“โรฮีนจา” เผ่าพันธุ์ต้องคำสาปและระเบิดเวลาของอาเซียน

“โรฮีนจา” เผ่าพันธุ์ต้องคำสาปและระเบิดเวลาของอาเซียน

“โรฮีนจา” เผ่าพันธุ์ต้องคำสาปและระเบิดเวลาของอาเซียน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภาพของชาวโรฮีนจาหลายร้อยชีวิตที่เบียดกันอยู่ในเรือประมงเคว้งคว้างกลางทะเล ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในช่วงนี้ มันเป็นภาพที่ชวนให้สลด บนเรือลำนั้นมีทั้งเด็กและผู้หญิงรูปร่างผอมแห้ง อยู่ในสภาพอดโซ

สิ่งที่เราเห็น แม้จะชวนให้หดหู่ แต่ก็ต้องตระหนักว่ามันเป็นแค่ปลายด้านบนของภูเขาน้ำแข็ง ลึกลงไปคือปัญหาการเมืองภายในประเทศของเมียนมาร์ที่เกิดขึ้นมายาวนาน

ถึงแม้ว่าไทยจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับต้นตอของปัญหา แต่ด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรมและการก้าวสู่สังคมอาเซียน ทำให้ต้องเข้าไปมีส่วนรับผิดชอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างน้อยที่สุด ก็ไม่ได้ปล่อยให้พวกเขาอดตายกลางทะเล

เรือลำนั้นอาจพาชาวโรฮีนจาไปถึงน่านน้ำของประเทศใดประเทศหนึ่งได้ แต่อนาคตของคนเหล่านี้ก็ยังคงอึมครึม ด้วยว่าไม่มีประเทศไหนให้การต้อนรับ ปัญหานี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ?

ทีมข่าว Sanook! มีโอกาสได้สอบถามเรื่องนี้จาก Kyi Thar ชาวเมียนมาร์ที่อาศัยอยู่ในไทยมานานกว่า 5 ปี เขาเป็นคนหนึ่งที่คลุกคลีกับปัญหาโรฮีนจา ทั้งในฐานะเพื่อนร่วมชาติและในฐานะคนทำงานด้านผู้อพยพ

Kyi Thar บอกว่า ในฐานะที่ทำงานด้านนี้ เขาเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนล้วนเท่าเทียม โรฮีนจาควรได้รับสิทธิที่จะอาศัยอยู่ในประเทศเมียนมาร์ เพราะพวกเขาคือประชากรของเมียนมาร์ ถึงแม้ว่ารัฐบาลทหารและชาวเมียนมาร์อีกหลายๆ คนจะไม่ได้คิดแบบนั้น

"พวกเขาอยู่ในรัฐยะไข่ ซึ่งมีชาวพื้นเมืองของยะไข่อยู่ด้วย มันเป็นพื้นที่ห่างไกลมาก พวกเขาก็เลยมีวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง ชาวยะไข่แท้ๆ จะนับถือพุทธ ส่วนชาวโรฮีนจาเป็นอิสลาม ผมคิดว่ามันเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการแบ่งแยก เพราะคนพม่าส่วนมากก็จะเชื่อว่าโรฮีนจาควรจะเป็นประชากรของบังกลาเทศมากกว่า เพราะมีอาณาเขตติดกัน และนับถือศาสนาเดียวกัน"

เขายังพูดต่อไปอีกว่า ชาวยะไข่จะมองชาวโรฮีนจาด้วยสายตาหวาดระแวง เพราะเชื่อว่ามุสลิมโรฮีนจาจะเข้ามาเปลี่ยนชาวพุทธในท้องถิ่นให้หันไปนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งมันจะทำให้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิมเปลี่ยนไปด้วย

ชาวยะไข่หวงแหนวัฒนธรรมดั้งเดิมของตัวเองมากกว่าอะไรทั้งหมด ภายในพื้นที่รัฐยะไข่ก็เคยมีการปะทะระหว่างทั้ง 2 ชาติพันธุ์มาแล้ว เป็นไปได้ยากที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบ พูดง่ายๆ คือมันเป็นเรื่องของความไว้วางใจที่มีต่อผู้คนต่างศาสนา

เมื่อขยับมามองในภาพที่กว้างขึ้น Kyi Thar บอกว่า ความไว้วางใจที่พูดถึงเมื่อสักครู่ เป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาลทหารพม่า "เมื่อรัฐบาลไม่สนับสนุนโรฮีนจา ดังนั้น พวกเขาก็ไม่สนับสนุนให้ประชาชนยอมรับเช่นกัน"

ในทางกฏหมาย โรฮีนจาไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของเมียนมาร์ พวกเขาไม่มีเอกสารยืนยันตัวตน เป็นคนไร้สัญชาติ และถ้าจะพูดอย่างเป็นกลางแล้ว คงต้องบอกว่ามันคืออีกหนึ่งปัญหาที่ประเทศผู้ล่าอาณานิคมทิ้งเอาไว้ในภูมิภาคของเรา

ผลจากการตกเป็นประเทศอาณานิคมของอังกฤษ เมียนมาร์ถูกปกครองรวมกับประเทศข้างเคียงอย่างอินเดียและบังกลาเทศ รวมทั้งชนกลุ่มน้อยอื่นๆ

ปัญหาทั้งหมดเริ่มขึ้นตรงนี้ ทันทีที่เมียนมาร์ได้รับเอกราชคืนจากอังกฤษ พวกเขาก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องรับเอาชนกลุ่มน้อยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตัวเองตามที่อังกฤษจัดแจงไว้ให้

จะเห็นได้ว่านับตั้งแต่ได้รับเอกราชคืนมาจนถึงตอนนี้ ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลเมียนมาร์กับชนกลุ่มน้อยภายในประเทศไม่เคยสงบลง ไม่เฉพาะชาวโรฮีนจาเท่านั้น แต่ชนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้นับถือพุทธจะถูกคุกคามอย่างหนัก

อย่างไรก็ตาม มันไม่ใช่สงครามศาสนา แต่มันคือการเมืองภายในของรัฐบาลพม่าที่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการแบ่งแยกผู้คน

ชาวโรฮีนจาเริ่มอพยพไปพึ่งพิงบังกลาเทศตั้งแต่ปี 2501 รายงานบางฉบับอธิบายว่า การที่บังกลาเทศรับอุปการะชาวโรฮีนจาอพยพ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเข้าสู่สภาวะถดถอย นำไปสู่ความบาดหมางระหว่างบังกลาเทศกับเมียนมาร์ในเวลาต่อมา

ถึงแม้บังกลาเทศจะให้ความช่วยเหลือในช่วงแรกๆ เพราะนับถือศาสนาเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วชาวบังกลาเทศก็ยังเชื่ออยู่เสมอว่ามุสลิมโรฮีนจาไม่ได้มีสัญชาติเดียวกันกับพวกเขา และชาวโรฮีนจาเองก็เชื่อว่าตนควรจะมีสัญชาติเมียนมาร์ นั่นเป็นคำบอกเล่าจาก Kyi Thar

ทำไมการแบกรับชะตากรรมของผู้คนเหล่านี้จึงนำไปสู่หายนะทางเศรษฐกิจได้?

เพราะชาวโรฮีนจาส่วนใหญ่เป็นประชากรด้อยคุณภาพ ไม่สามารถประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ด้วยตัวเอง และมักจะรอความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา

เท่ากับว่าประเทศที่รับผิดชอบชีวิตคนเหล่านี้จะต้องรับภาระในการดูแลประชากรที่ไม่สามารถจ่ายภาษีได้ไปจนตลอดชีวิตของพวกเขา และไม่ใช่แค่คนเดียว แต่มีจำนวนนับแสนคน เมื่อช่วยคนกลุ่มแรก กลุ่มที่สอง สาม สี่ จะตามมา

เปรียบเทียบได้กับการอนุญาตให้คนแปลกหน้าเข้ามาอาศัยในบ้านของเรา โดยที่เจ้าของบ้านจะต้องเป็นฝ่ายเลี้ยงดูปูเสื่อไปตลอดชีวิต อีกทั้งคนแปลกหน้าเหล่านี้ก็ยังขยายเผ่าพันธุ์อย่างไม่หยุดหย่อน เพิ่มภาระให้เจ้าบ้านแบบไม่รู้จบ

นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับบังกลาเทศมาแล้ว และสาเหตุที่ชาวโรฮีนจาส่วนมากเป็นประชากรด้อยคุณภาพ ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการที่พวกเขาถูกรัฐบาลเมียนมาร์จำกัดสิทธิไม่ให้เข้าถึงการศึกษา

ถ้ามองด้วยสายตานักสิทธิมนุษยชน อาจจะฟังดูเลวร้ายที่ปฏิเสธชาวโรฮีนจา แต่ถ้ามองด้วยมิติทางเศรษฐกิจ คงต้องบอกว่าเราช่วยได้แค่ระยะสั้นๆ อย่างการให้น้ำและอาหารเพื่อบรรเทาความหิวโหยเท่านั้น เฉพาะปัญหาปากท้องของคนในบ้านเราก็ยังได้รับการดูแลไม่ทั่วถึง

สำหรับประเทศมาเลเซีย แม้จะนับถือศาสนาเดียวกัน แต่พวกเขาก็ไม่ต้อนรับโรฮีนจา เพราะเคยปวดหัวกับปัญหาที่ชาวโรฮีนจามาสร้างไว้ให้เมื่อหลายปีก่อน อาทิ แก๊งขอทานชาวโรฮีนจาที่ก่อความวุ่นวายไปทั่ว ทั้งยังมีส่วนพัวพันกับการลักพาตัวเด็กเพื่อนำไปเป็นขอทาน รวมไปถึงสร้างความเสียหายต่อระบบผังเมือง เพราะนึกจะลงหลักปักฐานตรงไหนก็ทำตามใจชอบ ผลคือมีกระต๊อบของชาวโรฮีนจาผุดขึ้นไปทั่วมาเลเซีย

ประสบการณ์ที่ชาวมาเลย์มีต่อโรฮีนจา ไม่ต่างไปจากคนไทยบางส่วนที่มีโอกาสได้สัมผัสกับชาวโรฮีนจามาแล้ว เมื่อถามว่า "ปัญหานี้เป็นความรับผิดชอบของใคร" Kyi Thar ตอบว่า โดยส่วนตัวแล้ว เขาก็อยากให้ไทยเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหานี้ เพราะอย่างน้อยๆ ในแง่ของสิทธิมนุษยชน ไทยก็ยังเหนือกว่าเมียนมาร์

"แต่จะหวังให้ประเทศใดประเทศหนึ่งรับผิดชอบทั้งหมดคงไม่ได้ เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่ง ปัญหาชาวโรฮีนจาอพยพจะกลายเป็นชนวนความขัดแย้งของประเทศในกลุ่มอาเซียน" เขาตอบ

ต้องยอมรับว่าการคาดการณ์ของเขามีน้ำหนักพอสมควร ไม่ต้องรอให้ถึง 5 หรือ 10 ปีข้างหน้า เฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ทั้งไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ต่างก็หัวปั่นไปตามๆ กัน

เพราะด้านหนึ่งคือแรงกดดันจากองค์กรระหว่างประเทศที่ออกมาขอร้องแกมบังคับว่าอย่าผลักไสชาวโรฮีนจา (แต่ในขณะเดียวกัน องค์กรเหล่านี้ก็ไม่ได้ยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือแต่อย่างใด) กับอีกด้านหนึ่งที่เห็นชัดเจนว่ารัฐบาลเมียนมาร์จงใจนิ่งเฉยต่อปัญหานี้

ณ เวลานี้ ปัญหาที่เกี่ยวกับชาวโรฮีนจา แบ่งออกเป็น 3 ประเด็นใหญ่ๆ คือ ผู้อพยพ ผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และเหยื่อของการค้ามนุษย์ ที่คนไทยเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องแบบเต็มๆ อีกทั้งยังทำกันเป็นขบวนการ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งหมดคือปัญหาที่มองไม่เห็นทางออก เพราะไม่มีใครออกมารับหน้าเป็นเจ้าภาพใหญ่ในการแก้ไข และถ้ายังเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ มันจะต้องชักนำเอาปัญหาอื่นๆ ตามมาอย่างแน่นอน

เมื่อถึงเวลานั้น ความเจ็บปวดของโรฮีนจา จะสร้างความเจ็บปวดให้กับภูมิภาคอาเซียนเช่นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook