สื่อเทศแห่ประโคมข่าวโรฮิงญา อภิสิทธิ์ ชี้ยูเอ็นต้องแก้ต้นทาง

สื่อเทศแห่ประโคมข่าวโรฮิงญา อภิสิทธิ์ ชี้ยูเอ็นต้องแก้ต้นทาง

สื่อเทศแห่ประโคมข่าวโรฮิงญา อภิสิทธิ์ ชี้ยูเอ็นต้องแก้ต้นทาง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สื่อทั่วโลกพากันประโคมข่าวชะตากรรมผู้อพยพโรฮิงญาที่กำลังเป็นเรื่องอื้อฉาวของกองทัพไทยขณะนี้ นายกฯ อภิสิทธิ์ เตรียมหารือก.บัวแก้วแก้ปัญหาด่วน สมาคมโรฮิงญาวอน อภิสิทธิ์ ชงเข้าเวทีอาเซียนเจรจาพม่า

(27ม.ค.) สำนักข่าวในหลายประเทศทั่วโลกรายงานอ้างอิง ข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ส ที่ระบุว่า ตอนนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับแรงกดดัน ให้พิสูจน์ข้อกล่าวหาที่ว่า กองทัพได้ลากเรือที่ไม่มีเครื่องยนต์ของผู้อพยพชาวโรฮิงญาออกไปทิ้งกลางทะเล หลังซีเอ็นเอ็นรายงานพิเศษแสดงหลักฐานภาพเกี่ยวกับเรื่องนี้

ขณะที่พันเอกมนัส คงแป้น ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้ออกมาปฏิเสธเรื่องนี้พร้อมกับตั้งคำถามเกี่ยวกับภาพและการรายงานข่าวที่เกินจริงของ ซีเอ็นเอ็น ซึ่งพันเอกมนัสระบุว่า เหมือนเป็นความพยายามจะทำลายชื่อเสียงของประเทศไทย และเชื่อว่าเป็นแผนของพวกองค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอ ที่พยายามกดดันให้ไทยเปิดศูนย์ผู้อพยพสำหรับพวกโรฮิงญา ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

ด้านโทรทัศน์อัลจาซีราห์ รายงานว่าประเทศไทยกำลังตกเป็นเป้าวิพากษณ์วิจารณ์ จากข้อกล่าวหาละเมิดผู้อพยพชาวโรฮิงญา โดยอ้างเจ้าหน้าที่กองทัพเรือไทยนายหนึ่งที่ไม่ระบุนาม ซึ่งยืนยันว่า ได้มีการผลักดันเรือของโรฮิงญาที่ถูกจับกุมได้บริเวณชายฝั่งตะวันตกของไทยกลับออกสู่ทะเลและปล่อยให้ลอยเคว้งคว้างอยู่กลางทะเลจริง และว่ากองทัพจำเป็นต้องถอดเครื่องยนต์ออกจากเรือเพราะมิฉะนั้นพวกเขาจะกลับมาอีก โดยเชื่อว่ากระแสลมจะพัดพาเรือไปยังอินเดียหรือที่อื่น ๆ

กลุ่มมนุษยธรรมกล่าวหาประเทศไทยว่า ละเมิดผู้อพยพชาวโรฮิงญา หลังจากมีข่าวว่า ผู้อพยพชาวโรฮิงญาถูกทุบตีก่อนถูกลากใส่เรือออกไปทิ้งกลางทะเล มีรายงานจากผู้รอดชีวิต ที่ถูกคลื่นซัดไปขึ้นฝั่งที่หมู่เกาะอันดามันของอินเดีย และพื้นที่ชายฝั่งทางตะวันตกของอินโดนีเซีย คาดว่าจะมีชาวโรฮิงญา 550 คน จากทั้งหมด 992 คน เสียชีวิต หลังถูกลากมาปล่อยทิ้งกลางทะเล

รัฐบาลพม่าปฏิเสธไม่ยอมรับพวกชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญา ซึ่งอาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของประเทศ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน บอกว่า คนพวกนี้ถูกทารุณ และถูกเอาเปรียบ ทำให้พวกเขาต้องหาทางหลบหนีออกนอกประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะข้ามพรมแดนไปยังบังคลาเทศ

อัลจาซีราห์รายงานด้วยว่า ในแต่ละปี มีชาวโรฮิงญาและบังคลาเทศ เดินทางออกนอกประเทศโดยทางเรือเพื่อหวังหางานทำ โดยส่วนใหญ่จะเดินทางผ่านเข้ามาในประเทศไทย ทางเรือก่อนจะขึ้นรถต่อเข้าไปในมาเลเซีย

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นเผยแพร่ข้อมูลเพิ่มเติมกรณีทหารไทยทารุณผู้อพยพชาวโรฮิงญาว่า ขณะนี้ เขากำลังจะพูดคุยกับกระทรวงการต่างประเทศ และคิดว่า ควรดึงเอาผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) เข้ามาในกรอบการประชุม 4 ฝ่ายคือไทย อินเดีย บังคลาเทศ เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นทาง โดยกระทรวงและผู้ปฏิบัติกำลังดำเนินการอยู่ว่า ยูเอ็นเอชซีอาร์ จะพร้อมเมื่อไร เพราะเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งมีข่าวว่า ได้ติดต่อมาทางกระทรวงการต่างประเทศ และน่าจะได้รับหนังสือแล้ว ซึ่งจะเร่งดำเนินการเร็วที่สุด

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เขาจะพูดคุยกับนายกษิต ระหว่างการประชุมรัฐสภาอีกครั้ง ส่วนข้อมูลเพิ่มเติมของซีเอ็นเอ็นนั้น ก็เป็นการไปสอบถามจากคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเราก็ตรวจสอบข้อเท็จจริงกันอยู่ แต่เราก็มีหลักฐานและภาพที่แสดงให้เห็นว่า เราปฏิบัติอย่างไร

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนของพื้นที่และทางพม่า ก็มีการพูดคุยกันอยู่ แต่เราต้องจัดการคนของเราเองที่จะต้องจัดการ ที่เป็นกระบวนการภายใน ในลักษณะที่ไปเอาคนเข้ามาในประเทศ และกระบวนการค้ามนุษย์ ส่วนการปฏิบัตินั้น ต้องเคารพในหลักมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน ซึ่งขณะนี้ กำลังให้เจ้าหน้าที่ดูข้อมูลในบางพื้นที่

ส่วนในระดับประเทศนั้น เมื่อเราดึงต่างประเทศ และยูเอ็นเอชซีอาร์เข้ามาร่วม ก็จะทำให้เห็นว่า สาเหตุมันเกิดจากที่ไหน

ผู้สื่อข่าวถามว่า การเดินทางไปเยือนพม่าของพล.อ. ทรงกิตติ จักราบาศก์ ผบ.สส. จะมีการหารือกันเรื่องนี้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า อะไรที่ช่วยในส่วนของความสัมพันธ์ทวิภาคีนั้น ผบ.สส.ช่วยในการดำเนินการอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ภาพลักษณ์ของกองทัพในปัจจุบัน ในสายตานานาชาติ ไม่ค่อยดีเท่าไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นธรรมดาที่ปัจจุบันมีความตื่นตัวเรื่องสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติงานด้านความมั่นคงหลายครั้ง ก็ไปกระทบกระเทือน แต่ผบ.ทบ.ก็เข้าใจดีว่า สมัยนี้ การทำงานมันเป็นอย่างไร และยืนยันว่า หากมีเจ้าหน้าที่ไปเกี่ยวข้อง ก็จะดูแลว่า คนเหล่านั้น หากไม่ได้ปฏิบัติตามนโยบาย หรือละเมิดกฎหมาย ก็ต้องถูกลงโทษ ซึ่งเราต้องหาแนวปฏิบัติที่ยอมรับกันได้ทุกฝ่าย "เรายืนยันว่า จะไม่สามารถปล่อยให้การหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย มากระทบกับความมั่นคงของประเทศไทยได้ และยินดี หากมีวิธีการที่บอกมาว่า เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา แต่หากจะช่วยแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทางจะดีมาก" นายกฯ ระบุ

"อภิสิทธิ์"ระบุปัญหาโรฮิงยายูเอ็นต้องแก้ที่ต้นทาง

เมื่อเวลา 15.30 น. ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ นายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ได้พูดคุยกับนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ในเรื่องของโรฮิงยาแล้ว ตอนนี้ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมเข้ามา แต่หลักที่เราจะเดินต่อในขณะนี้ คือ อยากให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างยูเอ็นเอชซีอาร์กับทางบังคลาเทศและอินเดียด้วย เพราะปัญหานี้เห็นว่าต้องแก้ที่ต้นทางไม่ใช่มาแก้ที่ปลายทาง

ส่วนการประชุม 4 ฝ่ายนั้น ในขณะนี้คงต้องรอให้ทางยูเอ็นเอชซีอาร์มาพบกับทาง รมว.ต่างประเทศก่อนเพื่อกำหนดกรอบการทำงานร่วมกัน แต่เท่าที่ทราบได้มีการมาพบกับทางปลัดกระทรวงการต่างประเทศแล้ว และเห็นว่าจะมีคณะมาพบกับทาง รมว.ต่างประเทศอีกครั้ง ส่วนจะเป็นเมื่อ่ไหร่ยังไม่ทราบ แต่ รมว.ต่างประเทศบอกว่าจะเป็นเร็วๆ นี้

เมื่อถามว่าได้มีการประสานไปทางบังคลาเทศกับอินเดียแล้วหรือยัง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความจริงได้มีการพบปะกับทูตประจำประเทศไทยไปแล้ว และคงจะต้องเดินหน้าต่อไป สิ่งสำคัญคือ ทางยูเอ็นเอชซีอาร์ เขาควรจะมีบทบาทในการเข้ามาแก้ปัญหาที่ต้นทาง

สมาคมโรฮิงญาวอน"อภิสิทธิ์"ชงเข้าเวทีอาเซียนเจรจาพม่า

เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2552 นายอานายาต อุลเลาะห์ อายุ 55 ปี รักษาการเลขาธิการสมาคมชาวพม่า เชื้อสายโรฮิงยา (Burmese Rohingya Association) BRAT. ในพื้นที่ชายแดนไทย - พม่า จังหวัดตาก กล่าวว่า ได้ส่งหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อให้นำประเด็นปัญหาชาวโรฮิงยาอพยพไปสู่เวทีการประชุมอาเซียน โดยต้องการให้นายกรัฐมนตรีของไทยใช้เวทีอาเซียนคุยกับรัฐบาลพม่า ไม่ใช่รัฐบาลไทยคุยกับรัฐบาลพม่า เพราะปัญหาจะไม่จบ และเชื่อว่ารัฐบาลพม่าไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลงในการเจรจาลำพังเพียง 2 ประเทศ ซึ่งรัฐบาลบังคลาเทศเคยเจรจาปัญหานี้กับรัฐบาลพม่าแล้ว แต่ไม่ได้ผล โดยทางสมาคมฯขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีไทยหากนำประเด็นปัญหานี้เข้าสู่เวทีอาเซียน

นอกจากนี้ มองว่าอาเซียนควรตั้งคณะทำงานลงไปดูรากเหง้าของปัญหาที่ชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ในพม่า ถึงจะได้รู้ข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร และถ้าหากประเทศไทยสามารถแก้ปัญหานี้ได้ ทำให้ไทยไม่ต้องรับผิดชอบ และชาวโรฮิงญาก็ไม่มาอีก และสิ่งที่ต้องแก้ไขคือ ให้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานกับชาวโรฮิงญา ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชน ได้รับการปฏิบัติเฉกเช่นมนุษย์ทั่วไป

สำหรับ ชาวโรฮิงญา เสียชีวิต ไปจำนวนมาก จากการทิ้งถิ่นฐานที่บ้านเกิด และประสบปัญหาเรืออับปาง โดยอพยพไปหลายประเทศ ส่วนเป้าหมายจริงๆไม่ใช่ประเทศไทย แต่เป็นประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งมีชาวโรฮิงญาทิ้งภูมิลำเนาออกไปจากประเทศพม่ากว่า 1 ล้านคนแล้ว

" พวกเขาเป็นพลเรือนชั้นสองในพม่า ๆ ไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาลพม่า ไม่มีสิทธิเสรีภาพใด เช่นจะแต่งงานต้องขออนุญาตจากรัฐบาล บางคนรอไปจนแก่เฒ่า ไม่มีอาชีพ มีความอดยาก จึงต้องทิ้งแผ่นดินเกิดไปตายเอาดาบหน้า " นายอานายาต กล่าว

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook