ฟาฟโร เขียน ประธานาธิบดี กล่าว

ฟาฟโร เขียน ประธานาธิบดี กล่าว

ฟาฟโร เขียน ประธานาธิบดี กล่าว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จอน ฟาฟโร วัย 27 ปี หัวหน้าทีมเขียนสุนทรพจน์โอบามา ขึ้นอันดับหัวหน้าทีมเขียนสุนทรพจน์ประธานาธิบดี ที่อายุน้อยสุดในประวัติศาสตร์ทำเนียบขาว

เมื่อ บารัค โอบามา ก้าวขึ้นแท่นกล่าวสุนทรพจน์ในการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 44 ของสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางสักขีพยานนับล้านคน มีชายหนุ่มคนหนึ่งยืนสังเกตการณ์อยู่เงียบๆ อย่างตั้งใจท่ามกลางฝูงชนเหล่านั้น เขาตัดผมสั้นเกรียนหน้าตาอ่อนเยาว์ แม้จะเริ่มมีไรหนวดเขียวครึ้ม อาจจะมองดูไม่เข้าพวกกับผู้ที่ดูทรงอำนาจในแคปปิตอล แต่ในฐานะผู้ร่วมเขียนสุนทรพจน์ให้โอบามา ชายหนุ่มผู้นี้นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของนาทีประวัติศาสตร์นี้มากที่สุดคนหนึ่ง

เขาคือ จอน ฟาฟโร วัย 27 ปี หรือ ฟาฟส์ ของเพื่อนๆ เป็น หัวหน้าทีมเขียนสุนทรพจน์ให้โอบามา และนับเป็นหัวหน้าทีมเขียนสุนทรพจน์ให้ประธานาธิบดีที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของทำเนียบขาว

บารัค ซึ่งขณะนั้นเป็นวุฒิสมาชิกจากอิลลินอยส์ พบ ฟาฟส์ โดยบังเอิญเมื่อ 4 ปีก่อนในการประชุมของพรรคเดโมแครต โดย ฟาฟส์ เพิ่งเรียนจบจากวิทยาลัยโฮลี ครอส อายุได้ 23 ปี ทำงานเป็นผู้เขียนสุนทรพจน์ให้กับ จอห์น เคอร์รี่ ผู้แทนพรรคเดโมแครตที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีเมื่อปี 2547

ฟาฟส์ เตือน โอบามา ให้ลบสุนทรพจน์ทิ้งไปประโยคหนึ่ง เพราะมันไปซ้ำกับคำพูดของ เคอร์รี่ ข้อแนะนำนี้ทำให้โอบามารู้สึกทึ่งในความสามารถของหนุ่มน้อยคนนี้

เขากล่าวว่า ก่อนทราบผลการเลือกตั้ง เขาร่างสุนทรพจน์ไว้ 2 แบบ ในกรณีที่ชนะการเลือกตั้งแบบหนึ่ง และอีกอันหนึ่งเผื่อไว้หากแพ้ และเมื่อทราบผลการเลือกตั้งเขาส่งอีเมล หาเพื่อนสนิทบอกว่า "เพื่อน พระเจ้าช่วย เราชนะว่ะ"

ในครั้งนี้ โอบามา อาจจะมิได้ตั้งเป้าไว้ว่า จะต้องทำได้ถึงขนาดที่อดีตประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น เคยสร้างแรงบันดาลใจให้อเมริกาได้มาแล้ว เพราะเขาเองก็ยอมรับว่าเมื่ออ่านสุนทรพจน์ในอดีตเหล่านั้นแล้ว ทำให้รู้สึกขนลุกเลยทีเดียว และเนื่องจากการที่ โอบามา เข้ามาทำงานท่ามกลางปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจครั้งรุนแรงและสงครามถึงสองครั้ง เขาจึงรู้ดีว่าต้องเริ่มต้นด้วยคำพูดที่สามารถปลุกเร้าจิตวิญญาณของชาวอเมริกันชนให้ดีที่สุด

เขาต้องทำให้สังคมตอบสนองต่อการทำงานในช่วง 100 วันแรกของเขาให้ดี และให้เกิดการยอมรับได้มากที่สุด ไมต่างจากตอนที่อดีตประธานาธิบดี แฟรงกิน ดี รูสเวลต์ เคยกล่าววาจาอมตะไว้ว่า "สิ่งเดียวที่เราต้องกลัว ก็คือความกลัวนั่นเอง" และเขาได้ตัดสินใจที่จะมอบหน้าที่อันสำคัญยิ่งนี้ให้กับฟาฟส์ซึ่งก็ทุ่มเท เวลาสองเดือนที่ผ่านมาให้กับการเตรียมคำพูดให้ บารัค โอบามา อย่างเต็มที่

บางวัน ฟาฟส์ ต้องทำงานต่อเนื่องยาวถึง 16 ชั่วโมง นั่งอยู่ในร้านสตาร์บัคส์ที่ เพนน์ ควอเตอร์ ไปจบที่ดูปองท์ เซอร์เคิล อพาร์ตเมนต์แห่งใหม่ของตัวเองที่ยังไม่ได้ตกแต่งใดๆ เลย อยู่ในย่านอัพมาร์เก็ตของวอชิงตัน บ่อยครั้งที่เมื่อเช้าวันใหม่มาถึง เขาพบว่าตัวเองนั่งเขียนงานอยู่จนตีสองตีสาม ตื่นอยู่ได้ด้วยกาแฟดับเบิ้ล เอ็กซ์เพรสโซ และ เครื่องดื่ม กระทิงแดง เวลาพักก็เล่นเกมวีดิโอชื่อเกมร็อคแบนด์

จะว่าไปแล้วการทำงานของเขาเป็นแบบนี้มาตั้งแต่เป็นหัวหน้าทีมเขียนสุนทรพจน์ร่างแถลงการณ์ไอโอวา หลังจาก โอบามา ทราบว่าเขาชนะการหยั่งเสียงที่ไอโอวา ซึ่งนับเป็นก้าวแรกสู่ทำเนียบขาวของโอบามา

ในการทำงานเขาต้องเก็บข้อมูลต่อเนื่องนานนับสัปดาห์ ให้ทีมงานสัมภาษณ์นักประวัติศาสตร์ และนักเขียนสุนทรพจน์หลายคนศึกษาเหตุการณ์ช่วงที่สหรัฐเผชิญวิกฤติและฟัง สุนทรพจน์เก่าๆ จนพร้อมแล้ว เขาก็จะไปนั่งทำงานอยู่ในร้านกาแฟสตาร์บัคส์ ในวอชิงตันและลงมือเขียนร่างแรกของสุนทรพจน์ ซึ่งถูกคาดหวังไว้สูงสำหรับการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี

การทำงานกับ โอบามา ฟาฟส์ ศึกษารูปแบบการพูดของโอบามา จังหวะจะโคน และน้ำหนักคำพูดต่างๆ เขาจำคำพูดที่โอบามากล่าวเมื่อตอนพบกันเมื่อปี 2550 ได้หมด

ว่ากันว่า ไม่ว่าจะไปไหนมาไหน เขาก็จะพกหนังสืออัตชีวประวัติของโอบามาที่ชื่อ ความฝันจากพ่อ ติดตัวไว้ตลอดเวลา ผลคือเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาตอนที่เขาเขียนร่างสุนทรพจน์สำหรับสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของโอบามาร่างแรกเสร็จ และเขาก็ยังสามารถเลียนเสียงของโอบามาได้ราวกับเป็นนักปลอมเสียงมืออาชีพทีเดียว

ส่วนหนึ่งที่เขาทำได้ขนาดนี้ อาจเป็นเพราะคิดเหมือนโอบามา ที่ชอบมองย้อนกลับไปข้างหลังเพื่อกระตุ้นแนวคิดแบบอุดมคติสมัยเคนเนดี้ และ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ให้กลับมา เขาย้ำเสมอว่า โอบามา เป็นนักพูดที่มีพรสวรรค์และเขียนสุนทรพจน์ให้ตัวเองได้ดีที่สุดแล้ว และหน้าที่ของเขาก็เพียงแค่ช่วยโอบามาหาจุดที่จะพูดได้ดีที่สุดเท่านั้น ส่วนโอบามาเองได้ยกตำแหน่ง "ผู้อ่านความคิดของประธานาธิบดี" ให้ ฟาฟโร ไป

ขณะที่ เดวิด อเซลร็อด ที่ปรึกษาอาวุโสของ โอบามา ออกปากว่า "บารัก เชื่อมั่นในตัวเขา" และ "บารัก ไม่ค่อยวางใจให้ใครเขียนสุนทรพจน์ให้ง่ายๆ เท่าใดนัก"

ในคืนที่ทราบผลการเลือกตั้งรอบไพรมารีที่ นิว แฮมเชอร์ เมื่อเดือนมกราคม หนุ่มน้อยวัย 26 ปี ยืนเงียบๆ อยู่ด้านหลังของฝูงชนในโรงยิมของโรงเรียนมัธยม Nashua เพื่อติดตามการกล่าวสุนทรพจน์ยอมรับความพ่ายแพ้ต่อ ฮิลลารี คลินตัน ซึ่งแม้ว่าจะเป็นการยอมรับความปราชัย จอน ฟาฟโร ก็ยังอดยิ้มไม่ได้ เพราะ โอบามา เพิ่งชนะที่ไอโอวาเมื่อ 5 วันก่อน แล้วไม่ทันไรฮิลลารีก็ตีตื้นแย่งชัยชนะไปได้ การต่อสู้ครั้งนี้จึงเป็นศึกใหญ่ที่ยืดเยื้อและดุเดือด แต่ทั้งสองฝ่ายก็ยังยิ้มอยู่ด้วยความคิดว่า เดี๋ยวก็จะต้องมีแถลงการณ์แห่งชัยชนะที่เหนือกว่าและดีกว่าออกมาอีก

ทั้งนี้เพราะเขาอาจคิดว่าสุนทรพจน์แสดงชัยชนะอาจไม่น่าสนใจเท่ากับอันที่จะ เอาไว้กล่าวเพื่อยอมรับความพ่ายแพ้ เพราะคนไม่ค่อยสนใจคนแพ้ ทั้ง ฟาฟโร และเพื่อนร่วมทีมของเขาอีก 2 คน คือ อดัม เฟรนเกล และ เบน โรดส์ ไม่คิดว่าพวกเขาจะต้องยอมรับอะไร

แต่สิ่งต่างๆ ดูเหมือนจะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว หลังจากได้ปรึกษากับ โอบามา ราวครึ่งชั่วโมง โอบามาพูดและฟาฟโรพิมพ์สรุปย่อไว้ พวกเขาตัดสินใจที่จะกลับไปใช้คำพูดที่เปี่ยมด้วยความหวังว่า "ใช่ เราทำได้" ซึ่งเป็นสโลแกนของโอบามาในการชิงตำแหน่งวุฒิสมาชิกที่อิลลินอยส์เมื่อปี 2547 และในนาทีนั้นเองที่แนวทางการรณรงค์หาเสียงเปลี่ยนเป็นการเคลื่อนไหวที่สอด รับคำกล่าวที่เรียบง่ายนี้ตลอดเวลา และทำให้สถานการณ์ของ โอบามา เริ่มพลิกผันไปอีกครั้งหนึ่ง

เขาบอกว่า นักเขียนสุนทรพจน์คนโปรดของเขา คือ เปกกี นูนัน โดยเฉพาะที่เธอเขียนให้ โรนัลด์ เรแกน พูดที่ พอยต์ ดู ฮอค สำหรับวันดี-เดย์ นอกจากนี้เขาก็ยังชอบ ไมเคิล เกอร์สัน ผู้เขียนสุนทรพจน์ให้ บุช เป็นเวลาถึง 5 ปี โดยเฉพาะที่กล่าวหลังจากวันวิปโยค 11 กันยายน ซึ่งคำกล่าวของ บุช เมื่อวันที่ 20 กันยายน ปีนั้น ถือว่าเป็นสุนทรพจน์ที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของอเมริกา

แม้ว่า เกอร์สัน จะเขียนได้ดี แต่ก็เป็นคำพูดที่เขารังสรรค์เพื่อให้ บุช พูด ซึ่งยังแยกส่วนกันอยู่ระหว่างผู้พูดกับสิ่งที่เขาพูด ขณะที่ ฟาฟโร มีจุดเด่น คือ เขาเขียนถ้อยแถลงที่แสดงออกถึงความเป็น บารัก โอบามา ได้อย่างกลมกลืนราวกับคำพูดของเจ้าตัวเอง

นับจากนี้ไป ฟาฟโร คงจะต้องเปลี่ยนชุดโปรดที่ใส่ประจำ คือ กางเกงยีนส์กับเสื้อสเว็ตเตอร์มาเป็นเสื้อสูท และไปทำงานที่ เวสต์ วิง ในฐานะหัวหน้าทีมเขียนสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีร่วมกับเจ้าหน้าที่อาวุโส อีกกว่า 10 คน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องท้าทายสำหรับเขาไม่น้อยเช่นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook