คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบสัปดาห์

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบสัปดาห์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กรณ์ลั่นดันภาษีที่ดิน-มรดก

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้กับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ว่า สศค.เสนอปรับโครงสร้างระบบการจัดเก็บภาษีเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ซึ่งสศค.ได้มองในระยะยาว 10-20 ปีข้างหน้าเพื่อเพิ่มขีดความแข่งขันของประเทศในอนาคต รวมทั้งเพื่อรองรับการใช้จ่ายเงินของภาครัฐในอนาคตตามนโยบายต่างๆ สำหรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สศค.รายงานให้ฟังว่า เคยมีรัฐบาลหลายสมัยนำร่างกฎหมายเสนอต่อสภาให้พิจารณา แต่เมื่อเสนอไปแล้ว สภาก็ล่มทุกครั้ง รัฐบาลจึงต้องการลองของบ้างว่าจะผ่านการพิจาณาสำเร็จหรือไม่ เพราะเห็นว่าถึงเวลาแล้วกฎหมายในลักษณะนี้ควรเสนอให้สภาพิจารณา รวมไปถึงกฎหมายมรดก ซึ่งยังมีข้อถกเถียงจากหลายฝ่ายที่มีความเห็นแตกต่างกัน

ยืด5มาตรการ6เดือน

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมครม. วันที่ 20 ม.ค. เห็นชอบมาตรการ 5 มาตรการ 6 เดือน ที่จะมีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.52 จากเดิมที่จะครบกำหนดในวันที่ 31 ม.ค.นี้ โดยเห็นชอบให้ดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่ายน้ำประปาของครัวเรือน สำหรับครัวเรือนที่มีปริมาณการใช้น้ำไม่เกิน 30 ลูกบาศก์เมตร/เดือนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จากเดิมที่กำหนดไว้ 50 ลบ.ม./เดือน ผ่านการประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อื่นเพิ่มเติมจากเดิมที่มี อปท. เฉพาะบางกลุ่มเริ่มใช้มาตรการนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.51 ทำให้ประชาชนได้ใช้น้ำฟรีเพิ่มขึ้น 4.6 ล้านคน เป็น 8.2 ล้านคน จากเดิม 3.6 ล้านคน ใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 5.84 พันล้านบาท จากเดิม 5.5 พันล้านบาท

คลังตุน2แสนล้านให้รสก.กู้

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สบน.) เปิดเผยว่า จากความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดเงินและตลาดทุนในประเทศ ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดและจำกัดการให้สินเชื่อ ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดของการกู้เงินในประเทศของรัฐวิสาหกิจ (รสก.) กระทรวงการคลังจึงเตรียมนำเครื่องมือทางการเงินมาใช้เพื่อเสริมความคล่องตัวในการบริหารและจัดการเงินกู้ในประเทศให้แก่รัฐวิสาหกิจอย่างเหมาะสมและสามารถดำเนินการค้ำประกันเงินกู้ได้ โดยการจัดตั้งเงินกู้ระยะสั้น วงเงินไม่เกิน 2 แสนล้านบาท เพื่อให้รัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงินภาครัฐสามารถกู้เงินในประเทศระยะสั้นได้โดยตรง เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารและจัดการ โดยมีโครงสร้าง การดำเนินการ วิธีการสอดคล้องกับความต้องการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ

กฟผ.ออกพันธบัตรไม่ทัน2เดือนนี้

นางสินีนาถ สิทธิรัตนะรังสี รองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับกระทรวงการคลังเพื่อขอออกพันธบัตรเสริมสภาพคล่องระยะสั้น 2 หมื่นล้านบาท ที่กฟผ.มีภาระจากการแบกรับต้นทุนค่าเชื้อเพลิงแทนประชาชนในส่วนของค่าไฟฟ้าเอฟทีงวดที่แล้ว (ต.ค.-ธ.ค.51) โดยกฟผ.ต้องการออกพันธบัตรเบื้องต้น 1 หมื่นล้านบาท ในเดือนม.ค.นี้ แต่กระทรวงการคลังแจ้งว่าคงไม่ทันในช่วง 2 เดือนนี้ เพราะในช่วงนี้มีรัฐวิสาหกิจอื่นๆ เข้าคิวรอออกพันธบัตรหลายหน่วยงาน ประกอบกับขั้นตอนการเสนอออกพันธบัตรของกฟผ.ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงพลังงาน โดยหากผ่านความเห็นชอบแล้วต้องนำเสนอครม. จากนั้นกระทรวงการคลังจึงจะนำไปต่อคิวการออกพันธบัตรในรอบต่อไปได้ ในช่วง 2 เดือนนี้ กฟผ.คงจะต้องบริหารสภาพคล่องที่มีอยู่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาทให้เพียงพอ

คาดส่งออกต้นปีติดลบ

นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการส่งออกในเดือนธ.ค.51 ว่ามีมูลค่า 11,604.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวลดลง 14.6% ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง ตามความต้องการของลูกค้าในตลาดโลก สำหรับมูลค่าการส่งออกทั้งปี51 (ม.ค.-ธ.ค.) มีมูลค่า 177,841.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.6% ถือเป็นอัตราที่สูงกว่าเป้าหมาย 12.5% ด้านการนำเข้ามีมูลค่า 178,653.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 27.6% ส่งผลให้ดุลการค้าทั้งปี51 ขาดดุลรวม 811.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การส่งออกปีนี้ไตรมาสแรกอาจติดลบได้ ส่วนครึ่งปีหลังหากเศรษฐกิจทั่วโลกดีขึ้นบวกกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย อาจทำให้การส่งออกกลับมาเป็นบวกได้

กดดันบอร์ดบินไทยลาออก

นายสุรชัย ธารสิทธิ์พงษ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากปัญหาการปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเมื่อปลายปีที่ผ่านมา รวมกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของการบินไทยลดลง และกระแสเงินสดที่มีอยู่จะเพียงพอจนถึงเดือนมี.ค.นี้เท่านั้น การบินไทยจึงต้องการหาแหล่งเงินกู้ 29,000 ล้านบาท เพื่อชำระคืนหนี้เงินกู้ระยะสั้นที่ครบกำหนด ซึ่งในวงเงินดังกล่าวคณะกรรมการการบินไทยได้อนุมัติไปแล้ว 10,000 ล้านบาท และจะพิจารณาเพิ่มเติมอีก 19,000 ล้านบาท

นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า คณะกรรมการหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่ประสบปัญหาการขาดทุน จะต้องพิจารณาตัวเองว่ามีเวลาทุ่มเทให้องค์กรอย่างเต็มที่หรือไม่เพราะหากไม่มีเวลาเพียงพอ จะทำให้องค์กรเสียประโยชน์ก็ต้องพิจารณาตัวเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook