งบฯกระตุ้นศก. 1.15 แสนล.สะดุดอาจขัดรธน. คลังยกร่าง 2 แบบให้ นายกฯ-รมว.คลังตัดสินใจ

งบฯกระตุ้นศก. 1.15 แสนล.สะดุดอาจขัดรธน. คลังยกร่าง 2 แบบให้ นายกฯ-รมว.คลังตัดสินใจ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายกฯ-รมว.คลัง เจอปัญหาหนักอก ร่างงบฯกระตุ้นเศรษฐกิจกลางปี 1.15 แสนล้านอาจขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากกฤษฎีกาวินิจฉัยต้องใช้รายได้จากภาษีเท่านั้น ทีมยกร่างกระทรวงการคลังเสนอ 2 แบบมีทั้งใช้ ภาษี-เงินกู้ จ่าย ให้ มาร์ค-กรณ์ ตัดสินใจ รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์กำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2552 ต่อสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์หน้า โดยเฉพาะในมาตรา 21 กำหนดงบฯรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังจำนวน 19,139,476,300 บาท เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ทีมร่างกฎหมายของกระทรวงการคลังจึงยกร่างมาตรา 21 ไว้ 2 ร่าง แต่ไม่ว่าจะเลือกร่างไหนก็มีปัญหากระทบต่อเสถียรภาพทางการเมือง และทางเศรษฐกิจเหมือนกัน ขณะนี้จึงต้องรอการตัดสินใจของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่าจะเลือกร่างไหนก่อนนำเสนอสภาผู้แทนฯต่อไป

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผย มติชน เมื่อวันที่ 24 มกราคม ถึงรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2552 หรือ ร่างรายจ่ายเพิ่มเติมงบกลาง ว่า กระทรวงการคลังได้ยกร่างรายจ่ายเพิ่มเติมงบกลางเสร็จสิ้นแล้ว มีทั้งสิ้น 23 มาตรา ตั้งเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 115,655,927,900 บาท จำแนกรายหน่วยงานจากมากไปหาน้อย ดังนี้ 1.กระทรวงศึกษาธิการ 18,218 ล้านบาท 2.สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 15,200 ล้านบาท 3.กระทรวงมหาดไทย 15,017 ล้านบาท 4.กระทรวงการคลัง 9,670 ล้านบาท 5.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2,000 ล้านบาท 6.กระทรวงคมนาคม 1,500 ล้านบาท 7.กระทรวงสาธารณสุข 1,095 ล้านบาท 8.กระทรวงพาณิชย์ 1,000 ล้านบาท 9.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 760 ล้านบาท 9.กระทรวงการกีฬาและการท่องเที่ยว 699 ล้านบาท 10.กระทรวงการต่างประเทศ 570 ล้านบาท 11.กระทรวงอุตสาหกรรม 467 ล้านบาท 12.กระทรวงวัฒนธรรม 42 ล้านบาท 13.กลุ่มรัฐวิสาหกิจ 11,742 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ในมาตรา 21 งบฯรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังจำนวน 19,139,476,300 บาทนั้น เนื่องจากจำเป็นต้องระบุว่าแหล่งที่มาของรายได้ในการนำเงินมาชดใช้คืน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 ที่กำหนดให้รัฐบาลต้องตั้งรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง และให้กำหนดแหล่งที่มาของรายได้เพื่อชดใช้รายจ่ายที่ได้ใช้เงินคงคลังจ่ายไปก่อนแล้ว ทีมงานยกร่างจึงรุในมาตรา 21 ว่า แหล่งรายได้ ดังต่อไปนี้ (1) ภาษี......ศูนย์บาท นั่นหมายถึงกระทรวงการคลังมีแผนที่จะกู้เงินจากสถาบันการเงินทั้งในและนอกประเทศมาใช้เงินคงคลัง ซึ่งอาจจะขัดกับการวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อเดือนธันวาคม 2551 ว่า รายได้ในทางกฎหมาย หมายถึงรายได้จากภาษีอากร หรือเงินที่รัฐวิสาหกิจส่งเข้าเงินคงคลัง ไม่ใช่เงินกู้ซึ่งไม่ถือเป็นรายได้ แต่ถือเป็นรายรับ ด้วยเหตุนี้ ทีมงานจึงยกร่างฉบับที่ 2 ขึ้นมา กำหนดในมาตรา 21 ว่า แหล่งรายได้ ดังต่อไปนี้ (1) ภาษี......19,139,476,300 บาท ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาขัดหรือแย้งกับการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา

แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า แม้ทีมยกร่างของกระทรวงการคลังจะยกร่างขึ้นมา 2 แบบ แต่ไม่ว่าเลือกร่างไหนเข้าสภา ก็ดูจะมีปัญหาให้หนักใจไม่ต่างกัน ดังนี้ ประการแรก หากรัฐบาลเลือกร่างแรกกำหนดชดใช้เงินคงคลังจากภาษีเป็นศูนย์บาท เพื่อรอกู้เงินมาชดใช้ วิธีนี้จะเปิดช่องให้นักกฎหมายฝ่ายตรงข้าม หรือพรรคฝ่ายค้านยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความว่า ร่างรายจ่ายเพิ่มเติมงบกลางขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 หรือไม่ หากศาลรับคำร้อง ต้องใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะมีคำวินิจฉัยออกมา ซึ่งจะทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติมถูกชะลอการพิจารณาในสภา จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยส่งผลให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสะดุดลง และกระทบต่อเนื่องไปถึงเสถียรภาพทางการเมืองอีกด้วย ถึงที่สุดถ้าศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดมาตรา 169 รัฐบาลก็ต้องไปทั้งยวง

ประการที่สอง หากรัฐบาลเลือกร่างที่สอง กำหนดชดใช้เงินคงคลังจากภาษี 19,139,476,300 บาท รัฐบาลก็ไม่รู้จะอธิบายต่อสภาผู้แทนฯได้อย่างไรว่า จะหารายได้จากภาษีอากรตัวไหนมาตั้งชดใช้ เนื่องจากทุกวันนี้ก็ยังไม่รู้จะรีดภาษีอากรเพิ่มเติมได้จากแหล่งไหน เว้นแต่รัฐบาลจะกล้าตัดสินใจเก็บภาษีบางตัวเพิ่ม เช่น ภาษีสรรพสามิต จากผลิตภัณฑ์น้ำมัน หรือจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งยังเก็บไม่เต็มเพดาน เป็นต้น

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ สำนักงบประมาณ ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2551 ให้กฤษฎีกาวินิจฉัย กรณีการตั้งงบประมาณเพิ่มเติม ปี 2552 อาจมีการเสนอตั้งงบฯเพื่อชดใช้เงินคงคลัง แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 169 ระบุว่า การตั้งงบฯชดเชยเงินคงคลังต้องระบุแหล่งที่มาของรายได้ ในขณะที่การจัดทำงบฯเพิ่มเติมปี 2552 แหล่งที่มาของรายได้เป็นเงินกู้ในประเทศทั้งหมด ไม่มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีอากร หรือรายได้อื่นของรัฐ กรณีดังกล่าวจะอยู่ในเงื่อนไขจะต้องตั้งงบฯชดใช้เงินคงคลังตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 หรือไม่

ข่าวแจ้งว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา วินิจฉัยว่า เมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญ มาตรา 169 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 6 และ 7 พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ.2491 แล้ว หากในข้อเท็จจริงมีการนำเงินคงคลังออกไปใช้ก่อนจะมีกฎหมายอนุญาตแล้ว การตั้งงบประมาณเพิ่มเติมก็ต้องตั้งงบฯรายจ่ายชดเชยไว้ด้วย นอกจากนี้ยังได้วินิจฉัยว่า รายได้รัฐหมายภาษี การขายสิ่งของและบริการ หรือรายได้อื่นของแผ่นดิน แต่เงินกู้ไม่ถือว่าเป็นรายได้ เพราะเป็นรายรับที่มีข้อผูกพันต้องใช้คืนตามกำหนด เงินกู้จึงไม่ใช่แหล่งรายได้ที่จะนำมาชดใช้เงินคงคลังได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 169

คณะกรรมการกฤษฎีกา ยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า การกำหนดแหล่งที่มาของรายได้ที่จะชดใช้เงินคงคลังในงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมเป็นสิ่งที่ต้องกระทำ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และแม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่า การทำงบฯรายจ่ายเพิ่มเติมครั้งนี้ รัฐบาลไม่มีแหล่งรายได้อื่นเลยก็ตาม ก็เป็นกรณีที่ประมาณการรายรับประเภทรายได้ต่ำกว่างบฯรายจ่ายเพิ่มเติมที่ขอตั้ง ซึ่งรัฐบาลต้องแสดงวิธีการหาเงินในส่วนขาดดุลเสนอต่อสภาตามนัยมาตรา 9 ประกอบมาตรา 17 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2502 ด้วย

ัััััััััั

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook