บ้านราชวิถีโต้-ซ่อนปลาป๋องเน่า

บ้านราชวิถีโต้-ซ่อนปลาป๋องเน่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เมื่อวันที่ 23 ม.ค. นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตามที่เมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา ตนได้ออกมาแถลงข่าวว่ามีภาพถ่ายและข้อมูลว่ามีการซุกถุงยังชีพที่เหลือจำนวน 2 หมื่นถุง ไว้ที่สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถีนั้น ปรากฏว่าหลังเวลาช่วง 01.00-05.00 น.วันที่ 23 ม.ค. ทราบว่ามีการขนย้ายไปเก็บไว้ที่อื่น ซึ่งไม่แน่ใจว่าได้ทำลายหลักฐานไปแล้วหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าปลากระป๋องชาวดอยที่นำไปแจก มาด้วยวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่ใช่บริจาค โดยเฉพาะนายวิเชน สมมาต บุคคลที่นายวิฑูรย์อ้างว่าเป็นผู้บริจาคปลากระป๋องชาวดอยนั้น ไม่อยู่ในฐานะที่จะบริจาคปลากระป๋องได้มากถึงหมื่นกระป๋อง ซึ่งวันที่ 25 ม.ค.นี้ จะนำญาตินายวิเชน จากจ.พัทลุง มาแถลงข่าวว่านายวิเชนมีความสามารถบริจาคเงินเป็นล้านและบริจาคปลากระป๋องจำนวนมากขนาดนั้นได้หรือไม่

ด้านนางพรเพ็ญ ลีลาพันธุ์ ผอ.ส่วนส่งเสริมและพัฒนาการจัดสวัสดิการสังคม หรือศูนย์รับบริจาคบ้านราชวิถี สังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กล่าวถึงนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ระบุที่บ้านราชวิถีเป็นสถานที่เก็บปลากระป๋องยี่ห้อชาวดอยที่เตรียมส่งไปบริจาค 17,500 กระป๋องว่า ขอยืนยันศูนย์รับบริจาคแห่งนี้ไม่เคยได้รับบริจาคปลากระป๋องยี่ห้อ ชาวดอย แม้แต่กระป๋องเดียว และพร้อมให้ทุกฝ่ายเข้ามาตรวจสอบ จึงไม่เข้าใจว่าข่าวที่ออกมานั้นได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแค่ไหน ที่ผ่านมาการบริจาคสิ่งของผ่านศูนย์แห่งนี้ ส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าเด็กนักเรียน มีทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ส่วนการบริจาคสิ่งของบริโภคที่เป็นปลากระป๋องนั้น หลายปีที่ผ่านมาทางศูนย์จะรับบริจาคเฉพาะยี่ห้อดัง เช่น ปุ้มปุ้ย เป็นต้น การที่มีผู้ให้ข่าวโดยไม่ตรงกับข้อเท็จจริงจึงส่งผลให้สาธารณชนเข้าใจผิดและอยากให้สื่อมวลชนช่วยชี้แจงข่าวให้ด้วย

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิชาติ สุภาแพ่ง ส.ส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีการแจกถุงยังชีพที่มีปลากระป๋องเน่า ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่า เรื่องนี้ตนได้บรรจุเป็นวาระในการประชุมของคณะกรรมาธิการแล้ว ซึ่งจะประชุมในวันที่ 28 ม.ค.นี้ พร้อมเชิญตัวแทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการผลิตสินค้าดังกล่าว อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร เข้ามาชี้แจงถึงมาตรฐานการควบคุมคุณภาพของสินค้า การให้เลขที่อนุญาต อย. และสอบถามสาธารณสุขจังหวัดถึงสถานที่ผลิตของสินค้าว่าผ่านการตรวจสอบอย่างไร เพราะเท่าที่รู้ตามสื่อพบว่า ปลากระป๋องเน่าก่อนกำหนด ทั้งที่เกณฑ์อายุหน้ากระป๋องยังระบุว่า ไม่หมดอายุ แต่ทำไมปลาถึงเน่าก่อน และมีใบอนุญาตเลขที่ อย.ด้วย จึงต้องดูว่ามีการปลอมแปลงขึ้นมาหรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้ หลังจากได้ข้อมูลเหล่านี้แล้ว หากมีการพัวพันไปถึงใครอย่างไรก็จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook