร่วมเป็นอนุกรรมการไต่สวน นั้น

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการไต่สวนแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2546 อนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) ดำเนินการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก 2549 ณ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวง เชียงใหม่ พื้นที่ 470 ไร่ กรมวิชาการเกษตร โดยนายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้จ้าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยรองศาสตราจารย์วิโรจ อิ่มพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในขณะนั้น เป็นที่ปรึกษาออกแบบผังแม่บทและสิ่งก่อสร้างงานมหกรรมพืชสวนโลก 2549 วงเงินค่าจ้าง 35 ล้านบาท จ้างควบคุมงาน 20 ล้านบาท และจ้างเป็นที่ปรึกษาออกแบบและควบคุมงาน (เพิ่มเติม) อีก 4,500,000 บาท

นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินการประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้างพร้อมสาธารณูปโภคและภูมิสถาปัตย์การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก 2549 โดยมีกิจการร่วมค้า CKNNL เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด เป็นเงิน 1,259,650,000 บาท แต่ยังเป็นราคาที่สูงกว่าที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติในวงเงิน 1,200,000,000 บาท จึงได้มีการปรับลดรายการก่อสร้างลง จำนวน 6 รายการ โดยไม่กระทบกับภาพรวมของโครงการฯ รวมเป็นเงิน 57,232,132.06 บาท ซึ่งเป็นการดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 53 อีกทั้ง กิจการร่วมค้า CKNNL ได้ยินยอมลดราคาให้เป็นเงิน 2,650,000 บาท โดยได้เสนอราคาสุดท้ายเป็นเงิน 1,199,700,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เหมาะสมและอยู่ในวงเงินงบประมาณ

สำหรับกรณีที่ กรมวิชาการเกษตร ได้จ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาออกแบบผังแม่บทและสิ่งก่อสร้างงานมหกรรมพืชสวนโลก 2549 และที่ปรึกษาออกแบบ (เพิ่มเติม) นั้น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยรองศาสตราจารย์วิโรจ อิ่มพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แต่งตั้งศาสตราจารย์รังสิต สุวรรณมรรคา หรือสุวรรณเขตนิคม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา เป็นหัวหน้าโครงการพัฒนาวิชาการออกแบบผังแม่บทและสิ่งก่อสร้างฯ และรองศาสตราจารย์มนตรี ค้ำชู เป็นหัวหน้าโครงการพัฒนาวิชาการที่ปรึกษาควบคุมงานสิ่งก่อสร้างงานมหกรรมพืชสวนโลก 2549 ซึ่งปรากฏว่าได้มีการนำงานดังกล่าวไปจ้างบริษัทเอกชน 2 บริษัทเป็นผู้ดำเนินการเป็นส่วนใป็นการไม่ปฏิบัติตามประกาศสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง ระเบียบมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ว่าด้วยเงินรายได้ พ.ศ. 2545 และมีลักษณะเป็นการจ้างช่วงไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการเป็นโครงการพัฒนาวิชาการ อีกทั้ง เป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อสัญญาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ตกลงกับกรมวิชาการเกษตร

แต่เนื่องจากงานที่ได้รับจ้างจากกรมวิชาการเกษตรนี้ สามารถดำเนินการได้ผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ภายในเวลาที่กำหนดในสัญญา ประกอบกับการจัดงานดังกล่าวประสบผลสำเร็จ และได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย

โดยได้รับรางวัลเหรียญทองจากสมาคมพืชสวนโลกระหว่างประเทศ

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วจึงมีมติว่า การกระทำของ รองศาสตราจารย์วิโรจ อิ่มพิทักษ์ ศาสตราจารย์รังสิต สุวรรณมรรคา หรือสุวรรณเขตนิคม และรองศาสตราจารย์มนตรี ค้ำชู มีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ แบบแผนของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของทางราชการ ให้ส่งเรื่องไปให้ผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 92

สำหรับนายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่ปรากฏว่าได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook