เปิดเหตุผล"สตง."3 ข้อทำไม "กกต."ไม่ควรจัดเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 ?

เปิดเหตุผล"สตง."3 ข้อทำไม "กกต."ไม่ควรจัดเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 ?

เปิดเหตุผล"สตง."3 ข้อทำไม "กกต."ไม่ควรจัดเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำนักข่าวอิศราวิเคราะห์สาเหตุที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน  ยื่นหนังสือถึงกกต. ให้ทบทวนเลื่อนวันเลือกตั้ง โดยมีเนื้อความดังนี้ 

"..กกต.ประสบปัญหาอุปสรรค จากสถานการณ์ทางการเมืองที่ปัจจุบันยังมิได้เกิดการคลี่คลายในทางที่ดีขึ้น แต่กลับมีแนวโน้มทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ..หากสถานการณ์ดังกล่าว ยังคงอยู่และจัดการเลือกตั้งต่อไปคาดว่าจะไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ด้วยความ สงบเรียบร้อยและยากที่จะเกิดความสุจริตและเที่ยงธรรม.."

กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที!!

เมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ประกาศจุดยืนขององค์กรในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ปกป้องรักษาผลประโยชน์ต่อเงินงบประมาณแผ่นดินซึ่งมีที่มาจากเงินภาษีประชาชน ต่อ การจัดการเลือกตั้ง ในวันที่ 2 ก.พ. 2557 ที่จะถึงนี้

ด้วยการทำหนังสือ "ด่วนที่สุด" ที่ ตผ.0012/0118 ลงวันที่ 8 มกราคม 2557 ที่ผ่านมา เรื่องการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินในการดำเนินการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปครั้งที่ 25 ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถึง นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้

โดย สตง.ระบุชัดเจนในหนังสือฉบับนี้ว่า "มีความกังวล และห่วงใยต่อการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินจำนวน 3,885 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเลือกตั้งของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดความสูญเปล่า ไม่ประหยัด ไม่เกิดประโยชน์คุ้มค่า"

คำถามที่น่าสนใจ คือ สตง. นำเหตุผลอะไรมาใช้เป็นหลักในการเสนอความเห็นให้ กกต.พิจารณาเรื่องนี้

สำนักข่าวอิศรา www.isranew.org ตรวจสอบพบว่า ในหนังสือ สตง. ได้ระบุผลการติดตามตรวจสอบความคืบหน้าการใช้จ่ายเงินงบประมาณเพื่อดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. วงเงิน 3,885 ล้านบาทดังกล่าว

พบว่า การดำเนินการจัดการเลือกตั้งของ กกต. มีแนวโน้มไม่บรรลุวัตถุประสงค์ เป้าหมายของการเลือกตั้งและอาจต้องมีการจัดการเลือกตั้งในระยะเวลาใกล้เคียงกัน

โดยพิจารณาจาก

1. กกต.ประสบปัญหา อุปสรรค จากสถานการณ์ทางการเมืองที่ปัจจุบันยังมิได้เกิดการคลี่คลายในทางที่ดีขึ้น แต่กลับมีแนวโน้มทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เห็นได้จากเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้ชุมนุมจนเกิดการบาดเจ็ยและเสียชีวิตของทั้งสองฝ่าย

ทั้งที่ ขั้นตอนการรับสมัคร ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ เป็นเพียงกระบวนการขั้นต้นของการเลือกตั้ง ขั้นตอนต่อไปยังมีการรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง การหาเสียง การเลือกตั้ง การนับคะแนนและการประกาศผล ซึ่งหากสถานการณ์ดังกล่าว ยังคงอยู่และจัดการเลือกตั้งต่อไปคาดว่าจะไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ด้วยความ สงบเรียบร้อยและยากที่จะเกิดความสุจริตและเที่ยงธรรม

2. แถลงการณ์ของ กกต. เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2556 ขอให้รัฐบาลมีการพิจารณาเลือนการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ออกไปจนกว่าจะได้มีการทำความเข้าใจและสร้างข้อตกลงร่วมกันเพื่อความสงบสุขในสังคมระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงระดับความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งของ กกต.

3. แถลงการณ์ของรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2556 เรื่องการจัดตั้งสภาปฏิรูปประเทศเพื่อทำหน้าที่ศึกษาและจัดทำข้อเสนอการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การจัดให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือการยกเลือก กฎหมาย กฎข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งต่างๆ เพื่อให้การเลือกตั้งในทุกระดับ การสรรหา และแต่งตั้งบุคคลเข้าดำเนินตำแหน่งต่างๆ

การใช้อำนาจรัฐและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเป็นไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรม การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ในวงราชการทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการประจำ เป็นต้น ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จมีแนวโน้มที่ชัดเจนว่า จะต้องมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร และกกต.ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่

ก่อนที่ สตง. จะปิดท้ายประโยคในหนังสือฉบับนี้ ว่า "จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา ผลความคืบหน้าเป็นประการใดโปรดแจ้งให้ สตง.ทราบ พร้อมหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการตรวจสอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2442"

ทั้งหมดนี่คือ เหตุผลสำคัญ 3 ข้อ ที่ทำให้ สตง. เห็นว่า กกต. ไม่ควรมีการจัดการเลือกตั้ง ในวันที่ 2 ก.พ. 2557 ที่จะถึงนี้ ?

ส่วนจะมีผลอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ คงเป็นหน้าที่ที่ กกต. ที่จะต้องรับไปพิจารณาต่อไป

บนพื้นฐานการรักษาผลประโยชน์ของ "ประเทศชาติ" และ "เงินแผ่นดิน" ซึ่งมีที่มาจากเงินภาษีของประชาชน เป็นหลัก!!

ขอบคุณข้อมูลจากสำนักข่าวอิศรา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook