เบื้องหลังมาตราสำคัญ คสช. ทำคลอด รธน.ฉบับชั่วคราว

เบื้องหลังมาตราสำคัญ คสช. ทำคลอด รธน.ฉบับชั่วคราว

เบื้องหลังมาตราสำคัญ คสช. ทำคลอด รธน.ฉบับชั่วคราว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในที่สุด "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" (คสช.) ที่นำโดย "พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา" ผบ.ทบ. หัวหน้าคสช. ก็ทำคลอด "รัฐธรรมนูญ" (ฉบับชั่วคราว) ให้มีผลบังคับใช้ได้เสร็จสรรพ

ภายหลัง "พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา" นำขึ้นทูลเกล้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อช่วงเย็นวันที่ 22 กรกฎาคม 2557

โดย "รัฐธรรมนูญ" (ฉบับชั่วคราว) มีทั้งหมด 48 มาตรา นำมาบังคับใช้ถือเป็นโรดแมปของ "ประเทศไทย" ในการก้าวเดินไปข้างหน้าตามครรลอง

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org จึงขอสังเคราะห์ในประเด็นที่สำคัญมานำเสนอ และเล่าเบื้องหลังที่มาที่ไปของแต่ละประเด็นพอสังเขป ดังนี้

เป็นที่รู้กันดีว่า "พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา" มอบหมายให้มีการตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ขึ้นมา เพื่อจัดทำร่าง "รัฐธรรมนูญ" (ฉบับชั่วคราว) เป็นกาลเฉพาะ ตัวหลักในการจัดทำร่างดังกล่าว ประกอบด้วย "มีชัย ฤชุพันธุ์"- "วิษณุ เครืองาม" - "บวรศักดิ์ อุวรรณโณ" เป็นต้น

มีกระแสข่าวออกมาตลอดว่า "คณะกรรมการกฤษฎีกา" (คณะพิเศษ) ได้จัดทำร่าง "รัฐธรรมนูญ" (ฉบับชั่วคราว) เสร็จมาระยะหนึ่งแล้ว

แต่ต้องล่าช้าออกไป เนื่องจาก "คสช." สั่งให้ปรับแก้ในหลายประเด็น เพราะต้องการให้ปิดช่องโหว่ทั้งหมด

เริ่มตั้งแต่ "มาตรา 6" ซึ่งกำหนดให้มี "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ" (สนช.) จำนวน 220 คน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ "คณะกรรมการกฤษฎีกา" (คณะพิเศษ) ได้ร่างให้ "คสช." ว่าควรจะมีสนช.แค่ 200 คน

แม้กระทั่งการตรวจทาน "รัฐธรรมนูญ" (ฉบับชั่วคราว) ครั้งสุดท้าย จำนวนสนช.ยังอยู่ที่ 200 คน แต่คงโดนปรับเปลี่ยนให้เพิ่มขึ้นอีก 20 คนในภายหลัง

"มาตรา 8" ซึ่งกำหนดลักษณะต้องห้ามของสนช. "คสช." ได้ให้การบ้าน "คณะกรรมการกฤษฎีกา" (คณะพิเศษ) ไปว่าไม่ควรจะให้ผู้ที่มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตเข้ามาเป็น "สนช."

ส่วน "มาตรา 35" ข้อกำหนดให้ "คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ" จัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุม 10 เรื่อง

ก่อนข้อกำหนดดังกล่าวจะออกมาขีดเส้นให้ "คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ" ได้ใช้เป็นหลักชัยนั้น "มีชัย-วิษณุ-บวรศักดิ์" ได้ตั้งโจทย์เอาไว้ว่าที่ผ่านมาการบริหารประเทศมีข้อผิดพลาดและข้อควรปรับปรุงอย่างไรบ้าง

(1) การรับรองความเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ : นั่นเพราะในช่วงที่มีความขัดแย้งอย่างสูง บางกลุ่มถึงขั้นปลุกปั่นมวลชนของฝั่งตัวเองถึงขั้นแบ่งแยกประเทศกันอยู่ จึงควรมีการระบุให้ชัดเจน

(๒) การให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่เหมาะสมกับสภาพสังคมของไทย : ในช่วงที่ผ่านมามีการนำสถาบันฯ ไปเป็นส่วนหนึ่งของปลุกปั่นมวลชน มีการวิพากษ์วิจารณ์กันกว้างขวางถึงความเหมาะสมของระบอบการปกครองของประเทศไทย

(5) กลไกที่มีประสิทธิภาพที่ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและพรรคการเมือง สามารถปฏิบัติหน้าที่หรือดำเนินกิจกรรมได้โดยอิสระ ปราศจากการครอบงำหรือชี้นำ โดยบุคคลหรือคณะบุคคลใด ๆ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย : ในข้อนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขียนไว้เพื่อป้องกัน "บุคคลภายนอก" ที่อาจจะมีบารมีมากกว่า "รัฐบาล-ข้าราชการ" เข้ามาบังคับบัญชาสั่งการ

(7) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการปรับโครงสร้างและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้ เกิดความเป็นธรรมอย่างยั่งยืน และป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว

(8) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินของรัฐให้เป็นไปอย่างคุ้มค่าและตอบสนองต่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนโดยสอดคล้องกับสถานะทางการเงินการคลังของประเทศ และกลไกการตรวจสอบและเปิดเผยการใช้จ่ายเงินของรัฐที่มีประสิทธิภาพ

: ทั้ง 2 ข้อ ตีความหมายได้ค่อนข้างชัดเจนว่าหมายถึง "นโยบายประชานิยม" ซึ่งเกือบทุกพรรคการเมืองเริ่มมุ่งเน้นนโยบายดังกล่าว เพื่อขยายฐานเสียง-รักษาฐานเสียง เพื่อการเข้าสู่อำนาจรัฐอย่างต่อเนื่อง โดยอาจจะไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะยาว

นี่คือกรอบการแก้ไขปัญหาประเทศที่ "คสช." ต้องการให้ "คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ" เอาไปเป็นเส้นนำทางไปสู่หลักชัย

"มาตรา 37" ตอนหนึ่งระบุว่า "เมื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญตามวรรคสองแล้ว ให้ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาตินำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติ"

ถือเป็นที่ชัดเจนว่า "รัฐธรรมนูญ" (ฉบับใหม่) จะไม่มีการทำ "ประชามติ" ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากพอสมควร

โดยมีกระแสข่าวว่า "พรเพชร วิชิตชลชัย" ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งมีความสนิทสนมกับ "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" ประธานที่ปรึกษาคสช. เป็นคนนำเสนอผลเสียของการทำ "ประชามติ" ต่อ "คสช." จนมีการยกเลิกการทำ "ประชามติ" ไป

และในช่วงหลังเป็น "พรเพชร" ที่ควงแขน "วิษณุ" เข้านำเสนอข้อมูลร่าง "รัฐธรรมนูญ" (ฉบับชั่วคราว) ต่อ "คสช." หลายครั้งหลายคราว

"มาตรา 44" ระบุว่า ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอำนาจสั่งการระงับยับยั้ง หรือกระทำการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหารหรือในทางตุลาการ

ถือเป็นที่ชัดเจนว่า "อำนาจ" ในการบริหารจัดการบ้านเมืองยังอยู่ในมือของ "คสช." โดยเฉพาะ "พล.อ.ประยุทธ์" เรียกไดว้ามีอำนาจเหนือ "นิติบัญญัติ-บริหาร-ตุลาการ" ขึ้นอยู่กับว่าจะเรียกใช้อำนาจเมื่อไรเท่านั้น

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะหากยอมปล่อยให้อำนาจถูกผ่องถ่ายไปส่วนอื่น "ขั้วตรงข้าม" อาจจะฟื้นตัวเร็วขึ้นก็เป็นได้

"มาตรา 46" ระบุว่า "ครม." และ "คสช." จะมีมติร่วมกันให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ก็ได้ นั่น เริ่มไม่ได้มีการระบุไว้ใน "รัฐธรรมนูญ" (ชั่วคราว) แต่ "คสช." สั่งการให้ใส่เอาไว้ ทำให้ "มีชัย" ต้องนำร่างกลับไปเพิ่มเติม ภายหลังนำร่างส่ง "คสช." เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2557

ทั้งหมดคือเบื้องลึก-เบื้องหลัง ของ "รัฐธรรมนูญ" (ฉบับชั่วคราว) ในมาตราที่มีความสำคัญยิ่งในการนำพา "ประเทศไทย" ออกจากภาวะความขัดแย้ง

ส่วนจะทำได้อย่างที่ "คสช." คาดหวัง-วาดฝัน หรือไม่ต้องติดตามดูกันยาวๆ

 

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากสำนักข่าวอิศรา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook