กษิตยกประเด็นโรฮิงญาถกทั้งเวทีอาเซียน -เออาร์เอฟ-บิมสเทค ย้อนใช้แผนอดีต 10ปีแก้ต่างด้าว

กษิตยกประเด็นโรฮิงญาถกทั้งเวทีอาเซียน -เออาร์เอฟ-บิมสเทค ย้อนใช้แผนอดีต 10ปีแก้ต่างด้าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
รัฐมนตรีบัวแก้วพบผู้แทนข้าหลวงใหญ่เอ็นเอชซีอาร์ หารือแก้ปัญหาชาวโรฮิงญา เกี่ยวพันค้ามนุษย์ เสนอจัดการแก้ปัญหาที่ต้นตอ ให้พม่าพูดคุยกรอบดูแลกับนานาชาติ ส่วนไทยเสนอใช้แผนเมื่อ 10 ปีเคยแก้ปัญหาชาวเวียดนามอพยพมาปรับยุทธศาสตร์ใช้ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 29 มกราคม ที่กระทรวงการต่างประเทศ ภายหลังหารือกับนายเรมอน ฮอลด์ ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติระดับภูมิภาคประจำประเทศไทย และผู้ประสานงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นานกว่า 1 ชั่วโมงว่า ได้มีหารือถึงการขอความร่วมมือแก้ไขปัญหากรณีชาวโรฮิงญาใน 3 ระดับ คือ การดำเนินการร่วมกันระหว่างไทยกับยูเอ็นเอชซีอาร์ การดำเนินการของไทยกับประเทศในภูมิภาค ทั้งประเทศต้นทางระหว่างทางและปลายทางของปัญหาอีกส่วนหนึ่งเป็นความร่วมมือของประเทศในภูมิภาคกับยูเอ็นเอชซีอาร์กับประเทศที่ให้ความช่วยเหลือ

นายกษิต กล่าวว่า ยูเอ็นเอชซีอาร์ต้องการทราบข้อมูลตามที่เป็นข่าวว่าหน่วยงานความมั่นคงของไทยได้ใช้หลักเกณฑ์ตามหลักมนุษยธรรมของกฎหมายทางทะเล ทั้งการผลักดัน ต้อนรับและดูแลผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายอย่างไร รวมถึงยูเอ็นเอชซีอาร์ต้องการเข้าพบชาวโรฮิงญาที่อยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานไทย ซึ่งตนได้ตอบรับตามหลักการแล้ว ส่วนจะพบกับชาวโรฮิงญาอย่างไรจะมีการหารือในที่ประชุมในกรอบของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงของประเทศ (กอร.มน.) ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ ในบ่ายวันที่ 29 มกราคม เพื่อยูเอ็นเอชซีอาร์จะได้ส่งผู้แทนไปเยี่ยมและพูดคุยชาวโรฮิงญาที่อยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานความมั่นคง

นายกษิต กล่าวว่า ตนยังได้สัสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา หารือกับยูเอ็นเพื่อให้มีการประสานในสองทางคือทั้งที่เมืองไทยและสวิสเซอร์แลนด์ เพื่อระดมงบประมาณช่วยเหลือชาวโรฮิงญาที่อยู่ในพม่า และติดค้างในบังกลาเทศ มาเลเซีย อินโดนีเซียและไทย ตนไม่เห็นว่ามีปัญหาหรือจะร่วมมือกันไม่ได้ เพราะไทยทำงานร่วมกับยูเอ็นเอชซีอาร์มานาน เพียงแต่ต้องพิจารณาถึงกฎหมายของไทย และกฎหมายระหว่างประเทศด้วย ขอย้ำว่าต้องแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุโดยการดูแลคุณภาพชีวิตและสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานของชาวโรฮิงญาก่อน

นายกษิตกล่าวอีกว่า เตรียมที่จะหยิบยกประเด็นนี้หารือในที่ประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนที่จะมีขึ้นในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (เออาร์เอฟ) ในเดือนกรกฎาคมที่ไทยเป็นเจ้าภาพ รวมถึงในที่ประชุมความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMST-EC) และสมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย (IOR-ARC) เนื่องจากพบว่ามีขบวนการค้ามนุษย์ขนย้ายชาวโรฮิงญาไปทำงานในไทย มาเลเซียและอินโดนีเซีย ทั้งนี้ ไทยอาจปรับใช้แผนที่เคยมีในการแก้ไขปัญหาชาวเวียดนามอพยพเมื่อ 10 ปีก่อนมาปรับใช้กรณีโรฮิงยาด้วย

เมื่อถามว่าหากพม่าไม่ยอมหารือเรื่องชาวโรฮิงญาจะทำอย่างไร นายกษิตกล่าวว่า จะมีการพูดคุยกับรัฐบาลพม่าในกรอบต่างๆ อย่างไรก็ดีทราบว่าทางพม่าก็มีการหารือกับยูเอ็นเอชซีอาร์อย่างเงียบๆ จึงไม่มีเหตุที่ต้องไปประณามหรือพูดจาว่าพม่าในเชิงลบ

สำนักข่าวอัล จาซีร่า รายงานอ้างการเปิดสัมภาษณ์ผู้อพยพชาวโรฮิงญาในอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 29 ม.ค.ระบุว่า ทางการอินโดนีเซียกำลังพิจารณาว่าจะส่งตัวกลุ่มโรฮิงญา 193 คน กลับไปยังพม่าหรือไม่ ขณะที่นายนูร์ โมฮัมหมัด ชาวโรฮิงญารายหนึ่งซึ่งได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลกล่าวด้วยน้ำเสียงปนน้ำตาว่า เขาจะขอทางการอินโดนีเซียฆ่าพวกเขา ดีกว่าถูกส่งตัวกลับพม่า เพราะอย่างน้อยก็ถือว่าตายด้วยน้ำมือคนมุสลิมด้วยกัน

นอกจากนี้ นายนูร์เปิดเผยว่า กลุ่มถูกกองทัพเรือพม่าขวางการหลบหนีและถูกโบยเฆี่ยนก่อนจะถูกปล่อยตัวกลับไป และว่าเมื่อเขาเดินทางมายังเมืองไทย ก็ถูกทรมานและควบคุมตัว

ขณะเดียวกัน รอยเตอร์สรายงานอ้างชาวโรฮิงญารายหนึ่งบนเตียงคนไข้ในโรงพยาบาล ประเทศอินโดนีเซียว่า เขาและชาวโรฮิงญา580 คน ได้ขึ้นเรือ 4 ลำ ออกจากพม่า และสมาชิกบางคนถูกเฆี่ยนตีภายหลังอพยพมาขึ้นฝั่งไทย ก่อนที่กองทัพเรือไทยจะนำพวกเขาขึ้นเรือล่องทะเลกลับไปตามเดิม

รายงานระบุว่า ปัจจุบัน มีชาวโรฮิงญา 8 แสนคนอาศัยอยู่ในพม่า และ 28,000 คนอาศัยอยู่ในค่ายผู้อพยพของสำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยสหประชาติในประเทศบังกลาเทศ ขณะที่รายงานของนิรโทษกรรมสากลเปิดเผยว่า ชาวโรฮิงญาถูกปฎิเสธสถานภาพพลเมืองในพม่า และบางครั้งยังถูกบังคับให้ทำงานให้กองทัพ และเจอยึดที่ดินด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook