พท.ใช้เวทีรัฐสภารุมอัดกษิตท้าทวงคืนพระวิหาร อภิสิทธิ์แก้ตัวแทนโดดป้องขอรับผิดชอบประเมินผลงานเอง

พท.ใช้เวทีรัฐสภารุมอัดกษิตท้าทวงคืนพระวิหาร อภิสิทธิ์แก้ตัวแทนโดดป้องขอรับผิดชอบประเมินผลงานเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
พรรคร่วมโชว์ปึ้กโหวตเลื่อนวาระ พท.ใช้เวทีรัฐสภาถล่มรัฐบาล ตั้ง รมต.ต่างตอบแทนพันธมิตร-กลุ่มทุน-การเมือง รุม กษิต ท้าทวงคืนพระวิหาร ขวาง ขรก.ชี้แจงแทน ต้อง รมว.บัวแก้วเท่านั้น อภิสิทธิ์ โดดป้อง ขอรับผิดชอบประเมินผลงานเอง รับ ม.190 เป็นอุปสรรค พรรคร่วมโชว์ปึ้กโหวตเลื่อนวาระ

การประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 สมัยสามัญทั่วไป ที่ห้องประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 26 มกราคม ล่าช้ากว่ากำหนดการเดิมที่นัดหมายกันไว้ในเวลา 09.30 น. ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง เนื่องจากสมาชิกเข้าประชุมล่าช้า ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ นอกจากนี้เมื่อครบองค์ 307 คนแล้ว ส.ส.พรรคเพื่อไทย (พท.)ลุกขึ้นขอหารือหลายกรณี อาทิ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พท.เสนอพิจารณาไปตามวาระ เริ่มจากเรื่องด่วนที่ 1 ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ประชาชน 71,543 คน เสนอ นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน พท. เลื่อนการพิจารณากรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 บัญญัติ จำนวน 20 ฉบับ ประกอบด้วย กรอบความร่วมมืออาเซียน 19 ฉบับ ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมอาเซียนซัมมิท ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และบันทึกความเข้าใจกระทรวงแรงงานไทย-สาธารณรัฐเกาหลี 1 ฉบับ ออกไปก่อน เพราะสมาชิกพึ่งได้รับเอกสารเป็นจำนวนมาก เมื่อวันที่ 23 มกราคม

ต่อมา นายธนา ชีรวนิช ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้เลื่อนเรื่องด่วนที่ 2-20 ว่าด้วยกรอบความร่วมมืออาเซียน 19 ฉบับ และเรื่องที่เสนอใหม่ บันทึกความเข้าใจกระทรวงแรงงานไทย-สาธารณรัฐเกาหลี 1 ฉบับ ขึ้นมาพิจารณาเป็นเรื่องแรก แต่นายไพจิตร ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พท. เสนอญัตติให้พิจารณาไปตามลำดับ นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม จึงขอให้สมาชิกแสดงตนเพื่อตรวจสอบองค์ประชุม ปรากฏว่า มีสมาชิกครบองค์จำนวน 376 คน จากนั้นจึงมีการลงมติ โดยที่ประชุมเห็นด้วยกับการนำกรอบความร่วมมืออาเซียนฯขึ้นมาพิจารณาก่อน ด้วยคะแนน 296 ต่อ 74 งดออกเสียง 11 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง

พท.โวยกษิตไม่เข้าประชุม

จากนั้นจึงเริ่มเข้าสู่การพิจารณา โดยที่ประชุมเห็นด้วยกับข้อเสนอนายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ที่เสนอให้พิจารณารายกลุ่มความรับผิดชอบและลงมติรายฉบับแบ่งเป็น 5 กลุ่ม อย่างไรก็ดี ส.ส.พท. ทักท้วงว่า ทำไมการพิจารณาเรื่องสำคัญเช่นนี้ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไม่ให้ความสำคัญเข้าชี้แจง นายชัยจึงแจ้งว่า นายกษิตไปเยือนกัมพูชา และมอบหมายนายวีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯชี้แจงแทน

อภิสิทธิ์ โต้พท.ปมข้อมูลเป็นตั้ง

ต่อมานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายวีระชัย และนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงเอกสารสำคัญเกี่ยวกับความร่วมมือในกรอบอาเซียน นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า สิ่งที่สมาชิกกังวล ความจริงแล้วเอกสารทุกฉบับเป็นเอกสารที่รัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นำเสนอต่อสภา และมีความตั้งใจจะประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2551 ดังนั้น ที่สมาชิกบอกว่ามีเอกสารเป็นศอก ส่วนใหญ่ได้ส่งมาแล้วรอบหนึ่งตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน จำได้เพราะว่าตอนนั้นเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการปรึกษากับประธานวิปรัฐบาลและประธานสภาทั้งสองคนด้วยว่าจะดำเนินการกันอย่างไร เพื่อให้การพิจารณาเรียบร้อยราบรื่นมากที่สุด และได้โอกาสกับฝ่ายค้านมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งขณะนั้นก็ได้ข้อยุติด้วยดี เพียงแต่ว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเกิดขึ้นก็จะจำเป็นที่จะนำเรื่องเสนอกลับเข้ามาใหม่ แต่เอกสารจะเป็นชุดเดิมทั้งสิ้น ยกเว้น 3 เรื่องคือ ข้อตกลงเรื่องการค้าเสรีที่อาเซียนจะไปทำกับจีนฉบับ 1 และทำกับอินเดียอีก 1 ฉบับหนึ่ง และทำกับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ฉบับ 1

ดังนั้น ผมเชื่อว่าสมาชิกส่วนใหญ่มีเอกสารทั้งหมดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนแล้ว ก็น่าจะได้มีโอกาสเดินทางประชุมได้ นายกฯกล่าว

แก้ตัวแทนกษิตติดรับปากเขมร

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า สำหรับกรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ไม่ได้เดินทางมาชี้แจงเนื่องจากติดภารกิจเยือนกัมพูชานั้น เดิมรัฐบาลได้เร่งรัดการเห็นชอบหนังสือสัญญาต่างๆ โดยได้มีการประชุม ครม.นัดพิเศษ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551 และได้อนุมัติร่างหนังสือสัญญาเหล่านี้เพื่อเสนอต่อรัฐสภา ตนได้ลงนามเสนอต่อประธานสภา ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2551 ส่วนหนึ่งและลงนามเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2552 อีกส่วนหนึ่ง โดยมีความตั้งใจว่าจะพิจารณากันในช่วงประชุมสมัยวิสามัญ แต่เมื่อพบว่าทางรัฐสภาไม่สะดวกที่จะพิจารณาในขณะนั้นจึงเลื่อนมาเป็นสมัยสามัญ

ผม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีอีกหลายๆ คนเข้าใจมาตลอดว่า จะประชุมในวันที่ 21-22 มกราคม 2552 แต่เนื่องจากรัฐสภามีการนัดประชุมช่วงวันที่ 26-27 มกราคม และช่วงที่รัฐมนตรีต่างประเทศตอบรับที่จะไปเยือนประเทศกัมพูชาเป็นช่วงก่อนที่จะมีการนัดประชุมช่วงนี้ขึ้นมา จึงทำให้มาร่วมประชุมไม่ได้ แต่ได้มอบหมายให้นายวีระชัย วีระเมธีกุล มาชี้แจงแทน ผมเข้าใจว่าคืนนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจะเดินทางกลับมา ผมได้กำชับว่าเมื่อได้เดินทางกลับมาก็จะมาที่รัฐสภา เพราะหากมีประเด็นอะไรที่ค้างคาอยู่จำเป็นที่จะต้องชี้แจงก็ต้องมาทำหน้าที่ตรงนี้ในการรับผิดชอบต่อสภา นายอภิสิทธิ์กล่าว

พท.ซัดตั้งรมต.4คนไม่เหมาะสม

หลังนายอภิสิทธิ์อภิปรายจบ นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน พท. ลุกขึ้นอภิปรายเป็นคนแรกว่า ขอพูดในฐานะผู้นำฝ่ายค้านกลายๆ เพราะได้เวลาไม่จำกัด โดยเห็นด้วยกับการดำเนินการตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ แต่ไม่เห็นด้วยในการแต่งตั้งตัวบุคคลมาเป็นรัฐมนตรีไม่เหมาะสม 4 กลุ่ม คือ 1.ใช้หนี้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนต้องตั้งนายกษิต เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 2.ตอบแทนกลุ่มทุนจึงเกิดการแต่งตั้งนายวีระชัย วีระเมธีกุล เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

3.ตอบแทนพรรคร่วมรัฐบาลจึงตั้งนางพรทิวา นาคาศัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงการนำนายโสภณ ซารัมย์ มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 4.ตอบแทนคนใกล้ชิดนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้วยการแต่งตั้งนาวิฑูรย์ นามบุตร ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

นายสุนัยยังโจมตีนายกษิตด้วยว่า ใช้คำพูดไม่เหมาะสม เช่น เรียกสมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ว่า มัน...ไอ้...เฮงซวย นอกจากนี้ ภูมิหลังในการเป็นพันธมิตรฯ การเข้าร่วมยึดสนามบินจะก่อให้เกิดปัญหาเรื่องการประชุมอาเซียน

ก่อนหน้านี้ นายกษิตเคยโจมตีเรื่องเขาพระวิหาร บอกว่าจะเอาคืนนายกรัฐมนตรีก็เอากับเขาด้วย เพราะอาจไม่คิดว่าจะได้มาเป็นนายกรัฐมนตรี และยังบอกอีกว่าจะเอา พระตะบอง เสียมราฐคืน อยากถามว่าวันนี้จะเอาคืนอีกหรือไม่ และที่เคยบอกว่ามีทางแก้ไขเรื่องเขาพระวิหาร อยากถามว่า นายกฯมีวิธีอย่างไร นายสุนัยกล่าว พร้อมนำถ้อยคำจากเว็บไซต์ยูทิวบ์ที่เป็นถ้อยคำที่นายกษิตให้สัมภาษณ์โจมตีสมเด็จฯฮุน เซ็น มาประกอบการอภิปรายด้วย นอกจากนี้ นายสุนัยยังกล่าวโจมตีนางพรทิวา นายโสภณ และนายวิฑูรย์ พร้อมกับเรียกร้องให้นายกฯปลดออกจากตำแหน่ง

พรทิวาอ้างผิดหวัง-มีฝีมือบริหาร

ระหว่างนั้น นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นประท้วงว่า ขอให้นายสุนัยถอนคำว่า รัฐบาลมีความไม่ชอบธรรมในการบริหารประเทศ โดยนายประสพสุข บุญเดช รองประธานรัฐสภา ประธานการประชุม ได้ขอให้นายสุนัยถอนคำพูด เพราะวันนี้เป็นวันตรุษจีน ซึ่งนายสุนัยยอมถอน แต่ก็ยังอภิปรายต่อว่า ยอมถอนคำพูด เพราะรัฐบาลชุดนี้ก็มาจากม็อบมีเส้น อีกทั้งท่านก็เป็นขาใหญ่และทางที่ดีนายกฯควรลาออกหลังเสร็จสิ้นการประชุมผู้นำอาเซียนเพื่อให้มีการเลือกนายกฯ ใหม่เพื่อความสง่างาม ซึ่งผมเชื่อว่า ถึงเวลานั้นก็จะมีคนสนับสนุนท่านให้เป็นนายกฯอีกโดยเฉพาะ กลุ่มเน..

นางพรทิวาลุกขึ้นชี้แจงว่า รู้สึกผิดหวังกับการอภิปราย แทนที่จะเป็นประโยชน์ต่อสภาและประเทศชาติ กลับมาพูดเรื่องคุณสมบัติ

ดิฉันเคยผ่านงานด้านบริหาร การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นงานค้าขายมาก่อน ดังนั้นการทำงานในกระทรวงพาณิชย์ไม่น่าจะหนักหนาสาหัสและก็ไม่ได้ทำงานคนเดียว เพราะมีทีมงาน นางพรทิวากล่าว

มาร์ครับผิดชอบประเมินงานรมต.

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ได้ใช้สิทธิถูกพาดพิงอภิปรายว่า ที่บอกว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ชอบธรรม เป็นความเห็นของแต่ละคน ซึ่งยืนยันว่า รัฐบาลมาถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ตามหลักประชาธิปไตย ส่วนที่บอกว่า ตอบแทนกลุ่มพันธมิตรด้วยการตั้งนายกษิตนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะเป็นคนชวนนายกษิตมาสู่เส้นทางการเมืองด้วยตัวเอง แต่การเลือกตั้งที่ผ่านมานายกษิตก็ไม่ได้ลง ส.ส. สาเหตุที่เลือกเพราะดูจากประสบการณ์การทำงาน

การเลือกนายกษิตขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีอาจจะไม่ถูกใจทุกคน แต่หนึ่งเดือนที่ผ่านมานายกษิตก็ทำงานเรียบร้อยดี เห็นได้จากการเดินหน้าประชุมผู้นำอาเซียนให้เร็วขึ้นและทุกประเทศก็ตอบรับเข้าร่วม สำหรับการรับผิดชอบรัฐมนตรีเป็นหน้าที่ที่ผมต้องรับผิดชอบในการประเมินผลการทำงาน โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมในการประชุมอาเซียน และทุกสัปดาห์รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องก็ประชุมกันอยู่แล้ว นายอภิสิทธิ์กล่าว

รุมกษิตท้าทวงคืนพระวิหาร

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พท. อภิปรายถึงการแต่งตั้งนายกษิตว่าจะส่งผลกระทบต่อความไว้เนื้อเชื่อใจของประเทศเพื่อนบ้านในการเจรจาประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน เพราะนายกษิตมีส่วนร่วมกับการปิดยึดสนามบินจนส่งผลทำให้ต้องเลื่อนการประชุม จึงไม่เข้าใจว่าทำไมนายอภิสิทธิ์จึงเลือกนายกษิต ทั้งที่มีบุคคลภายในพรรคประชาธิปัตย์อีกหลายคนที่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ นายกษิต เคยกล่าวปราศรัยเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2551 ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า นายกฯ คนใหม่ที่จะเข้ามาทำหน้าที่จะเป็นผู้ที่ยอมรับข้อเสนอเงื่อนไขของพันธมิตรทุกข้อ และนายกษิตยังบอกอีกว่า

เด็กทาสต้องมาสยบเด็กเส้น เด็กเส้นใหญ่กว่าเด็กทาส พฤติกรรมของนายกษิตถือเป็นปฏิปักษ์ต่อประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะกัมพูชา ดังนั้นจึงอยากถามว่าจะดำเนินการอย่างไรกับประเด็นเขาพระวิหารที่ระบุว่า เป็นของกัมพูชาเฉพาะตัวปราสาท จะเก็บค่าเช่าหรือทวงคืนหรือ ยื่นอุทธรณ์ต่อ

ศาลโลก นายจตุพรกล่าว

นายกฯ ทำได้แค่เจรจาเขตแดน

นายอภิสิทธิ์ได้ลุกขึ้นชี้แจงว่า ไม่เคยพูดว่าตัวปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา แต่พื้นที่ข้างใต้ปราสาทเป็นของไทย แต่เคยกล่าวว่า ศาลโลกได้ตัดสินให้ตัวปราสาทเป็นของกัมพูชา แต่ไม่รวมถึงพื้นที่รอบตัวปราสาท ส่วนเรื่องอุทธรณ์ศาลโลกนั้น เคยอภิปรายชัดเจนว่าจะทำได้ต่อเมื่อมีข้อมูลใหม่ อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ร่วมที่ผ่านมามีผลให้ต้องยกเลิก และทางกัมพูชาก็ยอมรับแล้ว ดังนั้นจะเดินตามกระบวนการในการเจรจาจัดทำหลักเขตแดน

พท.อ้างรธน.จี้ตั้งกมธ.เยียวยา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอภิปรายในช่วงบ่าย ส.ส.พท.ส่วนใหญ่ยังคงลุกขึ้นอภิปรายโจมตีนายกษิตอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้อภิปรายถึงเนื้อหาสาระกรอบข้อตกลงอาเซียนที่เป็นวาระมากนัก ทั้งที่ในห้วงเวลาดังกล่าว ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ว.ส่วนใหญ่ อภิปรายกรอบความร่วมมืออาเซียน กลุ่มภารกิจที่ 1 กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ ในส่วนเรื่องด่วนที่ 2-7 รวม 6 ฉบับแล้ว โดยนายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน พท.กล่าวว่า เมื่อรัฐสภาลงมติเห็นชอบกรอบความร่วมมืออาเซียนแล้ว ต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาด้วย เพื่อให้มีการพิจารณาแนวทางการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำสัญญากรอบความตกลงอาเซียนเนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดเรื่องการเยียวยาไว้ มิเช่นนั้นจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 154(1)

ขวางขรก.แจงต้องกษิตเท่านั้น

ขณะที่นายสุรจิต ชิรเวทย์ ส.ว.สมุทรสงคราม กล่าวติงรัฐบาลว่า กรอบความร่วมมืออาเซียนที่รัฐบาลเสนอมา มีเอกสารจำนวนทั้งที่หลายเรื่องก็ไม่เข้าข่ายมาตรา 190 ส่วนที่เข้าข่ายดูแล้วมี 5 เรื่อง จึงขอให้รัฐบาลชี้แจงด้วยที่เสนอมาหมดทั้ง 20 เรื่อง ทำให้ประธานการประชุมเชิญตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายกฤต ไกรจิตติ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายระหว่างประเทศ ร่วมประชุมรัฐสภาเพื่อชี้แจง แต่ ส.ส.พท. ลุกขึ้นประท้วงว่า ต้องให้รัฐมนตรีวาการกระทรวงการต่างประเทศมาตอบข้อซักถาม นายวีระชัย วีระเมธีกุล ชี้แจงว่า ในวันที่ 27 มกราคม นายกษิตจะมาชี้แจง ส่วนเรื่องกรอบการเจรจายกร่างขอบเขตอำนาจหน้าที่ขององค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน จะรับไปพิจารณา

เรียกร้องแจงตั้งเขยประสงค์

จากนั้น นายจุมพฏ บุญใหญ่ ส.ส.สกลนคร พท. ลุกอภิปรายว่า ขณะนี้ได้รวบรวมชื่อ ส.ส.1 ใน 5 พร้อมร่างคำฟ้องนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาในกรณีที่นายชัยไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองแต่เรียกประชุมรัฐสภาในวันแถลงนโยบายของรัฐบาลแล้ว นายชัยเตรียมรับคำฟ้องในวันที่ 30 มกราคมนี้ได้เลย นอกจากนี้ อยากจะคัดค้านในการประชุมอาเซียนในกรอบเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะก่อนหน้านี้รัฐมนตรีการต่างประเทศ ละเมิดสิทธิมนุษยชนในการปิดสนามบินสุวรรณภูมิในเรื่องการเดินทางของประชาชน ซึ่งเข้าข่ายการก่อการร้ายสากลหรือไม่

นายจุมพฏยังกล่าวเรียกร้องให้นายกษิตชี้แจงการแต่งตั้งให้นายพฤทธิพงศ์ กุลทนันทน์ ลูกเขย น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ซึ่งเป็นแกนนำพันธมิตรไปอยู่ในตำแหน่งอธิบดีสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ที่จะต้องไปเจรจากับอาเซียน อยากถามว่า บุคคลดังกล่าวมีความเหมาะสมอย่างไรเป็นการตอบแทนกลุ่มพันธมิตรหรือไม่

ชัยประชดล่มอีกให้ยุบสภา

ก่อนหน้าการประชุมรัฐสภา นายชัย ชิดชอบ กล่าวถึงเหตุการณ์สภาล่มเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า คงจะไปกำชับใครไม่ได้เพราะ ส.ส.ทุกคนต่างก็เป็นผู้มีเกียรติ และคงไม่ฝากอะไรกับลูกหลานแต่อยากให้ร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง และอยากให้อยู่ให้ห้องประชุมตลอดเวลา ในการพิจารณากฎหมายและวาระสำคัญ

ถ้าสภาล่มอีก 2-3 ครั้ง ภาพของสภาก็จะเสียหาย เชื่อว่ารัฐบาลคงไม่เอาไว้ เพราะมีอำนาจในการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ไม่จำเป็นต้องมีใครมาเรียกร้อง เป็นเรื่องที่เป็นไปตามธรรมชาติ นายชัยกล่าว และว่า ขอเรียกร้องฝ่ายค้านว่าถ้าไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรก็อย่านับองค์ประชุม ให้โอกาสรัฐบาลได้ทำงานบ้าง แต่ต่อไปรัฐบาลต้องระวังทุกฝีก้าว

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้อเสนอของนายชัย อาจจะเป็นวิธีการกระตุ้นให้พวก ส.ส.ทำงานสภา ซึ่งขณะนี้ทางคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลก็ดูแลอย่างเต็มที่ สาเหตุที่องค์ประชุมไม่ครบในช่วงเช้านั้นก็เป็นเรื่องปกติ ซึ่งเมื่อก่อนนี้ก็มีการเลยเวลาไปประมาณ 10-20 นาทีเป็นประจำ และบางครั้งก็นานกว่านี้ แต่ขณะนี้ทุกฝ่ายดูแลอย่างเต็มที่และกำชับให้ ส.ส.มาตรงเวลา แต่ก็ต้องดูสถานการณ์ต่างๆ ด้วย

ปัดหนีประชุม-พร้อมเผชิญทุกอย่าง

ทางด้าน นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถึงกรณีที่ฝ่ายค้านอภิปรายในเวทีรัฐสภา ระบุนายกษิตไม่เหมาะจะเป็นผู้ส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา นายกษิตกล่าวว่า ฝ่ายค้านไม่ใช่สมเด็จฯฮุน เซน ก็อย่าทำตัวเป็นสมเด็จฯฮุน เซน เพราะสมเด็จฯฮุน เซน ให้ความกรุณาในการปรึกษาหารือ ด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นไปด้วยความสร้างสรรค์ ฝ่ายค้านอย่าพูดอะไรหรือยกเมฆขึ้นมาดีกว่า ตนไม่ขอรับฟัง

นายกษิตกล่าวด้วยว่า จะไปชี้แจงรัฐสภาด้วยตัวเองในวันที่ 27 มกราคม แต่ที่ต้องเดินทางมากัมพูชาเพราะเมื่อรัฐบาลกัมพูชาตอบรับมาแล้วเราก็ต้องเคารพและให้เกียรติ คิดว่าผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อประเทศต้องเห็นความสำคัญในเรื่องนี้

ผมไม่ได้หนีสภา มาปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ พร้อมจะเผชิญกับทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นในสภาวันพรุ่งนี้ ไม่หนี ไม่กลัว และไม่ห่วงด้วย นายกษิตกล่าว

ทนายอิสระยื่นพท.เร่งคดี กษิต

นายเรืองเดช เหลืองบริบูรณ์ ซึ่งอ้างว่าเป็นสมาชิกชมรมทนายความอิสระพร้อมคณะ เข้ายื่นหนังสือต่อนายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เมื่อเวลา 13.00 น. ที่รัฐสภา เพื่อขอให้เร่งประชุมพิจารณากรณีนายกษิตร่วมกับแกนนำกลุ่มพันธมิตรบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง หลังจากได้เดินทางไปแจ้งความร้องทุกข์ที่ สน.ราชาเทวะ จ.สมุรปราการ และ สน.ดอนเมือง มาแล้วในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดการเดินอากาศ พ.ศ.2521 และ พ.ร.บ.การเดินอากาศฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2538 ซึ่งมีโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต

นายสุรชัย เบ้าจรรยา ส.ส.สัดส่วน พท. และคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค กล่าวเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์เร่งดำเนินการกับกลุ่มผู้ยึดสนามบิน โดยเฉพาะกับนายกษิต เพราะหากสุดท้ายมีคำตัดสินให้นายกษิตทำผิดจริงก็อาจจะส่งผลกระทบต่อข้อตกลงต่างๆ ที่ทำไว้กับต่างประเทศ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook