ทำคู่มือฟื้นผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง

ทำคู่มือฟื้นผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เมื่อวันที่ 22 ม.ค. น.ส.บรรณฑวรรณ หิรัญเคราะห์ นักวิจัยจากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จักรีรัช หนึ่งในคณะผู้จัดทำ คู่มือการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองสำหรับญาติที่ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน เปิดเผยว่า โรคหลอดเลือดสมองคือ โรคทางระบบประสาทที่มีสาเหตุสำคัญ 2 ประการคือ โรคหลอดเลือดสมองขาดเลือด พบร้อยละ 80 ของผู้ป่วย และโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากเลือดออกในสมอง พบร้อยละ 20 ของผู้ป่วยทั้งหมด โดยความผิดปกติที่เกิดขึ้นส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการที่แตกต่างกัน และตำแหน่งของเนื้อเยื่อสมองที่ได้รับบาดเจ็บทำให้ผู้ป่วยมีความพิการหลงเหลืออยู่หลังจากพ้นภาวะวิกฤต และอาการที่พบส่วนใหญ่ได้แก่ อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ ทำให้ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ การรับรู้ความรู้สึกของร่างกายซีกใดซีกหนึ่งลดลงหรือขาดหายไป การสื่อสารที่บกพร่อง คือ ฟัง พูด อ่าน เขียน ได้ไม่เต็มที่ตามความรู้สึกนึกคิดของตนเอง ซึ่งอาจรวมไปถึงการไม่สามารถควบคุมระบบขับถ่าย ทั้งปัสสาวะหรืออุจจาระได้

น.ส.บรรณฑวรรณกล่าวต่อว่า อาการลักษณะนั้นสร้างปัญหาและผลกระทบระยะยาวทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ สังคม สิ่งที่สำคัญคือทั้งผู้ป่วยและญาติจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการดูแลช่วยเหลือ ด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายให้เกิดขึ้นได้ และจากผลงานวิจัยที่จัดทำขึ้นรวบรวมปัญหา ความต้องการด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างแท้จริง จึงรวบรวมขึ้นทำเป็นคู่มือสำหรับผู้ดูแลและผู้ป่วยเองโดยตรง ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาวิจัย และการเผยแพร่ จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ด้านนางพรพชร กิตติเพ็ญกุล จากโรงพยาบาลบ้านโป่ง จ.ราชบุรี หนึ่งในคณะจัดทำ กล่าวว่า คู่มือเล่มนี้เหมาะกับญาติ ผู้ดูแล ที่จะใช้ในการศึกษาด้วยตนเอง มีเนื้อหาและภาพประกอบการปฏิบัติที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจ โดยมีเนื้อหาสำคัญ อาทิ ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโรค ปัญหาที่พบจากการดูแลผู้ป่วย การดูแลส่งเสริมด้านจิตใจของผู้ป่วย แนวทางการช่วยเหลือกิจวัตรประจำวัน เช่น การใส่เสื้อ ใส่กางเกง การจัดเตรียมอาหารสำหรับผู้ป่วย การจัดท่าเพื่อการบริหารเคลื่อนไหวร่างกาย การจัดท่าทางเพื่อบริหารเคลื่อนไหวบนเตียง การฝึกฝนการเคลื่อนย้าย การใช้รถเข็น วิธีการให้ผู้ป่วยฝึกยืน การฝึกเดิน ฝึกพูด เป็นต้น นอกจากนี้ในคู่มือยังมีตารางแบบบันทึกการฝึกการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วย สำหรับญาติได้ติดตามและบันทึกการปฏิบัติอย่างใกล้ชิดด้วย

(กรอบบ่าย)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook