สุดอึ้ง! ภาพเกาะตาชัย สุสานที่เงียบเชียบ

สุดอึ้ง! ภาพเกาะตาชัย สุสานที่เงียบเชียบ

สุดอึ้ง! ภาพเกาะตาชัย สุสานที่เงียบเชียบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เฟชบุ๊ค Waran Rbj Suwanno โพสต์ภาพสุดอึ้ง เกาะตาชัยวันนี้ที่เต็มไปด้วยน้ำเสีย พร้อมกับบรรยายภาพว่า

Death from Above : เห็นสวย ใส แบบนี้ ข้างล่าง ไม่เหลืออะไรเลยนะครับ เป็นสุสานที่เงียบเชียบ

น้ำห้องน้ำ น้ำล้างจาน ทำกับข้าว น้ำชำระล้างครัว น้ำมัน สารปนเปื้อน น้ำมันเรือ ... เกาะตาชัย ในขอบเขต ระดับการรับนักท่องเที่ยวสูงสุด ได้วันละ 60 คน

ทุกวันนี้ น่าจะ 800 - 1200 คน ต่อวัน ...

ที่เจ็บคือ ... รายได้จากค่าเข้าอุทยาน ที่ประเทศได้รับ คือ 60 คน ตามที่ แผนแม่บท ได้บอกไว้

ที่เหลือ ... ไปไหนไม่รู้ ปีนึงหลายร้อยล้าน คดีลาดกระบังกระจอกไปเลยล่ะครับ ที่สำคัญ มันโกงกันมาเป็นสิบปีแล้ว

เมื่อก่อนผมคิดว่า ผู้ประกอบการ เป็นโจทก์ใหญ่ แต่พอเรียนรู้ไปมากเข้า

อยู่ที่กรมอุทยานเรานี่เอง

คอรัปชั่นกับธรรมชาติ มันเรียกร้องเอาคืนไม่ได้ หาแดกง่ายที่สุด

ปล. มีเจ้าหน้าที่เดินมาบอกว่า ห้ามถ่ายภาพมุมสูงนะครับ ... ไม่อนุญาติ ... บอกตรงๆตอนนั้น ถ้าไม่ติดว่าทำงาน จะเดินไปตบขมับให้คว่ำ ไอ้ห่า กลัวจะเป็นโรงครัวที่สร้างเพิ่มหารายได้พิเศษรึไง

ขอความบรรลัยจงมีแด่ผู้ที่เกี่ยวข้องในวงจรอุบาทว์นี้ทุกคนนะครับ smile emoticon

ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้โพสต์เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ที่เฟชบุ๊ค Thon Thamrongnawasawat ว่า   

เพื่อทะเลไทยด้วยใจและใจ ถึงเวลาหงายไพ่ "วิกฤตอุทยานแห่งชาติทางทะเล" รบกวนเพื่อนธรณ์ช่วยสนับสนุนช่วยแชร์ "จดหมายเปิดผนึก" โดยเฉพาะเพื่อนธรณ์ที่เป็นสื่อมวลชน ช่วยพิจารณาด้วยครับ

จดหมายเปิดผนึกถึงสังคม

กรณี "วิกฤตการจัดการการท่องเที่ยวทางทะเลในเขตอุทยานแห่งชาติ"

เรียนคนที่รักทะเลทุกท่าน
ผม - ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ - ในนามของคนที่ทำงานเกี่ยวกับทะเลคนหนึ่ง ใคร่ขอทำจดหมายฉบับนี้ เพื่อบอกเล่าถึงเหตุการณ์และข้อเสนอแนะ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการการท่องเที่ยวทางทะเลเขตอุทยานแห่งชาติในปัจจุบัน
ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมได้รับแจ้งจากเพื่อนๆ ผู้รักและเป็นห่วงใยทะเลมาโดยตลอด อย่างต่อเนื่องและเป็นจำนวนมาก เกี่ยวกับการจัดการด้านการท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล

หลายเรื่องเป็นประเด็นของสังคม จนกลายเป็นข่าวที่มีผู้สนใจเป็นจำนวนมาก เช่น กรณีเล่นปลานีโมที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา-อาดังราวี กรณีเรือเลี้ยงปลาทะเลที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี กรณีนักท่องเที่ยวต่างชาติ
จับสัตว์น้ำมากินและมาเล่นในอุทยานแห่งชาติอีกหลายต่อหลายแห่ง ฯลฯ

บางกรณีจะเป็นประเด็นที่ชัดเจนในอนาคตอันใกล้ เช่น กรณีการท่องเที่ยวที่เกาะตาชัย กรณีเรือประมงลักลอบจับปลาในอุทยานแห่งชาติทางทะเล ฯลฯ

ประเด็นเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่มีที่มาจากหลายกลุ่ม ทั้งนักท่องเที่ยวทั่วไป ผู้ประกอบการ กลุ่มช่างภาพใต้น้ำ ผู้เชี่ยวชาญด้านทะเล นักวิชาการรุ่นใหม่ องค์กรภาคเอกชน หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติบางท่าน ฯลฯ
ประเด็นที่มาจากหลากหลายกลุ่ม หลากหลายสาเหตุ หลากหลายสถานที่ หลากหลายเวลา และเป็นประเด็นที่เปิดกว้างสู่สังคมผ่านโซเชียลมีเดีย ถือเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสนใจและสมควรพิจารณาในรายละเอียด

ในฐานะสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และในฐานะข้าราชการที่ทำงานเกี่ยวข้องกับทะเล ผมถือเป็นหน้าที่ซึ่งต้องปฏิบัติ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ในฐานะประธานอนุกรรมการปฏิรูปทะเลไทย สภาปฏิรูปแห่งชาติ ผมได้จัดประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯ 12 ครั้ง เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูล ตลอดจนการลงพื้นที่ และ/หรือ ขอให้อนุกรรมาธิการฯและทีมงาน ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เช่น หมู่เกาะสิมิลัน เกาะตาชัย หมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะพีพี ฯลฯ

นอกจากนี้ ผมยังมีโอกาสเข้าพบท่านรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูลแนวทางการดำเนินงานในด้านต่างๆ รวมถึงการอนุรักษ์ทะเลไทย

ผมใคร่ขอสรุปการประมวลข้อมูลต่างๆ ดังนี้

1) สภาพทรัพยากรทางทะเล โดยเฉพาะแนวปะการัง ในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลฝั่งอันดามัน กำลังมีปัญหาอย่างเห็นได้ชัด ปะการังร้อยละ 25 หรือกว่านั้น อยู่ในสภาพเสื่อมโทรมอย่างมาก (ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง) และไม่ปรากฏว่ามีแผนการดำเนินใดๆ ที่จะฟื้นฟูหรือแก้ปัญหาเหล่านี้

2) ปัญหาของปะการังบางส่วนเกิดจากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว ในพ.ศ.2553 ซึ่งในขณะนั้น กระทรวงทรัพยากรฯ ได้ออกคำสั่งให้ปิดจุดดำน้ำบางแห่งเพื่อให้ปะการังฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน ปะการังบางพื้นที่ยังไม่ฟื้นตัว แต่กลับมีการใช้ประโยชน์ในการท่องเที่ยวอย่างกว้างขวาง เช่น อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ฯลฯ

3) การจัดการด้านการท่องเที่ยวที่ไม่เป็นไปตามแผนหรือยุทธศาสตร์ ทั้งที่การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์แรกคือเพื่อการอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรเพื่อเป็นสมบัติของชาติ อย่างไรก็ตาม พื้นที่ในอุทยานแห่งชาติทางทะเลหลายแห่ง ถูกนำไปใช้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวอย่างมาก จนเกิดผลกระทบจนเป็นหลายประเด็นที่ปรากฏต่อสาธารณะ ผมขอยกตัวอย่าง "เกาะตาชัย" อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน

เมื่อพิจารณาตามการศึกษาวิจัย ไม่เคยมีแผนแม่บทอุทยานแห่งชาติ งานวิจัย หรือใดๆ ที่ระบุว่า "เกาะตาชัยเหมาะสมต่อการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่"

ในทางกลับกัน ข้อมูลสรุปตรงกันว่า เกาะตาชัยเป็นพื้นที่ซึ่งสมควรสงวนรักษาให้เป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ ควรมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างเคร่งครัด

แต่ในสถานที่เช่นนี้ กลับมีการส่งเสริมให้มีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวเป็นจำนวนหลายร้อยถึงหลักพันคนต่อวัน โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

4) การจัดการทรัพยากรทางทะเลและการท่องเที่ยวทางทะเลในเขตอุทยานแห่งชาติ ขาดผู้ที่มีความรู้ความชำนาญด้านทะเลอย่างแท้จริง โดยจะเห็นว่า บุคลากรเกือบทั้งหมดไม่ได้มีการศึกษาหรือความเชี่ยวชาญในด้านทะเล แต่มีความเชี่ยวชาญในด้านอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง

เป็นที่ทราบกันมานาน และเป็นมาตรฐานสากลว่า การจัดการทรัพยากรทางทะเลเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน จำเป็นต้องใช้ผู้ที่มีพื้นฐานความรู้ความชำนาญด้านนี้
ประเทศไทยได้ผลิตบุคลากรในด้านที่เกี่ยวข้อง เช่น วิทยาศาสตร์ทางทะเล ติดต่อกันมาเป็นเวลาเกือบ 50 ปี จึงไม่มีปัญหาขาดแคลนบุคลากรในด้านนี้ แต่บุคลากรเหล่านี้กลับไม่ได้มีส่วนรับผิดชอบในการจัดการทรัพยากรทางทะเลที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย

5) ระบบการตรวจสอบดูแลทรัพยากรทางทะเลและการท่องเที่ยวไม่ชัดเจน ทำให้มีการจับกุมการกระทำผิดน้อย จนเกิดเป็นประเด็นต่างๆ ในสังคม และจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีแนวทางใดที่ชัดเจนในการปรับปรุงระบบดังกล่าว

6) ระบบการจ่ายค่าธรรมเนียมอุทยาน ตลอดจนการอนุญาตกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล ไม่ชัดเจนและโปร่งใส ทำให้เปิดช่องในการกระทำที่มิชอบ

7) มีการนำอุทยานแห่งชาติทางทะเล อันเป็นสมบัติของชาติ ไปใช้เพื่อหาประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ อันเป็นประเด็นที่เป็นที่สังคมให้ความสนใจมาตลอด
ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ และอื่นๆ อีกมาก เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด "วิกฤตการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเล"

ผมทราบดีถึงหน้าที่ความรับผิดชอบในแต่ละฝ่าย ในฐานะสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เราพยายามผลักดันแนวทางปฏิรูปเพื่อการแก้ไข เช่น การนำเสนออุทยานแห่งชาติทางทะเลในอันดามันเป็นมรดกโลก ตลอดจนแนวทางแก้ไขอื่นๆ ที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมตลอดเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้เกิดกระแสสังคมที่อาจต่อเนื่องไปจนทำให้เกิดปัญหาอย่างรุนแรงในการอนุรักษ์และการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของประเทศไทย จนอาจทำให้การปฏิรูปประเทศไทยในส่วนนี้เกิดความติดขัด

ผมจึงใคร่ขอเสนอแนะการ "จัดระเบียบอุทยานทางทะเล" ดังนี้

1) ใคร่ขอเสนอให้ผู้มีอำนาจในด้านการบริหาร ผลักดันให้โครงการ "นำเสนออันดามันเป็นเขตมรดกโลก" เกิดความชัดเจน ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อย และได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
โครงการปฏิรูปดังกล่าว จะมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในการยกระดับการดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเลให้ได้มาตรฐานโลก และทำให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านนี้กับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในประชาคมอาเซียน

2) ใคร่ขอเสนอให้มีการยกระดับประเด็นนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน มีการจัดสัมมนาในวงกว้าง เพื่อรวบรมความรู้ความชำนาญและประสบการณ์จากบุคลหลากหลาย เช่น สมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ภาคประชาชน ผู้สนใจ ฯลฯ เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา

3) ใคร่ขอเสนอให้อุทยานแห่งชาติทางทะเล กระทำตามแผนแม่บทตลอดจนการวิจัยต่างๆ ด้วยการอนุรักษ์พื้นที่ซึ่งสมควรอนุรักษ์ ลดหรือหยุดการท่องเที่ยวที่ไม่เป็นไปตามแผนอย่างเร่งด่วน เลิกประชาสัมพันธ์การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ซึ่งสมควรสงวนรักษาให้เป็นมรดกสำหรับคนรุ่นต่อไป
รายละเอียดต่างๆ ของพื้นที่เหล่านั้น อยู่ในแผนแม่บทของอุทยานแห่งชาติ และแผนอื่นๆ ตลอดจนงานวิจัยที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น แผนจัดการระบบนิเวศแนวปะการัง (สผ.) แผนการฟื้นฟูปะการังที่เสื่อมโทรมเนื่องจากกรณีปะการังฟอกขาว (ทช.)

4) ใคร่ขอเสนอให้มีการปรับปรุงระบบตรวจสอบและควบคุมการกระทำผิดในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล เช่น รายงานการตรวจการและจับกุม จัดทำศูนย์รับแจ้งเหตุ เปิดเผยข้อมูลเพื่อความโปร่งใส พัฒนาระบบอนุญาตและการเก็บค่าธรรมเนียมในการประกอบกิจกรรมในอุทยานแห่งชาติ ฯลฯ เพื่อให้เป็นอย่างโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ชุมชมท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดูแล

5) ใคร่ขอเสนอให้ปรับปรุงการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติทางทะเล โดยให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถด้านการจัดการอุทยานแห่งชาติทะเลเข้าไปมีบทบาทโดยตรง และเร่งฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง

6) ใคร่ขอเสนอให้มีการตรวจสอบกิจกรรมการท่องเที่ยวและการบริการในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล เพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน และเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและท้องถิ่น
ในนามของคนที่ติดตามความเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรทางทะเลมาตลอด ผมขอเน้นย้ำว่าสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน สามารถเรียกว่า "วิกฤตการท่องเที่ยวทางทะเลในเขตอุทยาน" อย่างแท้จริง
และจะเป็นวิกฤตที่มิอาจเยียวยาได้ หากไม่มีการจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดอย่างฉับไวและเฉียบขาด
ผมจึงใคร่ขอนำเสนอจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้แก่สังคมไทย เพื่อช่วยกันพิจารณา

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

หมายเหตุ - พร้อมกันนี้ ผมได้แนบภาพความพินาศย่อยยับของแนวปะการังที่หมู่เกาะตาชัยและหมู่เกาะสิมิลัน ที่เพื่อนๆ กรุณาถ่ายภาพไว้ เพื่อเป็นหลักฐานประกอบจดหมายฉบับนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook