แบงก์หันโกยรายได้ค่าฟี SME > กระตุ้นลูกค้าใช้บริการบริหารเงินสด-โอนเงิน/ชดเชยสินเชื่อ SME ปีนี้โตหลั

แบงก์หันโกยรายได้ค่าฟี SME > กระตุ้นลูกค้าใช้บริการบริหารเงินสด-โอนเงิน/ชดเชยสินเชื่อ SME ปีนี้โตหลั

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
แบงก์ใหญ่เล็งดันรายได้ค่าธรรมเนียมจากการให้บริการลูกค้าเอสเอ็มอี ทั้งบริหารเงินสด โอนเงิน ออกหนังสือค้ำประกัน และเปิดบัญชีเงินฝาก หวังชดเชยเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อเอสเอ็มอีปีนี้ที่หดตัวโตหลักเดียว แบงก์กรุงศรีฯวางแผนเพิ่มรายได้ค่าฟีจาก 15% เป็น 20% ด้านทหารไทยเล็งเพิ่มรายได้อย่างน้อย 40% จากกลุ่มเอสเอ็มอี ขณะที่บัวหลวงยอมรับความต้องการสินเชื่อลดต้องหารายได้ค่าธรรมเนียมทดแทน

ต่อสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวซึ่งกระทบเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อในปีนี้ โดยเฉพาะสินเชื่อขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ที่จะเห็นการเติบโตของสินเชื่อเพียงหลักเดียว อย่างไรก็ตาม ปีนี้จะเห็นธนาคารพาณิชย์หันมาเร่งขยายรายได้จากค่าธรรมเนียมการให้บริการกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีมากขึ้น

นายภูมิชาย วัชรพงศ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) เปิดเผย ฐานเศรษฐกิจ ว่า ธนาคารมีแผนเพิ่มรายได้จากค่าธรรมเนียมจากบริการกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีเป็น 20% จากปีก่อนอยู่ที่ 15% ซึ่งรายได้จากค่าธรรมเนียมเหล่านี้ จะมาจากทั้งบริการบริหารเงินสด โอนเงิน การออกหนังสือค้ำประกัน ฯลฯ โดยที่ลูกค้าส่วนใหญ่มีการใช้บริการกับธนาคารต่อเนื่องอยู่แล้ว

ในส่วนของการตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีในปีนี้ จะเติบโต 2 เท่าของจีดีพีหรือประมาณ 7% คิดเป็นวงเงินสินเชื่อสุทธิประมาณ 10,000 ล้านบาท จากพอร์ตสินเชื่อที่มีอยู่ประมาณ 130,000-140,000 ล้านบาท โดยยังเน้นรักษาฐานลูกค้าเดิม ยกตัวอย่าง ลูกค้าเอสเอ็มอีที่ถูกผลกระทบจากภาคท่องเที่ยวซึ่งธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น ด้วยการลงพื้นที่พบลูกค้าแล้ว 30-40 รายที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่น สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ ขยายระยะเวลาผ่อนชำระเงินต้น ฯลฯ

นายสยาม ประสิทธิสิริกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปีนี้ธนาคารมีแผนเปลี่ยนจากการเร่งปล่อยสินเชื่อเป็นการขยายฐานเงินฝากและค่าธรรมเนียม ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีรายได้จากค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปีก่อน โดยในส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมที่มาจากลูกค้าเอสเอ็มอีนั้น จะเพิ่มขึ้นได้อย่างน้อย 40% จากการที่ธนาคารสนับสนุนให้ลูกค้าที่ใช้สินเชื่อรูปแบบวงเงินเบิกเกินบัญชี (โอดี) ให้มีการทำธุรกรรมด้านอื่นๆ ด้วย เช่น เปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ กระแสรายวัน รวมทั้งการบริหารเงินสด เนื่องจากปัจจุบันลูกค้าของธนาคารมากกว่า 40% ที่ใช้บริการสินเชื่ออยู่กับธนาคาร แต่เมื่อได้รับอนุมัติสินเชื่อไปแล้วจะโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารอื่น

สำหรับเป้าหมายการขยายสินเชื่อเอสเอ็มอีในปีนี้ ธนาคารทหารไทยตั้งเป้าเติบโต 3-5% หรือคิดเป็นวงเงิน 4,000-5,000 ล้านบาท จากพอร์ตสินเชื่อ 110,000-120,000 ล้านบาท โดยเน้นปล่อยเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนและบริหารความเสี่ยงในแง่ของลูกค้าและคู่ค้ามากขึ้น

นายปลิว มังกรกนก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบมจ.ทิสโก้ไฟแนนซ์เชียลกรุ๊ป กล่าวว่า ในปีนี้ธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่จะช่วยสร้างรายได้ให้แก่ธนาคาร เช่น บริการบริหารเงินสด บริหารการลงทุน ฯลฯ ดังนั้นการทำตลาดลูกค้าในกลุ่มนี้ ทิสโก้จะเน้นต่อยอดความสัมพันธ์ที่เคยมี จากปัจจุบันซึ่งทิสโก้มีฐานลูกค้าเอสเอ็มอีประมาณ 1,700 ล้านบาท ส่วนใหญ่ทำการค้ากับธุรกิจเช่าซื้อ เช่น กลุ่มโรงพิมพ์ กลุ่มพลังงาน กลุ่มขนส่ง เป็นต้น ขณะที่ในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าการเติบโตสินเชื่อ 5% หรือปรับเพิ่มจาก 1,700 ล้านบาทเป็น 2,000-3,000 ล้านบาท

นายวีระศักดิ์ สุตันฑวิบูลย์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง แนวทางการทำตลาดธุรกิจเอสเอ็มอีในปีนี้ เน้นรักษาฐานลูกค้าเดิมจากปัจจุบันที่มีพอร์ตสินเชื่อประมาณกว่า 300,000 ล้านบาท โดยเบื้องต้นตั้งเป้าขยายสินเชื่อจากฐานเดิม 5-7% ส่วนแนวทางการสร้างรายได้จากธุรกิจในกลุ่มนี้ พยายามสร้างรายได้ให้ครอบคลุมรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น เพราะความต้องการสินเชื่อที่ไม่โต ทำให้ธนาคารต้องหารายได้ค่าธรรมเนียมชดเชย ด้วยการสนับสนุนให้ลูกค้าเอสเอ็มอีมีธุรกรรมต่อเนื่องและหลากหลาย

ดร.วิวัฒน์ กิตติพงศ์โกศล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ กลุ่มลูกค้าธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เป้าหมายอัตราการเติบโตของสินเชื่อเอสเอ็มอีปีนี้อยู่ที่ 7% วงเงินประมาณ 30,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่พอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 230,000-240,000ล้านบาท โดยเน้นประคองลูกค้าให้ผ่านพ้นวิกฤติ เพราะสถานการณ์ขณะนี้เอสเอ็มอีมีความสามารถอยู่รอดต่ำ ส่วนรายใหม่เน้นรายที่มีคุณภาพ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook