ย้อนประวัติ ทำเนียบรัฐบาล จากบ้านขุนนางสู่ที่ทำงานนายกฯ

ย้อนประวัติ ทำเนียบรัฐบาล จากบ้านขุนนางสู่ที่ทำงานนายกฯ

ย้อนประวัติ ทำเนียบรัฐบาล จากบ้านขุนนางสู่ที่ทำงานนายกฯ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทำเนียบรัฐบาล เดิมเป็นบ้านพัก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เพื่อพระราชทานแก่ พลเอก พลเรือเอก เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการมหาดเล็ก และผู้บัญชาการกรมมหรสพ ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ถวายงานใกล้ชิด โปรดให้เป็นหัวหน้าห้องพระบรรทม นั่งร่วมโต๊ะเสวย ทั้งมื้อกลางวัน และกลางคืน ตลอดรัชกาล และตามเสด็จโดยลำพัง เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย

บ้านพักของพลเอกพลเรือเอก เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) มีชื่อว่า บ้านนรสิงห์ ต่อมาจอมพล ป. พิบูลสงคราม ติดต่อขอซื้อเพื่อทำเป็นสถานที่รับรองแขกต่างประเทศที่มาเยือนในราคา 1,000,000 บาท ต่อมาในปี 2484 มาใช้เป็นทำเนียบรัฐบาล มีการเปลี่ยนชื่อจาก บ้านนรสิงห์ มาเป็น ทำเนียบสามัคคีชัย จากนั้นมาก็ใช้เป็นทำเนียบรัฐบาลจนถึงปัจจุบัน โดยเป็นสถานที่ทำงานของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมด้วยสำนักงานของหน่วยงานต่างๆสำหรับทำเนียบรัฐบาลเป็นตึกอาคารทรงแบบ"กอธิก"ตอนปลายกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้วโดยพื้นที่รอบๆ ทำเนียบฯ มีทั้งหมด 27 ไร่ 3 งาน 44 ตารางวา

ในรัฐบาลหลายสมัยเคยมีการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์รอบสวนพื้นที่ทำเนียบรัฐบาลให้สวยงามแต่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าเป็นการปรับฮวงจุ้ยเสริมบารมีของผู้ที่มาเป็นนายกรัฐมนตรี อาทิ สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีนายกรัฐมนตรี มีปรับภูมิทัศน์หลายครั้ง เช่น การปลูกดอกแก้ว ดอกไม้ โปรดของอดีตนายกฯ และนำไม้ดอกประจำฤดูมาปลูกหน้าตึกไทยคู่ฟ้า การย้ายศาลพระภูมิที่ตั้งอยู่บริเวณรั้วหน้าทำเนียบฯกว่า 50 ปีออก แล้วย้ายไปไว้ข้างตึกสันติไมตรีหลังนอกแทน ทั้งมีโครงการสร้างห้องใต้ดิน ขุดอุโมงค์

จากนั้นในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีการปรับเปลี่ยนนำอ่างน้ำพุมาวางไว้หน้าห้องสีม่วงในตึกไทยคู่ฟ้า เอาต้นโมกและโกสนมาตั้งเรียงในตึก ติดหมุดสะท้อนแสงหน้าบันไดทางขึ้นตึก มีการนำรูปปั้นพระสังกัจจายน์และปีเซียะตั้งบนหลังคาตึกไทยคู่ฟ้าตามความเชื่อแบบจีน

และล่าสุดสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์เวชชาชีวะ นายกฯ มีการปรับภูมิทัศน์หลายรอบ อาทิ การถอนบรรดาต้นไม้เก่าแก่ออกไป เช่น ต้นกระถินณรงค์ยักษ์ ต้นลีลาวดี ต้นมะม่วง สมัยจอมพล ป. ต้นข่อย และกอไผ่จีน ใกล้ห้องทำงานผู้สื่อข่าวทำเนียบฯ และมีการนำต้นไม้กลับมาปลูกเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก และมีการปรับเปลี่ยนทางเข้านายกฯ จากเข้าข้างหน้าเป็นเข้าข้างๆแทน มีการนำเสาธงชาติต้นสีทองใหม่เอี่ยม 3 ต้น มาตั้งไว้ประตูทางเข้า-ออก มีการนำต้นโกสน 6 ต้น มาตั้งคั่นระหว่างปืนใหญ่ และสุดท้ายปรับเปลี่ยนแบบยกสวนนงนุชไว้ที่ทำเนียบรัฐบาล

สำหรับอาคารต่างๆที่สำคัญในทำเนียบรัฐบาลประกอบไปด้วย

ตึกไทยคู่ฟ้า
ชื่อไทยคู่ฟ้านี้ ตั้งขึ้นใหม่ในสมัยที่ จอมพล ป.เป็นนายกรัฐมนตรี เดิมชื่อ ตึกไกรสร ตั้งมาจากพระนามเดิมของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไกรสร กรมหลวงรักษ์รณเรศ ต้นราชสกุล พึ่งบุญ ณ อยุธยา เป็นอาคารสูงสองชั้น สถาปัตยกรรมเป็นแบบฟื้นฟูกอทิกแบบเวเนเชียน (Neo Venetain Gothic) ที่มีศิลปะของไบเซนไทน์ผสม ผนังนกเจาะช่องโค้งปลายแหลมทรงสูง ประดับลวดลายปูนปั้น บางส่วนเขียนสีแบบปูนแห้ง (Fresco Secco) มีบันไดขึ้นด้านหน้า สู่ห้องโถงกลาง โดยบนระเบียงด้านหน้าหลังคา ชั้นดาดฟ้าตึก ซึ่งเป็นจุดเด่น หากมองจากหน้าตึก เป็นแท่นประดิษฐานรูปปั้นพระพรหม 4 พระพักตร์ 4 พระกร หน้าตักกว้าง 24 นิ้ว มีกำแพงคลาสสิกบังฐานด้านหน้า อัญเชิญขึ้นประดิษฐาน เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2507

ตึกนารีสโมสร
ชื่อนารีสโมสรนี้ ตั้งขึ้นใหม่ในสมัยที่ จอมพล ป.เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจาก ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรม เดิมชื่อ ตึกพระขรรค์ มีที่มาจาก เจ้าพระยารามราฆพ เป็นมหาดเล็กผู้เชิญพระแสงขรรค์ชัยศรี หนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ปัจจุบันเป็นที่ทำการสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และศูนย์แถลงข่าวรัฐบาลตึกสันติไมตรี
เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมสองหลังคู่กัน ล้อมรอบสนามหญ้า และสระน้ำพุ ตรงกลางอาคารเปิดโล่ง มีระเบียงรอบ สามารถเดินถึงกันได้ โดยมีรูปแบบสถาปัตยกรรมและการตกแต่ง ทั้งภายนอกภายในอาคาร เช่นเดียวกับตึกไทยคู่ฟ้า

ตึกสันติไมตรี
เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมสองหลังคู่กัน ล้อมรอบสนามหญ้า และสระน้ำพุ ตรงกลางอาคารเปิดโล่ง มีระเบียงรอบ สามารถเดินถึงกันได้ โดยมีรูปแบบสถาปัตยกรรมและการตกแต่ง ทั้งภายนอกภายในอาคาร เช่นเดียวกับตึกไทยคู่ฟ้า

ตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหลังเก่า
เดิมเป็นที่ตั้งของ บ้านพักเจ้าพระยารามราฆพ ที่ทำการ และบ้านพักนายราชจำนงค์ ผู้ดูแลผลประโยชน์บ้านนรสิงห์ เป็นเรือนไม้สองชั้น ซึ่งมีอยู่จนถึงปี พ.ศ. 2484 ต่อมาในปี พ.ศ. 2493 รัฐบาลได้สร้างตึกสองชั้น หลังคามุงกระเบื้องแบบสากลนิยมขึ้น เพื่อเป็นที่ทำการสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อมาเคยเป็น ที่ทำการทบวงคณะรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และกรมตรวจราชการแผ่นดิน ปัจจุบันเป็นอาคารที่ทำการ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

รังนกกระจอก
สถานที่ทำงานของสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล ปัจจุบันมี 3 แห่ง คือ
รังนกกระจอกหลังที่ 1 (ชื่อเรียก: รังฯ เก่า) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของตึกไทยคู่ฟ้า เป็นตึกทรงแปดเหลี่ยม หลังคามุงกระเบื้อง เป็นสถานที่ทำงานของผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวี และสถานีวิทยุ
รังนกกระจอกหลังที่ 2 (ชื่อเรียก: รังฯ ใหม่) ตั้งอยู่ในพื้นที่ติดกับทางเข้าประตู 1 ภายในรั้วทำเนียบรัฐบาล และโรงเก็บรถประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี เป็นตึกทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคามุงกระเบื้อง ต่อเนื่องกับรังฯ สาม เป็นสถานที่ทำงานของผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส และที่พักผ่อนของช่างภาพนิ่ง กับช่างภาพโทรทัศน์
รังนกกระจอกหลังที่ 3 (ชื่อเรียก: รังฯ สาม) ตั้งอยู่ถัดจากรังฯ ใหม่ ต่อเนื่องกับโรงเก็บรถ เป็นสถานที่ทำงานของผู้สื่อข่าวหน้าใหม่ ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม รวมถึงผู้สื่อข่าวออนไลน์และ นักข่าวดิจิทัล

เรื่องลี้ลับภายในทำเนียบรัฐบาล
มีเรื่องเล่ากันว่า ตึกนารีสโมสร ในช่วงแรกๆ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีของประเทศ ได้เคยใช้ห้องหนึ่งภายในตึกเป็นห้องนอนด้วย เนื่องจากท่านต้องทำงานจนมืดค่ำ แต่ไม่เท่านั้น ข้าราชการบางคนที่ทำงานอยู่ภายในทำเนียบที่ต้องอยู่เวรดึก ก็ได้พบเห็นสิ่งลี้ลับ อาทิ เห็นเงาที่คาดว่าเป็นผู้ชายแต่งกาย นุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อคอปิด แขนยาว ซึ่งเป็นรูปแบบการแต่งกายของขุนนางในสมัยรัชการที่ 6 บ้างก็ว่าช่วงเวลาตีหนึ่งกว่าๆเคยเห็นถึงขนาดร่างเด็กชายไว้ผมจุก นุ่งจงกระเบน กวักมือเรียกให้มาเล่นด้วยกัน ทำเอาขนลุกซู่ ที่รองลงมาก็เป็นเพียงการได้ยิน เสียงคนเดิน เสียงปิดประตู ก็อกแก็กต่างๆ

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ ของ ย้อนประวัติ ทำเนียบรัฐบาล จากบ้านขุนนางสู่ที่ทำงานนายกฯ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook