ผวาเจอบึ้ม!! ประธาน-ตุลาการศาล รธน.จ้างบอดี้การ์ดอารักขา

ผวาเจอบึ้ม!! ประธาน-ตุลาการศาล รธน.จ้างบอดี้การ์ดอารักขา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ประธาน-ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผวาเจอข่มขู่-ปาระเบิด หลังตัดสินคดีสำคัญ ออกระเบียบว่าจ้าง บอดี้การ์ด-ผู้ช่วย เดือนละ 25,000-18,000 บาท มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยทั้งที่บ้าน-ที่ทำงาน-ครอบครัว กำหนดคุณสมบัติเข้มต้องผ่านการฝึก เคยเป็นทหาร-ตำรวจ ห้ามเป็นเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง ผู้สื่อข่าว"มติชนออนไลน์"รายงานเมื่อวันที่ 21 มกราคมว่า เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ประกาศใช้ระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2551 โดยมีสาระสำคัญ ให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญสามารถว่า จ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหรือ"บอดี้การ์ด"และผู้ช่วยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหรือ"ผู้ช่วยบอดี้การ์ด" ประจำตัวประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยได้รับค่าจ้างเป็นเดือนละ 25,000 บาท และ 18,000 บาทตามลำดับ มีสัญญาจ้างครั้งละไม่เกิน 3 ปี และว่าจ้างต่ออีกเกินกว่า 3 ครั้งไม่ได้ ยกเว้นจะมีความจำเป็นพิเศษอย่างยิ่งเพื่อประโยชน์ของทางราชการ นอกจากค่าจ้างรายเดือนแล้ว ในการเดินทางไปราชการโดยให้ได้รับสิทธิในอัตราเดียวกับข้าราชการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญระดับ 6 ในการเบิกค่าใช้จ่ายค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ สำหรับ"บอดี้การ์ด"และ"ผู้ช่วยบอดี้การ์ด" นอกจากมีหน้าที่ในการอารักขา ติดตาม ดูแล รักษาความปลอดภัยแก่ประธานและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีหน้าที่รักษาความปลอดภัย ของพื้นที่ส่วนตัว ครอบครัว สถานที่พัก ยานพาหนะ รวมถึงบุคคลสำคัญทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เป็นแขกรับเชิญของศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมอบหมายแล้วแต่กรณี โดยปฏิบัติงานเต็มเวลาของราชการปกติ รวมทั้งปฏิบัติงานนอกเหนือจากเวลาราชการปกติตามที่ได้รับมอบหมาย ในการว่าจ้าง"บอดี้การ์ด"และ"ผู้ช่วยบอดี้การ์ด" นั้นระเบียบดังกล่าวได้กำหนดคุณสมบัติไว้อย่างเข้มงวดคือ (1) มีสภาพร่างกายแข็งแรง เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ (2) มีคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ - สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี และผ่านการอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยหรืออารักขาบุคคลสำคัญของศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ หรือหลักสูตรอื่นที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัย และมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยหรืออารักขาบุคคลสำคัญมาแล้ว ไม่น้อยกว่าสองปี หรือ - เคยรับราชการทหารหรือตำรวจมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี หรือ -มีคุณสมบัติอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานตามที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นสมควรแล้วแต่กรณี นอกจากนั้นยังกำหนดลักษณะต้องห้ามข้ไว้หลายประการได้แก่ -ไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ ข้าราชการการเมือง ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง -ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่นหรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ -ไม่เป็นผู้จัดการ กรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทนหรือลูกจ้างของบุคคล ห้างหุ้นส่วนบริษัทหรือองค์กรใด ๆ ซึ่งทำธุรกิจเพื่อหากำไร -ไม่เป็นกรรมการหรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การออกระเบียบดังกล่าวข้างต้นมีขึ้นหลังจากศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินคดีสำคัญหลายคดี คดีคณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกแถลงการณ์ร่วมสนับสนุนให้ขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ,คดีนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีมีการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญรับค่าจ้างจากบริษัทเอกชนในการจัดรายการชิมไปบ่นไป, คดียุบพรรคพลังประชาชน ชาติไทยและมัชฌิมาธิปไตยจนมีการข่มขู่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ชุมนุมปิดล้อมศาลรัญธรรมนูญ รวมถึงการปาระเบิดเข้าบ้านนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook