มาตรการอสังหาฯ กระตุ้นแรงซื้อ ระบายสต็อกคงค้าง

มาตรการอสังหาฯ กระตุ้นแรงซื้อ ระบายสต็อกคงค้าง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
จากการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจ รวมถึงมาตรการอสังหาริมทรัพย์ คือ มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในปี 2552 โดยยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้ที่จ่ายเงินค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน โดยกรณีโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวภายในปี พ.ศ. 2552 ให้ได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้พึงประเมิน เป็นจำนวนเท่ากับมูลค่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 300,000 บาท เพิ่มเติมจากที่ให้หักค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมซื้อบ้านเป็นจำนวนไม่เกิน 100,000 บาท ต่อปี อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามรายละเอียดเงื่อนไขของมาตรการที่ชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งรายละเอียดบางประเด็นจะมีผลต่อระดับความเข้มข้นของผลการกระตุ้นการซื้อขายในตลาดด้วย

มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว น่าจะส่งผลดีต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงมากขึ้นในปีนี้ เนื่องมาจากกำลังซื้อผู้บริโภคที่อ่อนแอลง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นเมื่อวันที่ 21 มกราคมว่า ผู้ประกอบการที่น่าจะได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้น่าจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่มีจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จและพร้อมขายอยู่ในปัจจุบัน หรือในระยะเวลาอันใกล้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวน่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถที่จะระบายสินค้าที่มีอยู่ได้ระดับหนึ่ง ควบคู่ไปกับการกำเนินกลยุทธ์การตลาดที่คาดว่าน่าจะแข่งขันกันอย่างรุนแรงในตลาดอสังหาริมทรัพย์

ในขณะที่การใช้มาตรการภาครัฐอาจช่วยกระตุ้นกลุ่มลูกค้าที่กำลังต้องการซื้อที่อยู่อาศัยที่มีความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัย หรือเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ให้ตัดสินใจเร็วขึ้น เนื่องจากผู้ที่ซื้อที่อยู่อาศัยในปีนี้จะได้รับประโยชน์จากมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในปี 2552 และยังได้รับประโยชน์จากการขยายระยะเวลามาตรการการลดค่าธรรมเนียมและค่าจดจำนอง เดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 28 มีนาคม 2552 ให้ขยายเวลาออกไปอีก 1 ปี โดยจะสิ้นสุดในวันที่ 28 มีนาคม 2553

แม้ว่ามาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในปี 2552 คาดว่าน่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่การใช้มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น จะส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐที่ลดลง ด้วยข้อจำกัดทางการคลัง จึงอาจทำให้รัฐบาลต้องจัดลำดับความสำคัญของมาตรการ โดยเลือกกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น ให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ซื้อบ้านใหม่ เพื่อให้เกิดการระบายสต็อกคงค้างในระบบ และมีการก่อสร้างใหม่เกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีกับธุรกิจอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ

อย่างไรก็ตามอสังหาริมทรัพย์กลุ่มที่ไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการก็อาจจะมีจุดขายในการทำตลาดที่ด้อยกว่าในช่วงปี 2552 นี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook