ศิลป์แห่งแผ่นดิน - วรรณกรรม สองฟากฝั่งของแม่น้ำ

ศิลป์แห่งแผ่นดิน - วรรณกรรม สองฟากฝั่งของแม่น้ำ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ระหว่างการเดินทางในประเทศลาว ได้อ่านหนังสือ สองฟากฝั่งของแม่น้ำ หนังสือรวมเรื่องสั้นของนักเขียนร่วมสมัย ไทย-ลาว ที่จัดพิมพ์โดยสโมสรนักเขียนภาคอีสาน โดยการสนับสนุน และประสานงานขององค์กร หน่วยงานต่างๆ หลายภาคส่วน บรรณาธิการเล่มคือ อาจารย์ธัญญา สังขพันธานนท์ ซึ่งเป็นที่รู้จักของนักอ่านในนาม ไพฑูรย์ ธัญญา นักเขียนซีไรต์ จากเรื่องสั้น ก่อกองทราย

หนังสือ สองฟากฝั่งของแม่น้ำ ประกอบด้วยเรื่องสั้นจำนวน 15 เรื่อง เป็นของนักเขียนลาว 10 เรื่อง และนักเขียนไทยที่เป็นคนอีสาน 5 เรื่อง นักเขียนลาว ได้แก่ ดอกเกด, บุนเสิน แสงมณี, พวงเพชร บัวพระจันทร์, ธิดาจันทร์, ทองใบ โพทิสาน, สุขี นรศิลป์, ฮุ่งอะลุน แดนวิไล, ปิติ ทิวาชน และปากกาแดง นักเขียนฟากฝั่งไทย ได้แก่ ปราโมช ปราโมทย์ (ซึ่งเป็นผู้แปลเรื่องสั้นลาวเป็นภาษาไทย ในนาม จินตรัย) สมชัย คำเพราะ, ฮอยล้อ, เยี่ยม ทองน้อย และ สังคม เภสัชมาลา

ที่น่าสนใจคือ เรื่องสั้นของนักเขียนลาวที่คัดสรรมานั้น ได้ตีพิมพ์เป็นภาษาลาว ไว้ในส่วน ฟากฝั่งลาว ด้วย (รวมทั้งแปลต้นฉบับจากไทยเป็นลาว โดยสมาคมนักเขียนลาวด้วย)

ภาษาลาวนั้นคนไทยอ่านได้ โดยเรียนอักษร, สระเฉพาะ ที่แตกต่างกันอีกเพียงเล็กน้อย ผมได้ซื้อแบบเรียน อ่าน เขียน ภาษาลาวมาหลายเล่ม หลายสำนวนให้ลูกชายหัดอ่านอย่างสนุกสนาน เขาท่อง ก.ไก่-ฮ.เฮือน โดยมีอักษรที่เขียนต่าง เช่น ข ไข่ ง งัว ซ ซ้าง น นก ห ห่าน และ ฮ เฮือน เป็นต้น

อ่านเรื่องสั้นของนักเขียนลาวด้วยความรื่นรมย์ ได้จิตวิญญาณลาวผ่านงานวรรณกรรม ได้ความรู้ด้านวัฒนธรรม ประเพณี ตลอดจนสภาพภูมิประเทศ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ การเมือง การเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ให้ลึกซึ้ง ย่อมต้องอาศัยช่องทางวรรณกรรม ซึ่งเราเองแทนที่จะเรียนรู้วรรณกรรมของเพื่อนบ้านเป็นอันดับแรก แต่เรากลับสนใจฝรั่งมังค่ามากกว่า เรา(แทบ)ไม่รู้จักงานเขียนและนักเขียนร่วมสมัยของพม่า กัมพูชา มาเลเซีย เวียดนามเอาเลย

ผมเองก็เป็นเช่นคนไทยทั่วไป ที่เพิ่งจะมาสนใจมองเพื่อนบ้านของเรามากขึ้นในระยะหลัง รู้สึกยินดี ที่เห็นงานแปลวรรณกรรมของเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจากองค์กร หน่วยงานภาครัฐ หรือเอกชน ที่สำคัญคือ การอ่านงานวรรณกรรมต้นฉบับภาษาเดิม ซึ่งวรรณกรรมลาวน่าจะสนิทชิดเชื้อกับไทยมากที่สุด

ผมซื้อหนังสือจากลาวมาหลายเล่ม ได้พบปะพูดคุยกับนักเขียนลาว 4-5 ท่าน แม้จะแค่ทักทายปราศรัย แลกเปลี่ยนการกลอน การเพลง ในชั่วเวลาสั้นๆ ในกิจกรรมที่จัดโดยผู้หลักผู้ใหญ่ที่เห็นการณ์ไกล แห่งสัมพันธ์ไทย-ลาว ด้านวัฒนธรรมภาษา ซึ่งก็ทำให้เห็นหนทางที่จะเปิดหูเปิดตาเปิดใจ ให้วรรณกรรมของผองเราข้ามพ้นพรมแดนทางภูมิศาสตร์ไปเชื่อมความสัมพันธ์ระดับลึกซึ้ง

ระหว่างการเดินทางผมได้รู้จัก หมากค้อ ซึ่งเป็นลูกไม้ตระกูลปาล์ม พี่สาวชาวลาวแนะนำให้ลองกิน รสชาติหวานมัน เนื้อนุ่มสีเหลืองนวล กลิ่นละม้ายกับละมด อีกอย่างคือ มอนไข่ ซึ่งผมพบต้นของมันอยู่หน้าอุโบสถวัดไสยาราม ที่เมืองงอย เมื่อได้มาอ่านพบในเรื่องสั้น ก็ทำให้เราเห็นความผูกพันระหว่างคนกับต้นไม้ในมิติทางวรรณกรรมซึ่งนักวิทยาศาสตร์ นักพฤกษศาสตร์ทำไม่ได้

ยิ่งไม่ต้องกล่าวถึงความสัมพันธ์เชิงธุรกิจ เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ซึ่งนับเป็นด้านตรงกันข้ามเลยทีเดียว ข้อเขียนสัปดาห์นี้ไม่ได้พาท่านผู้อ่านไปเที่ยวชมศิลปะ หรือสถาปัตยสถานที่ไหน แต่มีภาพทัศนียภาพอันงดงามของเมืองงอยมาให้ชมครับ ลำน้ำ อู สะอาดใส ไหลรินหล่อเลี้ยงแผ่นดินอุดมสมบูรณ์ พี่สาวชาวลาวเล่าว่า ในฤดูกุ้งแม่น้ำวางไข่ มันจะพากันไต่หน้าผาขึ้นไปวางไข่ตามซอกหิน ครั้นถึงฤดูฝน น้ำขึ้นสูงก็พัดพาไข่กุ้งจำนวนสุดคณานับไปแพร่พันธุ์ต่อไป

นี่คือภาพของความ(ยัง)อุดมสมบูรณ์ของสายน้ำในประเทศลาว ผมเองแค่ฟังจากปากคำไม่มีโอกาสได้ไปเห็นภาพจริง ได้แต่ภาวนาว่าประชาชนชาวลาวคงดูแลรักษาสายน้ำของพวกเขาได้เป็นอย่างดี ในแม่น้ำหลายสายของลาวยังมีสาหร่ายน้ำจืดที่สามารถนำมาทำเป็นแผ่นได้อย่างสาหร่ายทะเลของญี่ปุ่น ไคแผ่น เป็นอาหารแบบ กินเล่น ได้อย่างวิเศษ

ฉบับหน้าพบกันใหม่ครับ

ศักดิ์สิริ มีสมสืบ

รายการคมชัดลึกตอน-ภาษีที่ดินและมรดกเก็บได้จริงหรือ?

ทันทีที่รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศเดินหน้าผลักดันกฎหมายการจัดเก็บภาษีที่ดินและมรดก ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างหนักว่า พรรคประชาธิปัตย์จะทนแรงเสียดทานได้หรือไม่ ภาษีที่ดินและมรดกจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook