จับสัญญาณการเมือง กลิ่น ย้ายรัง เริ่มโชย

จับสัญญาณการเมือง กลิ่น ย้ายรัง เริ่มโชย

จับสัญญาณการเมือง กลิ่น ย้ายรัง เริ่มโชย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ยึดอำนาจรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม และตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้าคณะ

ทำให้บรรยากาศการเมือง เงียบไปถนัดตา เพราะมีประกาศ และคำสั่ง ห้ามนักการเมืองเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือแม้แต่ประชุมสมาชิกพรรค จะเหลือก็แต่ กกต.ที่ให้มีการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นต่อไปได้

ทำให้นักการเมืองส่วนใหญ่ต้องกลับไปปักหลักอยู่ที่พื้นที่ของตัวเอง งดกิจกรรมทางการเมืองทุกชนิด จะมีก็แต่ไปงานแต่ง งานบวช งานศพในพื้นที่ เพื่อดูแลพื้นที่ของตัวเอง และไม่ให้ประชาชนรู้สึกว่าหายหน้าหายตาไปไหน

ในช่วงที่พรรคเพื่อไทย และคนเสื้อแดงกลับไปตั้งหลัก ยังมีกระแสเล็ดลอดว่ามีความเคลื่อนไหวของ ส.ส.หลายกลุ่มที่เตรียมทิ้งพรรค ไปหาค่ายใหม่สังกัด เพราะดูท่าแล้วเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยสุ่มเสี่ยงที่จะถูกยุบอีกครั้งหนึ่ง และเป็นไปได้ว่าพรรคเพื่อไทยจะถูกบอนไซให้เล็กลง เพื่อลดอำนาจ ไม่ให้สยายปีกคุมอำนาจรัฐบาลและเสียงในสภาได้อีกต่อไป

บรรดาอดีต ส.ส. จึงต้องขยับขยายหาที่อยู่ใหม่ เช่นเดียวเมื่อครั้งยุบพรรคพลังประชาชน ที่ ส.ส.กลุ่มเพื่อเนวิน เด็กในคาถาของ "เนวิน ชิดชอบ" และกลุ่มมัชฌิมา ของ "สมศักดิ์ เทพสุทิน" ย้ายรังไปตั้งพรรคใหม่เป็น "พรรคภูมิใจไทย"

กับวลีเด็ดของ เนวิน ชิดชอบ ที่ฝากถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับข้อความที่ว่า "มันจบแล้วครับนาย" ก่อนที่จะตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร โดยมีพรรคประชาธิปัตย์ เป็นแกนนำรัฐบาล

แต่ต้องไม่ลืมว่าการวางแผนในครั้งนั้นมีข้อผิดพลาด หลังจากที่ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ตัดสินใจยุบสภา เพื่อเลือกตั้งใหม่ เพราะเชื่อว่าตัวเองอยู่ในสถานการณ์ที่ได้เปรียบ และหวังจะให้พรรคภูมิใจไทยกวาดเก้าอี้ในภาคอีสาน เพราะในช่วงนั้นพรรคภูมิใจไทยอู้ฟู่พอสมควร

ผลการเลือกตั้งกลับไม่เป็นอย่างที่หวัง พรรคเพื่อไทยเอาชนะพรรคประชาธิปัตย์อย่างถล่มทลาย พรรคภูมิใจไทยที่ถูกวางเป็นพรรคตัวช่วยของพรรคประชาธิปัตย์ จึงต้องกอดคอกันเป็นฝ่ายค้านในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

แต่เมื่อทหารกลับมาเล่นบทยึดอำนาจ แน่นอนว่าสปอตไลต์ไปจับที่พรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง แต่เป็นไปได้ยากที่คนจากพรรคเพื่อไทย จะย้ายไปสังกัดค่ายสีฟ้า เพราะเชื่อขนมกินได้เลยว่าชาวบ้านแถบเหนือกับอีสานไม่เอาด้วยแน่

ขณะที่กลุ่มของ "สมศักดิ์ เทพสุทิน" ที่ทิ้งพรรคภูมิใจไทย ไปอยู่กับพรรคเพื่อไทย ได้ไม่นาน เริ่มมีการขยับแบบมูนวอล์ก เตรียมตั้งพรรคใหม่ เพราะถ้าวัดจากประสบการณ์ในค่ายทหารย่อมรู้ดีว่าอะไรจะเกิดขึ้นตามมา

ส่วนพรรคภูมิใจไทยเริ่มเนื้อหอม เพราะมี ส.ส.จากหลายกลุ่มประสานเพื่อร่วมงานกับค่ายสีน้ำเงิน หลังจากประเมินแล้วว่าพรรคเพื่อไทยไม่รอดแน่ แต่ทางภูมิใจไทยยังเล่นตัวปั่นราคา เพราะยังมีเวลาอีกมากกว่าจะได้ฤกษ์เลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม คนในพรรคเพื่อไทย ระดับแกนนำยืนยันว่า ภาคอีสานจะยังงดการเคลื่อนไหวทางการเมืองจนกว่า คสช.จะมีท่าทีที่ชัดเจน และขอยืนยันว่ายังไม่เคยเห็นข่าวเรื่องการแยกตัวออกจากพรรค พท.ในภาคอีสาน และสมาชิก พท.ในภาคอีสานยังเหนียวแน่น ไม่แตก แต่หลังจากนี้จะมีการซื้อตัว ส.ส.คนใด กลุ่มใดหรือไม่นั้นก็ยังไม่ทราบ เพราะยังไม่มีอะไรชัดเจน เนื่องจากประสบการณ์ในการรัฐประหารที่ผ่านมามีการติดต่อทาบทามให้ ส.ส.ย้ายพรรค ทำตามข้อเสนอของฝ่ายทหาร แต่เมื่อทหารคืนอำนาจมีการเลือกตั้งได้ พรรคการเมืองกลับมามีอำนาจในการบริหารงาน ทำให้ ส.ส.ที่ย้ายพรรค ย้ายขั้วไปสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม กลับสอบตก ไม่มีพื้นที่ยืนในทางการเมือง ทำให้การตัดสินใจย้ายพรรคของ ส.ส.ในเวลานี้จึงยังไม่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ

ส่วนอดีต ส.ส.ที่สวมหมวกเป็นแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ให้ความเห็นถึงความเคลื่อนไหวของอดีต ส.ส.ในพรรคเพื่อไทยในเวลานี้ว่า เท่าที่ติดตามข่าวสาร พรรคพวกเพื่อนๆ ส.ส.ในพรรค ขณะนี้ทุกคนยังอยู่ในสภาวะรอดูสถานการณ์ทางการเมืองที่อยู่ภายใต้การบริหารของ คสช. อีกทั้งบรรดาอดีต ส.ส.ที่เป็นแกนนำมวลชนกลุ่ม นปช. ยังติดเงื่อนไขตามคำสั่งของ คสช. ที่ห้ามไม่ให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในเวลานี้ อีกทั้งขณะที่กติกาในการกำหนดทิศทางทางการเมืองยังไม่มีความชัดเจน ทั้งเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมทั้งแนวทางการปฏิรูปทั้งเรื่องการเมือง และด้านต่างๆ ยังไม่เสร็จเรียบร้อย ซึ่งคงต้องรอดูความชัดเจนจาก คสช. ที่กำหนดโรดแมปในการจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาปฏิรูปประเทศ ซึ่งคงใช้เวลาไม่ต่ำกว่าหนึ่งปี การจะตัดสินใจเคลื่อนไหวในทางการเมืองของเพื่อนๆ ส.ส.ในขณะนี้จึงยังไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะทุกคนคงต้องรอดูความชัดเจนในทางการเมืองภายใต้การบริหารงานและกำหนดทิศทางของ คสช.ให้แน่นอนก่อน

จากนี้ยังไม่มีอะไรที่แน่นอนจนกว่าจะได้เห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะเป็นตัวกำหนดบ้านเมือง และทิศทางการเมือง ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ส่วนนักการเมือง ณ เวลานี้ แน่นอนว่า ยังแทงกั๊กยักกึก อยู่เช่นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook