กุมารแพทย์ เผย สุขภาพที่ดี พื้นฐานสำคัญของพัฒนาการที่สมบูรณ์ของลูกน้อย

กุมารแพทย์ เผย สุขภาพที่ดี พื้นฐานสำคัญของพัฒนาการที่สมบูรณ์ของลูกน้อย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สิ่งที่เป็นสุดยอดปรารถนาของพ่อแม่ทุกคน ย่อมจะต้องเป็นการที่เห็นลูกของตนมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ และเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต แต่กว่าจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพนั้น จะต้องเกิดจากพัฒนาการที่สมบูรณ์ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการที่ลูกน้อยมีสุขภาพที่ดีย่อมเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุด ดังนั้นพ่อแม่จึงควรเอาใจใส่และดูแลลูกน้อยมีสุขภาพที่แข็งแรงอยู่เสมอ และเฝ้าป้องกันโรคต่างๆ ที่จะขัดขวางพัฒนาการที่สมบูรณ์ตามวัยของลูกน้อย โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับสมอง และโรคติดเชื้อร้ายแรงต่างๆ จากการเปิดเผยของ พญ.เสาวภา พรจินดารักษ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ว่า ในช่วง 3 ขวบปีแรกพัฒนาการเด็กนั้นจะสำคัญที่สุด เพราะจากผลการศึกษาพบว่าน้ำหนักสมองของเด็กในช่วงนี้คิดเป็นร้อยละ 80 ของน้ำหนักสมองผู้ใหญ่ และเกิดการเชื่อมต่อของเซลประสาทมากมาย ทำให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาการต่างๆ โดยพัฒนาการสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ด้าน ได้แก่ 1.พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ระบบกล้ามเนื้อที่เป็นแกนหลักของร่างกายที่ช่วยในการนั่ง การยืน การเดิน การวิ่ง ขึ้นลงบันไดเป็นต้น โดยจะค่อยๆ พัฒนาไปตามลำดับ ควรส่งเสริมด้วยการจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเคลื่อนไหวและปลอดภัยให้กับเด็ก 2.พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก ระบบกล้ามเนื้อที่ช่วยในการเคลื่อนไหวสำหรับงานที่มีรายละเอียด เช่น การคลายและกำมือเพื่อหยิบจับของเล่น การขยับนิ้วเพื่อหยิบเม็ดลูกปัด เป็นการทำงานที่สอดคล้องกับกระบวนการคิดของสมอง เพื่อแก้ปัญหาง่ายๆ แล้วจึงค่อยๆ ซับซ้อนขึ้น 3.พัฒนาการด้านภาษา เริ่มตั้งแต่แบเบาะลูกสนใจฟังเสียงที่แตกต่างกัน และเริ่มเปล่งเสียงโต้ตอบ เด็กจะค่อยๆเปล่งเสียงเป็นคำๆ ตามที่ได้ยิน พ่อแม่สามารถกระตุ้นพัฒนาการได้ด้วยการพูดย้ำคำที่มีความหมายหลายๆ ครั้ง และออกเสียงคำตๆ ให้ชัดเจน และถูกต้อง จะช่วยให้ลูกเกิดการเรียนรู้ด้านภาษาได้ดี และรวดเร็วยิ่งขึ้น 4.พัฒนาการด้านอารมณ์ และสังคม ช่วงที่ลูกวิ่งคล่องขึ้นเป็นช่วงที่ลูกรู้จักตัวเองมากขึ้นจึงอยากลองทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตัวเอง ในช่วงนี้พ่อแม่ควรส่งเสริมให้ลูกทำอะไรเองภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก เป็นการสร้างเสริมความมั่นใจให้ลูก หากลูกมีท่าทีต่อต้านบ้างตามวัย พ่อแม่ควรยืดหยุ่นอย่างเหมาะสม ในภาพกว้างๆสามารถแบ่งปัญหาออกเป็น 2 ประเภทคือเด็กที่มีปัญหาด้านพัฒนาการกับเด็กที่มีปัญหาด้านพฤติกรรม โดยเด็กที่มีพัฒนาการช้านั้น มักพบว่าเป็นพัฒนาการด้านภาษา คือพูดช้า ถ้าลูกมีอายุ 15 เดือนแล้วยังไม่พูดคำที่มีความหมาย1-3คำ ชอบเล่นคนเดียว พ่อแม่ควรพามาพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการรักษาที่ถูกต้อง โดยเฉพาะหากลูกมีอาการของโรคออทิสติก ส่วนปัญหาด้านพฤติกรรมนั้นมักเป็นภาวะที่พบได้ปกติในเด็กวัยนี้แต่การเลี้ยงดูไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมที่เด็กเป็นจึงต้องช่วยเหลือเพื่อป้องกันไม่ให้พฤติกรรมที่เป็นปกติตามวัยนั้นเปลี่ยนเป็นพฤติกรรมที่มีปัญหาในอนาคต ปัญหาด้านสุขภาพก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่สำคัญต่อพัฒนาการที่ต่อเนื่องของเด็ก โดยเด็กที่เจ็บป่วยบ่อยๆ หรือเป็นโรคเจ็บป่วยเรื้อรัง จะทำให้โอกาสในการเรียนรู้น้อยลง เพราะต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเข้า-ออกโรงพยาบาล หรือรักษาตัวที่บ้าน รวมทั้งบางโรคก็มีความจำเป็นที่จะต้องงดอาหารบางประเภท ทำให้เด็กได้รับสารอาหารไม่ครบหมู่ นอกจากนี้โรคที่เกี่ยวกับสมอง เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ยังเป็นโรคที่ทำลายเซลล์สมองโดยตรงได้ อาจทำให้เด็กพิการทางสมองหรือปัญญาอ่อน ซึ่งนอกจะทำให้เกิดความผิดปกติด้านพัฒนาการทางสมองแล้ว ยังส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางด้านร่างกายได้อีกด้วย การสร้างสุขภาพที่ดีให้กับเด็กนั้นไม่ใช่เรื่องที่ยาก หากแต่พ่อแม่ผู้ปกครอองมีส่วนร่วมในการช่วยสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้แก่ลูกน้อย โดยเริ่มตั้งแต่แรกเกิดด้วยการให้ลูกได้ดื่มนมแม่เพราะในน้ำนมแม่มีสารอาหารต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับทารกและช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกันในการป้องกันโรคต่างๆ หลังจากนั้นเด็กก็จำเป็นต้องได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบหมู่ สำหรับการรักษาสุขอนามัยก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน เช่น สอนให้ลูกรู้จักล้างมือให้สะอาดก่อนการหยิบจับสิ่งของเข้าปาก ดูแลร่างกายให้สะอาดอยู่เสมอ เป็นต้น "นอกจากนี้การให้ลูกได้รับวัคซีนตามกำหนดก็เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้เด็กสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนอกจากวัคซีนพื้นฐานทั่วไป เช่น วัคซีนป้องกันวัณโรค หัดเยอรมัน คอตีบ ไอกรน หรือบาดทะยัก ปัจจุบันยังมีวัคซีนทางเลือกอื่นๆ เช่น วัคซีนไอพีดีที่ช่วยป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรง หรือเรียกว่า "กลุ่มโรคไอพีดี ซึ่งประกอบด้วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคติดเชื้อในกระแสเลือด รวมทั้งโรคปอดบวมที่เป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของเด็กเล็กทั่วโลก เป็นต้น วัคซีนเหล่านี้จะช่วยเสริมเกราะป้องกันโรคของลูกให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพราะในปัจจุบันเชื้อโรคต่างๆ ได้พัฒนาตัวเองให้มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และยังทนทานต่อยารักษาโรค ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและคุ้มค่ากว่าการเป็นโรคแล้วมารักษาในภายหลัง พญ.เสาวภา กล่าวเพิ่มเติม "ดังนั้นย่อมพูดได้ว่าสุขภาพที่ดีเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ และเมื่อคนในชุมชน และสังคมมีประสิทธิภาพ ก็ย่อมจะส่งผลให้เกิดแรงขับเคลื่อนสังคมให้ดำเนินไปด้วยพื้นฐานที่มั่นคงต่อไป พญ.เสาวภา พรจินดารักษ์ กล่าวทิ้งท้าย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook